มท.1 สั่งผู้ว่าฯ ทั่วประเทศ ติดตาม 'สภาพอากาศ' เตรียมรับมือ 'ฝน' ก.ค.-ก.ย.นี้

มท.1 สั่งผู้ว่าฯ ทั่วประเทศ ติดตาม 'สภาพอากาศ' เตรียมรับมือ 'ฝน' ก.ค.-ก.ย.นี้

มท.1 สั่งการผู้ว่าฯ ทุกจังหวัด ติดตามสถานการณ์ "สภาพอากาศ" ช่วงปลายเดือนกรกฎาคม - กันยายน 2564 และแจ้งเตือนประชาชนผ่านทุกช่องทาง พร้อมให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างรวดเร็วและทันท่วงที

วันนี้ (29 ก.ค.64) พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ เปิดเผยว่า จากการติดตามการคาดหมาย "สภาพอากาศ" จากกรมอุตุนิยมวิทยาพบว่า ช่วงปลายเดือนกรกฎาคม - กันยายน 2564 บริเวณประเทศไทยจะได้รับอิทธิพลจากมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมประเทศไทย และอาจมีพายุหมุนเขตร้อนเคลื่อนเข้ามาใกล้ พาดผ่านประเทศไทยตอนบน ส่งผลให้บริเวณประเทศไทยจะมีฝนตกหนาแน่น กับมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ อาจทำให้เกิดสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำล้นตลิ่ง และดินถล่ม

พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา กล่าวว่า เพื่อให้การแจ้งเตือนภัยล่วงหน้าเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและทันต่อสถานการณ์ จึงได้สั่งการไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด ดำเนินการให้คณะทำงานติดตามสถานการณ์ของจังหวัด เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์ "สภาพอากาศ" และปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ในพื้นที่ เช่น ปริมาณฝนสะสม ระดับน้ำในแม่น้ำ ลำคลอง การระบายน้ำของอ่างเก็บน้ำ และสถานการณ์น้ำของจังหวัดต้นน้ำ ฯลฯ รวมถึงติดตามข้อมูลข่าวสารการพยากรณ์อากาศ การแจ้งเตือนภัยจากหน่วยงานต่าง ๆ อย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งวิเคราะห์ ประเมินสถานการณ์ และผลกระทบจากภัยพิบัติที่อาจเกิดขึ้น

โดยหากประเมินสถานการณ์แล้วมีความเสี่ยงที่จะเกิดสถานการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินถล่ม ให้แจ้งเตือนภัยไปยังกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแต่ละระดับ ดำเนินการปฏิบัติตามแผนเผชิญเหตุ พร้อมทั้งสร้างการรับรู้ให้กับประชาชน โดยติดตามสถานการณ์และการแจ้งเตือนภัยจากหน่วยงานราชการอย่างต่อเนื่อง และแจ้งเตือนประชาชน อาสาสมัครเครือข่ายแจ้งเตือนภัย ผู้นำชุมชน ผู้ปกครองท้องที่ ในทุกช่องทาง ทั้งรูปแบบที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ เช่น หอเตือนภัย หอกระจายข่าวประจำหมู่บ้าน สื่อสังคมออนไลน์ วิทยุชุมชน เสียงตามสาย รถประชาสัมพันธ์ เป็นต้น

เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องรวดเร็ว และให้ผู้อำนวยการจังหวัด/อำเภอ/ท้องถิ่น พิจารณาใช้อุปกรณ์เตือนภัยที่มีในพื้นที่ เช่น หอเตือนภัย หอกระจายข่าว หอกระจายข่าวประจำหมู่บ้าน เสียงตามสาย โดยหากจังหวัดร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่วิเคราะห์ประเมินสถานการณ์แล้ว คาดว่าจะเกิดภัยพิบัติ ให้ใช้อุปกรณ์เตือนภัยในพื้นที่เพื่อแจ้งเตือนประชาชน 

นอกจากนี้ ให้ผู้อำนวยการจังหวัด/อำเภอ/ท้องถิ่น เตรียมความพร้อมบุคลากร ทรัพยากร เครื่องจักรกลสาธารณภัย เพื่อให้ความช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบภัยเป็นไปอย่างรวดเร็วและทันท่วงที