มหกรรม 'แย่งวัคซีน' วิกฤติที่เกินเยียวยา

มหกรรม 'แย่งวัคซีน' วิกฤติที่เกินเยียวยา

สิ่งที่ไม่ควรจะเกิด แต่เกิดขึ้นแล้วในประเทศไทยช่วงวิกฤติโควิดแบบนี้ คือ มหกรรมแย่งวัคซีนโควิด ซึ่งมีประชาชนจำนวนมากรอคิวฉีดวัคซีนอย่างแน่นขนัด เหตุการณ์ลักษณะนี้ไม่ใช่เพิ่งมีครั้งแรก เป็นวิกฤติที่อาจเรียกได้ว่า เกินเยียวยาแล้ว

ภาพผู้คนมหาศาลยืนต่อคิวฉีดวัคซีนโควิด-19 ที่สถานีกลางบางซื่อ การแย่งชิงจองฉีดวัคซีนผ่านค่ายมือถือที่เต็มภายในเวลาไม่นาน รวมไปถึงยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 เหยียบหลักหมื่นมาเป็นสิบ ๆ วัน ผู้เสียชีวิตมากมายนอนข้างถนน ฯลฯ คนป่วยเข้าขั้นวิกฤตินอนรออยู่ในทุกพื้นที่แบบไร้เสียงตอบรับของความช่วยเหลือ สะท้อนถึงความ “ล้มเหลวขั้นสุด” ของการบริหารจัดการวิกฤติโควิด-19 ของรัฐบาลนี้

การบริหารจัดการวิกฤติ รัฐและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องไม่มีการสอดประสานความร่วมมือ เหมือนอย่างถ้อยแถลงหน้าสื่อแต่อย่างใด เบื้องหลังการบริหารจัดการมีแต่ความขัดแย้งไปกันคนละทิศทาง ท่ามกลางประชาชนที่กำลังรอความหวัง ต้องการฉีดวัคซีน ที่ภาครัฐพยายามอ้อนวอนขอให้ฉีดเพื่อป้องกันการเสียชีวิต

แต่เมื่อถึงวันที่ประชาชนต้องการฉีด รัฐกลับไม่สามารถอำนวยความสะดวก หรือจัดการขั้นตอนกระบวนการฉีดได้อย่างราบรื่น อยากให้ลงทะเบียนประชาชนก็ทำ ให้ยื่นต่อคิวกันเป็นวัน ๆ ทุกคนก็ยอม

น่าสงสารคนไทยที่ต้องมาแย่งชิงเพื่อฉีดวัคซีน ทั้งที่เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนต้องได้รับอย่างเท่าเทียม ฐานข้อมูลประเทศ บิ๊กดาต้าประเทศมี แต่รัฐและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องไม่ยอมใช้ประโยชน์ ไม่ยอมปลดล็อกสิ่งที่ควรต้องทำได้ในภาวะวิกฤติแบบนี้ แค่ถือบัตรประชาชนใบเดียวควรจะเดินเข้าไปฉีดวัคซีนได้ ไม่จำเป็นต้องลงทะเบียนทำอะไรให้ยุ่งยาก

ทำไมไม่ทำเหมือนตอนไปเลือกตั้ง ขั้นตอนไม่ได้ยากขนาดนี้ แค่ถือบัตรประชาชนเดินเข้าคูหาตามเขตที่อยู่อาศัย ก็ทำได้ทันที ฐานข้อมูลมากมายตามสำมะโนประชากร สำนักงานสถิติแห่งชาติก็มี

วิกฤติการจัดหาวัคซีนของรัฐ เป็นประเด็นมาอย่างยาวนาน ตั้งแต่การจัดหาวัคซีน การเลือกวัคซีน และอื่น ๆ อีกหลายประเด็นที่กลายเป็นปมปัญหาลากยาวจนสถานการณ์เข้าสู่วิกฤติแบบเกินเยียวยา

ข้อเสนอแนะภาคเอกชน หรือทุกส่วนที่เกี่ยวข้อง ยื่นข้อเสนอทางออกให้มากมายแต่รัฐเหมือนทำหูทวนลม การเรียกภาคเอกชน บิ๊กคอร์ปขนาดใหญ่เข้าไปร่วมหารือหลายต่อหลายครั้ง อะไรคือผลลัพธ์ของการหารือ ทั้งที่ข้อเสนอแนะของเอกชนทุกรายล้วนน่าสนใจ เป็นการเสนอทางออกให้กับประเทศ ผ่อนวิกฤติหนักให้เป็นเบา แต่เราไม่เห็นผลการหารือเลยไม่เห็นเลยจริง ๆ

เงื่อนไขระบบราชการขั้นตอนการทำงาน การคิดแบบรัฐ ไม่สามารถบริหารสถานการณ์วิกฤติครั้งนี้ได้ ถ้าภาครัฐยังดึงดัน จมอยู่กับระเบียบจัดซื้อจัดจ้างที่โบราณคร่ำครึ ไม่ตอบโจทย์ยุคสมัยที่เปลี่ยนไป ไม่ตอบโจทย์สถานการณ์ที่วิกฤติเหนือวิกฤติ ประเทศไทยคงไต่อันดับไปสู่ประเทศที่มีผู้ติดเชื้อมากที่สุดในโลกเร็ว ๆ นี้ และแน่นอนว่าภาพรวมเศรษฐกิจจะยิ่งทรุด กำลังซื้อไม่มี คนตกงาน หนี้ท่วมประเทศ ภาพลักษณ์การลงทุนเหลือศูนย์ กลายเป็นประเทศที่ถูกกลืนหายไปกับมหันตภัยโควิด  

รัฐต้องไม่ปล่อยให้สถานการณ์เลยเถิด เพิกเฉยต่อข้อเสนอแนะภาคเอกชน ภาคประชาชน ในเมื่อระดับผู้นำรัฐบาล รวมถึงผู้นำในส่วนการแก้ปัญหายังขัดแย้ง ยึดผลประโยชน์ส่วนตัว และไม่ลงมาดูสถานการณ์หน้างาน รับแต่รายงานจากผู้ใต้บังคับบัญชาแล้ว “ความจริง” จะถูกแก้ไขได้อย่างไร

วันนี้มันเกินกว่าคำว่าวิกฤติไปแล้ว รัฐต้องไม่ปล่อยให้สถานการณ์เป็นอยู่แบบนี้แม้เพียงวันเดียว เพราะมันเหมือนเป็นการลอยแพประชาชนซึ่งเป็นเจ้าของประเทศตัวจริง