‘เงินบาท’ วันนี้เปิด‘แข็งค่า’ ที่32.82บาทต่อดอลลาร์

‘เงินบาท’ วันนี้เปิด‘แข็งค่า’ ที่32.82บาทต่อดอลลาร์

เงินบาทพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นจากแนวโน้มดอลลาร์อ่อน แต่โควิด-19ระบาดแรงในไทยยังกดดันต่างชาติทยอยขายสินทรัพย์ไทยต่อเนื่อง ทำใหืเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าต่อได้ ยังมองกรอบเงินบาทวันนี้32.75- 32.90บาทต่อดอลลาร์

นายพูน พานิชพิบูลย์  นักวิเคราะห์ประจำห้องค้าเงินธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  32.82 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าขึ้น จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  32.97 บาทต่อดอลลาร์ สิ้นวันที่ 27 ..ที่ผ่านมา มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 32.75-32.90 บาทต่อดอลลาร์

สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท แม้ว่าจะกลับมาแข็งค่าขึ้น จากการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์เป็นสำคัญ แต่เรายังมองไม่เห็นโอกาสที่เงินบาทจะพลิกกลับเทรนด์มาแข็งค่าได้ในเร็วนี้ เนื่องจากปัญหาการระบาดของ โควิด-19 ในไทยยังมีแนวโน้มทวีความรุนแรงมากขึ้น และเรามองว่า จุดเลวร้ายสุดของการระบาดยังมาไม่ถึง ทำให้ เราคงประเมินว่า นักลงทุนต่างชาติก็ยังสามารถทยอยขายสินทรัพย์ไทย โดยเฉพาะหุ้นไทย ซึ่งแรงเทขายสินทรัพย์ไทยจากนักลงทุนต่างชาติยังคงกดดันให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงได้

ทั้งนี้ ในระยะสั้น หากตลาดคลายกังวล ปัญหาการระบาด โควิด-19 ทั่วโลก และกล้าเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น หนุนโดยรายงานผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนที่ออกมาแข็งแกร่งและดีกว่าคาด ก็อาจทำให้ เงินดอลลาร์กลับมาอ่อนค่าลง หลังผู้เล่นในตลาดไม่จำเป็นต้องถือสินทรัพย์ปลอดภัย (Safe Haven Asset) เพื่อหลบความผันผวนในตลาด ซึ่งการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ ก็อาจทำให้ เงินบาทไม่อ่อนค่าหนัก ทะลุ 33 บาทต่อดอลลาร์ได้เร็ว

แม้ว่า ตลาดหุ้นสหรัฐฯ จะผันผวนและปรับตัวลดลงก่อนตลาดรับรู้ผลการประชุมเฟด แต่ตลาดก็สามารถรีบาวด์ขึ้นมาได้ หลังเฟดยังคงยืนกรานใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายต่อไป ทั้งคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 0.00-0.25% พร้อมเดินหน้าอัดฉีดสภาพคล่องผ่านการซื้อสินทรัพย์ในอัตรา 120 พันล้านดอลลาร์ต่อเดือน โดยเฟดระบุว่า แม้เศรษฐกิจจะฟื้นตัวดีขึ้น แต่เฟดยังต้องการเวลาอีกระยะหนึ่งในการประเมินความคืบหน้าของการฟื้นตัวเศรษฐกิจ ก่อนที่จะปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินต่อไป โดยเฉพาะ การปรับลดวงเงินการซื้อสินทรัพย์ หรือ คิวอี

แนวโน้มเฟดยังไม่เร่งรีบปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินได้ ส่งผลให้ บอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ย่อตัวลงสู่ใกล้ระดับ 1.24% หนุนให้หุ้นกลุ่มเทคฯ ปรับตัวขึ้น และช่วยให้ ดัชนี Nasdaq ปิดบวกราว +0.70% นอกจากนี้ หุ้นกลุ่มเทคฯ ในสหรัฐฯยังได้แรงหนุนจากรายงานผลประกอบการของบริษัทเทคฯ อาทิ Alphabet (Google) ที่ออกมาแข็งแกร่งและดีกว่าคาดขณะที่ ดัชนี S&P500 พยายามรีบาวด์ขึ้น หลังจากปรับตัวลดลงก่อนการประชุม และปิดตลาด -0.02%

ส่วนในฝั่งยุโรป ดัชนี STOXX50 ของยุโรป ปรับตัวขึ้น +0.95% โดยได้รับแรงหนุนจากความหวังรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนเช่นกัน กอปรกับ ผู้เล่นในตลาดยังคงมีความหวังต่อการฟื้นตัวเศรษฐกิจ หลังยอดผู้เสียชีวิตและป่วยหนักจากการระบาดของ COVID-19 ล่าสุด ไม่ได้ปรับตัวขึ้นมาก ทำให้รัฐบาลยังไม่จำเป็นต้องประกาศใช้มาตรการ Lockdown ที่เข้มงวด

ทางด้านตลาดค่าเงิน แนวโน้มเฟดเดินหน้าใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายต่ออีกระยะหนึ่ง ได้กดดันให้เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก  ทำให้ล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ปรับตัวลดลงสู่ระดับ 92.32 จุด ขณะเดียวกัน การอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ก็หนุนให้สกุลเงินหลัก อาทิ เงินยูโร (EUR) แข็งค่าขึ้นสู่ระดับ 1.184 ดอลลาร์ต่อยูโร ส่วน เงินปอนด์ (GBP) สามารถปรับตัวขึ้น สู่ระดับ 1.390 ดอลลาร์ต่อปอนด์ ท่ามกลางความหวังการฟื้นตัวเศรษฐกิจ หลังรัฐบาลอังกฤษเดินหน้าผ่อนคลายมาตรการ Lockdown  อย่างไรก็ดี ความไม่แน่นอนของการระบาดของโควิด-19 ยังอาจทำให้ เงินดอลลาร์สามารถกลับมาแข็งค่าได้ทุกเมื่อ หากปัญหาการระบาดทั่วโลกเลวร้ายลง จนกดดันให้ตลาดกลับเข้าสู่สภาวะปิดรับความเสี่ยง

สำหรับวันนี้ ตลาดจะติดตามแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ผ่านรายงานอัตราการเติบโตเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 2 (GDP Growth Q2/2021) โดยตลาดประเมินว่า อานิสงส์ของการทยอยผ่อนคลาย Lockdown และการแจกจ่ายวัคซีนจนครอบคลุมประชากรเกิน 50% จะหนุนให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ในไตรมาสที่ 2 ขยายตัวกว่า 8.5% จากไตรมาสก่อนหน้า เร่งตัวขึ้นจากที่โตกว่า 6.4% ในไตรมาสแรก นอกเหนือจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจดังกล่าว ตลาดจะจับตารายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน โดยผลประกอบการที่แข็งแกร่งและดีกว่าคาดจะช่วยหนุนให้ ผู้เล่นในตลาดยังกล้าที่จะเปิดรับความเสี่ยงต่อ

ส่วนในฝั่งไทย ตลาดจะติดตามสถานการณ์การระบาดของ โควิด-19 ที่มีแนวโน้มเลวร้ายต่อเนื่อง ซึ่งความเลวร้ายของสถานการณ์การแพร่ระบาดอาจยากที่จะคาดเดา หลังยอดผู้ติดเชื้อจริงอาจสูงกว่ายอดที่มีการรายงาน เนื่องจากข้อจำกัดของการตรวจหาผู้ติดเชื้อและการสรุปยอดจากผลการตรวจ Rapid Test ซึ่งปัญหาการระบาดของ โควิด-19 จะยังคงส่งผลให้เกิดแรงเทขายสินทรัพย์ไทย กดดันให้ค่าเงินบาทมีทิศทางผันผวนและอ่อนค่าลงต่อได้