'รัฐบาล' ล้มเหลวแก้วิกฤติ กูรูชี้ 'ระบบราชการ' ไม่สนอง จับตา 3 เดือนเศรษฐกิจทรุด

'รัฐบาล' ล้มเหลวแก้วิกฤติ กูรูชี้ 'ระบบราชการ' ไม่สนอง จับตา 3 เดือนเศรษฐกิจทรุด

กูรู สับ! รัฐบาลบริหารโควิดล้มเหลว “ณรงค์ชัย” ชี้ขาดความเป็นหนึ่งเดียว เผย ศบค.ไม่เวิร์ค หวั่นลามภาคการเงิน ทำเศรษฐกิจต่ำสุดในประวัติศาสตร์ “ศุภวุฒิ” ชี้หาก 3-4 เดือนทำไม่ได้ กระทบภาคผลิตส่งออก-แบงก์ กดจีดีพีทรุด “วสันต์” แนะเร่งเปิดเสรีวัคซีน

เก็บตกวงสนทนา "คลับเฮาส์" จัดโดยฐานเศรษฐกิจและกรุงเทพธุรกิจ : CEO โซเซ Just Say SO” จัดเสวนา “CEO โซเซ The Legend..สร้างตำนานผ่านวิกฤติ” เมื่อวันที่ 22 ก.ค.2564 เพื่อฟังมุมมองและข้อเสนอในการแก้ไขปัญหาวิกฤติโควิด-19 ที่ระบาดหนักขณะนี้

นายณรงค์ชัย อัครเศรณี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า หากรัฐบาลไม่ปรับแนวทางบริหารจัดการวิกฤติโควิด-19 ให้ดีขึ้นได้ ปัญหาจะลามไปภาคการเงินและทำให้เศรษฐกิจเลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์เช่นเดียวกับเมื่อครั้งเกิดวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540

“ชัดเจนว่าวิกฤติปี 2540 มาจากปัญหาการเงิน ส่วนวิกฤติปี 2564 มาจากปัญหาโรคระบาด ซึ่งปัญหาโรคระบาดถ้าดูแลไม่ดีจะลามถึงปัญหาการเงิน ยิ่งแย่กว่าปัจจุบัน แต่ทั้ง 2 วิกฤตินี้ เกิดจากปัญหาการบริหาร คือ บริหารไม่ดีพอ”

ทั้งนี้ ปี 2540 ปัญหาเกิดชัดในปี 2539 รัฐบาลนายบรรหาร ศิลปอาชา โดยหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจขณะนั้นพาดหัววันที่ 16 ส.ค.2539 ว่า “1 ปี บรรหาร เศรษฐกิจพังพินาศล้านล้านบาท” ส่วนกรุงเทพธุรกิจพาดหัววันที่ 31 ส.ค.2539 ว่า “เศรษฐกิจสู่ภาวะปักหัวดิ่ง ลดเป้าขยายตัวเหลือ 7%”

รวมทั้งปัญหาการบริหารทั้ง 2 วิกฤติ เกิดจากปัญหาการเมืองและระบบราชการที่บริหารปัญหาร้ายแรงไม่ได้ ผลจนทำให้เกิดวิกฤติ การเมืองตอนปี 2540 เป็นรัฐบาลผสมตั้ง พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ เป็นที่ปรึกษา เหมือนมี 2 รัฐบาล มีการทำงานเหมือน ครม.อีกชุด และแบ่งกระทรวงเศรษฐกิจ คือ ส.ส.หรือรัฐมนตรีเศรษฐกิจพรรคไหน ต้องทำงานผ่านรองนายกรัฐมนตรีพรรคนั้น ซึ่งเหมือนวันนี้ การบริหารสาธารณสุข คือ พรรคภูมิใจไทย และแข่งขันกับสำนักนายกรัฐมนตรีผ่านศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.)

นอกจากนี้ ระบบราชการมีกฎระเบียบกระทรวงใครกระทรวงมันทำให้มาตรการปฏิบัติช้ามาก และมีช่องโหว่ให้ออกนอกลู่นอกทาง ฉะนั้นวิกฤต 2 ช่วงเหมือนกัน โดยปี 2564 ถ้าแก้ไม่ทันปี 2565 อาจเหมือนปี 2541 ที่เศรษฐกิจเลวร้ายสุด โดยปี 2541 จีดีพีติดลบกว่า 10% ฉะนั้น 3-4 เดือนข้างหน้า จะเป็นข้อพิสูจน์ว่าเป็นเช่นนั้นหรือไม่ จะลามถึงสถาบันการเงินหรือไม่ ถ้าลามจะรุนแรงที่สุด แต่ขณะนี้ ยังไม่ถึง

“ปัญหาบริหาร คือ รัฐบาลกับราชการทางฝั่งรัฐบาล เนื่องจากมีพรรคการเมืองใหญ่ 2 พรรคเวลาประกาศอะไรก็ประกาศคนละอย่าง ประชาชนไม่มั่นใจระบบราชการ กรณีการลดค่าเงินบาทปี 2540 นั้น ไม่ใช่เราไม่รู้เพราะตอนที่ผมกับนายอำนวย วีรวรรณ เข้ามาช่วงพ.ย.2539 ตกลงแล้วจะลดค่าเงินบาท เพราะดอกเบี้ยเราสูง คนก็ไปกู้เงินต่างประเทศมาปล่อยข้างใน เงินก็ทะลัก ค่าเงินก็แข็งผิดปกติ” นายณรงค์ชัย อัครเศรณี กล่าว

  

  • ศบค.แก้วิกฤติไม่ได้

นายณรงค์ชัย กล่าวว่า ขณะนี้ มี 2 เรื่อง ที่เผชิญ คือ การบริหารโรคระบาด และ การบริหารผลกระทบ ซึ่งชัดเจนว่า 2 ส่วนมีการบริหารแบบไม่มียูนิฟอร์มมิตี้ หรือ ขาดความเป็นหนึ่งเดียวของรัฐบาล และกฎระเบียบที่บริหารราชการอยู่ก็ทำให้เกิดปัญหาในการบริหาร

ขณะเดียวกัน สาธารณสุขมีกฎระเบียบหลายประเด็น ซึ่งทำให้เอกชนซื้อวัคซีนไม่ได้ และวิธีที่นายกรัฐมนตรีแก้ คือ ตั้ง ศบค.กลายเป็นคอขวดก็ติดตรงนั้นหมด ถามว่าจะเปลี่ยนรัฐบาลเพื่อให้เกิดยูนิฟอร์มนิตี้ได้ไหม เปลี่ยนนายกรัฐมนตรีได้ไหมก็ไม่ได้ เพราะรัฐธรรมนูญห้ามเปลี่ยน ฉะนั้นต้องมีความร่วมมือจริง และจะใช้ระบบ ศบค.คงไม่เวิร์ค

อย่างไรก็ตาม เมื่อเห็นชัดเจนว่า เราต้องอยู่กับการติดเชื้อไปเรื่อยๆ จะหวังผ่อนปรนกฎระเบียบถ้าทำไม่ได้เลย ในภาวะแบบนั้น ภาคเอกชนก็ค่อยๆเลี้ยงตัวไป และดูแลสภาพคล่องให้นานที่สุด ซึ่งตนเห็นว่า ขณะนี้รัฐบาลมีเงินเพียงพอในการเข้ามาพยุงหรือดูแลภาคธุรกิจ

    

  • ชง 3 ทางแก้ปัญหาวิกฤติ

นายศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษาสถาบันวิจัยภัทร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร กล่าวว่า ปัญหาในวิกฤติโควิด-19รอบนี้ เห็นด้วยว่า ปัญหาอยู่ที่การบริหารของรัฐบาล แต่ยังมีทางออกเพื่อแก้ไข 3 ปัญหา ตอนนี้ คือ

1. เมื่อวัคซีนไม่พอแล้วจะแบ่งให้ใครอันดับแรก ซึ่งต้องแบ่งให้บุคคลการด้านการแพทย์และสาธารณสุขก่อน ที่ผ่านมาฉีดแล้ว 7 แสนราย และต้องฉีดซ้ำ ทำให้ต้องใช้วัคซีนเพิ่มขึ้น ยิ่งทำให้วัคซีนขาดแคลนมากขึ้นไปอีก และตอนนี้รัฐบาลต้องถามตัวเองว่าจะฉีดให้ผู้สูงอายุที่ไม่อยู่ในภาคการผลิต หรือฉีดให้ผู้อยู่ภาคการผลิตคนวัยทำงานเพื่อให้เศรษฐกิจเดินต่อ

“เมื่อวัคซีนไม่พอแล้ว ทำให้รัฐบาลมาถึงจุดบีบบังคับ ให้ตัดสินใจแม้เป็นเรื่องที่ยากจะตัดสินใจ แต่ถ้าบอกประชาชนให้ชัดเจนได้ก็ดี ว่าจุดยืนของรัฐบาลอยู่ตรงไหนในเรื่องนี้ หากยังพูดกล้อมแกล้มแบบนี้ ในความกล้อมแกล้ม ยิ่งทำให้เราไม่รู้ทิศทาง”

2. ชุดตรวจยังไม่มากพอเพราะหากเลือกฉีดวัคซีนให้ผู้สูงอายุก่อน ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีโอกาสเสียชีวิตได้มากกว่าคนที่อายุน้อย 30-100 เท่า ดังนั้น รัฐบาลต้องพยายามแยกระหว่างคนติดเชื้อ กับคนไม่ติดเชื้อ เพื่อให้คนไม่ติดเชื้อยังสามารถเข้าไปทำงานได้อย่างปลอดภัย โดยเฉพาะคนในภาคการผลิต ที่เป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า

สำหรับทางออกของปัญหานี้ เสนอว่า หากวัคซีนยังไม่พอแล้ว ก็ต้องตรวจให้มาก ทำชุดตรวจโควิด-19 ราคา 5-10 บาท หรือแจกฟรีได้หรือไม่ เพราะโรงงานที่มีแรงงานหลักพันคนจะได้ตรวจกันทุกวัน ต้องแจกชุดตรวจให้มากที่สุด

3. การเยียวยาทันหรือไม่ เพราะสุดท้ายหากยังเกิดปัญหาวัคซีนไม่พอ ชุดตรวจเชื้อยังทำช้าไปอีก คนทำงานไม่ได้ ไม่มีรายได้ ถ้าทุกคนเป็นหนี้แบงก์แล้ว สุดท้ายปัญหาที่สะสมทั้งหมด จะส่งผลกระทบกลับเป็นความเสี่ยงต่อธนาคาร ซึ่งต้องเร่งเยียวยาให้ทัน

    

  • ห่วงกระทบส่งออก-แบงก์

นายศุภวุฒิ กล่าวว่า ช่วง 3-4 เดือนข้างหน้านี้ หากรัฐบาลแก้ 3 ปัญหาไม่ได้อย่างทันจะลามสู่ระบบเศรษฐกิจ โดยภาคการผลิตจะหยุดชะงักมากขึ้น และหากลามถึงการส่งออกที่เป็นเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจตัวเดียวแล้วจะน่าห่วงมาก และหากผลิตไม่ได้เศรษฐกิจไม่โตคนขาดรายได้ คนไม่มีเงินไปจ่ายหนี้แบงก์ ผลกระทบจะลามถึงสถาบันการเงินในที่สุด

“เราอยู่ในสถานการณ์วิกฤติและวิกฤติยังแย่กว่านี้ได้ เพราะวิกฤติโควิดรอบนี้กระทบเศรษฐกิจจริง มีคนล้มตายและเจ็บป่วย ต่างจากวิกฤติปี 2540 ที่กระทบภาคการเงินและคนรวยเท่านั้น”

ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่าเห็นเค้าพายุกำลังจะมา เพราะต้นปี 2564 นักวิเคราะห์เศรษฐกิจ ส่วนใหญ่ประเมินจีดีพี 3.5% แต่ผ่านมาครึ่งปีลด 3-4 ครั้งแล้ว จนเหลือ 1.5% หรือตอนนี้อาจเหลือไม่ถึง 1%

ส่วนการประเมินเศรษฐกิจระยะข้างหน้าทำได้ยาก เพราะไม่รู้จริงว่าสายพันธุ์เดลตาระบาดแรงแค่ไหน รวมทั้งเรามีชุดตรวจไม่พอและสุดท้ายปัญหาแก้ไม่ทันจะลามไปกระทบสถาบันการเงิน

รวมทั้งหากรัฐบาลยังทำเช่นนี้แล้วโควิด-19 สายพันธุ์เดลตาระบาดแรงมากเหมือนต่างประเทศ จะทำให้ปัญหาใหญ่ขึ้น และมองว่าโควิด-19 ยังติดคนไทยได้อีก 50 ล้านคน เพราะคนฉีดวัคซีนครบ 2 โดส มีแค่ 3-4 ล้านคน สมมติคนติดเชื้อแต่ไม่รู้ว่าติดเชื้อก็นำเชื้อไปติดให้คนที่เหลืออีก 60 ล้านคนได้

  

  • ทำงานแบบตั้งรับเกินไป

นายศุภวุฒิ กล่าวว่า แม้กำไรแบงก์ไตรมาส 2 ปีนี้ ยังสูงเพราะเศรษฐกิจตอนนั้นพลิกกลับขึ้นมาได้บ้าง แต่แบงก์พักชำระหนี้ ไม่ให้จ่ายดอกเบี้ย คือ ดอกเบี้ยค้างรับเอาไว้ สอดคล้องกันว่าตัวเลขดอกเบี้ยค้างรับของแบงก์เพิ่มขึ้นในไตรมาส 2 ปีนี้ ซึ่งบันทึกเป็นกำไร แต่ไม่มีเงินเข้ามา จุดนี้จะเป็นประเด็นกระทบรุนแรงขึ้น เมื่อถึงจุดหนึ่งเอ็นพีแอลจะเพิ่มขึ้น เช่น กรณีเอสเอ็มอีที่สูงอยู่แล้ว

นอกจากนี้นโยบายการเงินถ้ามองแง่บวก เงินเฟ้อต่ำหนี้ต่างประเทศก็ไม่มี มองว่า ยังใช้นโยบายการเงินได้ พิมพ์เงินมาช่วยเหลือได้ แต่ต้องรู้ว่าจะทำเอาสิ่งนี้มาให้ทันท่วงที อย่าเป็นมาตรการที่ตามปัญหา เพราะตั้งแต่ต้นปีมานี้เราเห็นรัฐบาลมีแต่มาตรการตามปัญหา ไม่เคยมีมาตรการที่แก้ปัญหาก่อนที่จะเกิดเลย

    

  • “วสันต์”ชี้รัฐบาลบริหารไม่เป็น

นายวสันต์ เบนซ์ทองหล่อ ประธานกรรมการบริษัทในเครือเบนซ์ทองหล่อ กล่าวว่า วิกฤติครั้งนี้เป็นวิกฤติเรื่องลมหายใจ ซึ่งเป็นวิกฤติที่เกิดจากการบริหารคล้ายปี 2540 ที่รัฐบาลบริหารจัดการไม่เป็น และส่งผลต่อเนื่องทำให้ล็อกดาวน์ส่งผลกระทบค้าขายไม่ได้และอนาคตยังไม่เห็นทางออก

สำหรับทางออกเดียวตอนนี้ คือ การหาวัคซีนมาฉีดให้แก่ประชาชนเพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ เพื่อให้คนออกมาทำงาน ซึ่งจะช่วยให้เศรษฐกิจดีขึ้น แต่ตอนนี้เศรษฐกิจไม่ดี เพราะประชาชนไม่มีโอกาสได้ทำงาน อีกทั้งเข้าไม่ถึงการตรวจเชื้อได้ว่าติดเชื้อหรือไม่ ซึ่งเหล่านี้เกิดจากความประมาทของรัฐบาลที่คาดการณ์ไม่ถึงและวางแผนไม่เป็น

  • “วสันต์” จี้รัฐเปิดเสรีวัคซีน

รวมทั้งครั้งนี้ภาคเอกชนต้องการช่วยเหลือภาครัฐ และขอภาครัฐเปิดทางให้ธุรกิจช่วยเหลือตนเองได้ เช่น การให้นำเข้าวัคซีนเสรีจะได้ไม่เป็นภาระหนักของรัฐบาล อย่างน้อยประชาชน 20-30% ที่มีเงินจะได้จัดหาและซื้อวัคซีนเองได้ หรือธุรกิจสั่งมาฉีดให้พนักงานได้เพื่อให้ธุรกิจกลับมาเดินได้ ซึ่งปัจจุบันรัฐบาลยังไม่เปิดให้ซื้อวัคซีนเสรี และจะต้องซื้อผ่านองค์การเภสัชกรรมที่มีกติกามากมาย จึงควรยกเลิกเพราะต้องแลกเปลี่ยนกับชีวิตคนในแต่ละวัน

“เพราะฉะนั้นวัคซีนเสรีจำเป็นที่สุด ปล่อยให้เอกชนเขาซื้อ เพื่อให้เขาสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ เช่น ยาฟาวิพิราเวียร์ ที่ต้องเบิกส่วนกลาง ซึ่งบางโรงพยาบาลก็ไม่มี และต้องรอให้อาการหนักก่อน ซึ่งกติกามันไปล็อกให้คนตายหมด เพราะรัฐบาลไม่ปล่อยให้เราช่วยตัวเอง ปัญหาอยู่ตรงนี้เองไม่ใช่เรื่องใหญ่ ยาเสรี วัคซีนเสรี แต่ตอนนี้เราโดนล็อกดาวน์”

  • แนะแบงก์ปรับรูปแบบทำธุรกิจ

สำหรับภาคการเงิน ปัจจุบันไทยมีเงินฝากสูง 15 ล้านล้านบาท ซึ่งไม่ได้นำมาใช้ช่วยเศรษฐกิจ ขณะที่ ธปท.มีทุนสำรองสูง ส่วนมาตรการช่วยเหลือที่ผ่านมา เช่น ซอฟท์โลน โดยมีกติกาที่เข้าไม่ถึง เช่น เอสเอ็มอี บัญชีต้องดีถึง ณ สิ้นปี 2562 จึงจะกู้ได้ในปี 2563

ทั้งนี้แนะนำให้ธนาคารปรับมาใช้ระบบโรงรับจำนำ และให้ธนาคารรับขายฝาก แต่ไม่ใช่การขายฝากแบบ 1 ปี ขายขาด แต่กำหนดให้ขายฝากได้ 5 ปี ซึ่งช่วยให้ธนาคารไม่จำเป็นต้องตั้งสำรองหนี้ เพราะเมื่อต้องตั้งสำรองหนี้ธนาคารก็ไม่อยากปล่อยสินเชื่อให้

ส่วนทางรอดนั้นภาคธุรกิจต้องใช้สติและมองทางออกระยะสั้น โดยโชว์รูมขายรถหันมาขายทุกอย่าง เช่น น้ำแร่ ฟ้าทะลายโจร ซึ่งขายมา 1 ปี เพราะต้องทำตัวให้ยืดหยุ่นที่สุด