'เรวัต' จี้ 'ศบค.' แจงตัวเลข 'คนติดเชื้อ จ.เพชรบูรณ์' หลังไม่พบตัวเลขคลัสเตอร์โรงงานเชือดไก่

'เรวัต' จี้ 'ศบค.' แจงตัวเลข 'คนติดเชื้อ จ.เพชรบูรณ์' หลังไม่พบตัวเลขคลัสเตอร์โรงงานเชือดไก่

'นพ.เรวัต' จี้ ศบค.-ผว.เพชรบูรณ์ แจงจำนวน ผู้ติดเชื้อในพื้นที่ หลัง ยอดวันนี้ ไม่พบรายงานคลัสเตอร์โรงงานแปรรูปไก่ 3,000 ราย แนะ 'รัฐ' ปรับแผน สนับสนุน 'เอ็นจีโอ' เข้าถึงการช่วยเหลือ ผู้ป่วย

       นพ.เรวัต วิศรุตเวช ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเสรีรวมไทย กล่าวถึงกรณีที่ ศูนย์ข้อมูล ศบค. รายงานจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในวันที่ 27 กรกฎาคม แยกเป็นรายภาค โดยพบว่าพื้นที่จ.เพชรบูรณ์ มีรายงานยอดผู้ติดเชื้อ จำนวน 104 ราย ทั้งที่ก่อนหน้านั้น เมื่อวันที่ 25 กรกฏาคม มีการประกาศพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในโรงงานแปรรูปไก่ อ.บึงสามพัน จ.เพชรบูรณ์ กว่า 3,100 ราย ว่า ตนเข้าใจว่า ประเด็นดังกล่าว ศบค. และทางจังหวัดเพชรบูรณ์ควรตรวจสอบและเปิดเผยตัวเลขที่แท้จริงกับสาธารณะ รวมถึงต้องมีมาตรการเพื่อป้องกันเชื้อโควิด-19 ระบาดไปสู่ชุมชนในพื้นที่ด้วย เพื่อไม่ให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับผลกระทบ อย่างไรก็ดีตนขอสังเกตด้วยว่าการรายงานตัวเลขที่ตรวจพบผู้ติดเชื้อ และ การรายงานตัวเลขอย่างเป็นทางการ ผ่าน ศบค. ควรทำให้เกิดความโปร่งใส และอย่าบิดเบือนข้อเท็จจริง

       “ผมเข้าใจว่าการตรวจพบผู้ติดเชื้อด้วยระบบตรวจสอบ อาจต้องเข้าสู่กระบวนการตรวจยืนยันเชื้อของทาง สสจ. จังหวัด และผู้ว่าราชการจังหวัดฐานะประธานกรรมการโรคติดต่อเป็นผู้รายงาน ซึ่งทางจังหวัดไม่ควรใช้เวลาตรวจสอบเกิน 1-2 วัน เพื่อควบคุมพื้นที่แพร่ระบาด ไม่ให้กระทบกับประชาชนในจังหวัด อย่างไรก็ดีผมขอตั้งข้อสังเกตว่าการไม่รายงานตัวเลขผู้ติดเชื้อตามจำนวนที่พบแต่ละวัน รัฐบาลต้องการลดความกดดันเกี่ยวกับตัวเลขผู้ติดเชื้อที่เพิ่มสูงแต่ละวัน ทั้งนี้ผมไม่ทราบว่านี่คือเจตนาหรือไม่ แต่สะท้อนภาพของการบริหารจัดการของรัฐที่ไม่สามารถรับมือกับสถานการณ์ระบาดได้แล้ว” นพ.เรวัต กล่าว

       นพ.เรวัต กล่าวด้วยว่า สำหรับความพยายามแก้ไขสถานการณ์ระบาดของรัฐบาล ด้วยการล็อคดาวน์พื้นที่ เกือบ 14 วัน พบว่าภาพรวมคนติดเชื้อทั่วประเทศไม่ลง แม้จะรายงานว่าในพื้นที่กทม. ลดลงก็ตามส่วนหนึ่งเป็นเพราะมีการส่งออกเชื้อโรคไปต่างจังหวัด หรือ ให้คนป่วยกลับภูมิลำเนาไปรักษา ซึ่งไม่มีประเทศไหนทำ

       “ปัจจุบันอัตราการตายสูง หากดูสถิติคนป่วยสีแดง มีอัตราการตายมากถึง 50% ส่วนหนึ่งเพราะความไม่พร้อมของอุปกรณ์ และบุคลากรทางการแพทย์ที่มีไม่เพียงพอ ดังนั้นสิ่งที่รัฐบาลควรทำ คือ การสนับสนุน การให้ความร่วมมือกับภาคประชาชนและองค์กรภาคประชาชน ที่มีศักยภาพช่วยเหลือประชาชนในขณะนี้ ทั้ง อุปกรณ์ช่วยเหลือ, ยารักษา เช่น ฟ้าทะลายโจร ยาฟาวิพิราเวียร์ เป็นต้น เพื่อให้เข้าถึงผู้ป่วยที่ระบบรัฐ และสาธารณสุขเอื้อมไม่ถึงประชาชน” นพ.เรวัต กล่าว.