ย้อนรอย 'เขากระโดง' มหากาพย์ 102 ปี สู่ 'กรมที่ดิน' สั่งเพิกถอนที่ดิน 5,083 ไร่

ย้อนรอย 'เขากระโดง' มหากาพย์ 102 ปี สู่ 'กรมที่ดิน' สั่งเพิกถอนที่ดิน 5,083 ไร่

ย้อนรายละเอียดมหากาพย์ "เขากระโดง" 102 ปีจาก พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตสร้างทางรถไฟหลวง สู่ "กรมที่ดิน" สั่งเพิกถอนที่ดิน 5,083 ไร่

ขั้นตอนการจัดส่งข้อมูลเอกสารหลักฐานของการรถไฟจากกรมที่ดินให้จังหวัดบุรีรัมย์เพื่อพิจารณาเพิกถอนที่ดินเขากระโดง จ.บุรีรัมย์ 5,083 ไร่ ทำให้เรื่องนี้กลายเป็นประเด็นร้อนขึ้นมาอีกครั้ง ตามที่ สำนักข่าวอิศรา ได้เสนอข่าวเมื่อวันที่ 24 – 25 กรกฎาคม 2564 ว่า การรถไฟแห่งประเทศไทยได้มีหนังสือ ที่ รฟ 1/1911/2564 ลงวันที่ 23 มิถุนายน 2564 ส่งเรื่องให้กรมที่ดินพิจารณาดำเนินการเพิกถอนหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินที่ออกทับที่ดินของการรถไฟฯ ในพื้นที่บริเวณเขากระโดง อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ เนื้อที่ประมาณ 5,083 ไร่ ซึ่งศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาคดีหมายเลขแดงที่ 842 – 876/ 2560 และที่ 8027/2563 ว่า เป็นพื้นที่ของ รฟท. และกรณีโฉนดที่ดินเลขที่ 3466, 8564 ตำบลอิสาณ อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งเดิมเป็นของนายชัย ชิดชอบ และนางกรุณา ชิดชอบ

มหากาพย์การเพิกถอนที่ดิน 5,083 ไร่นี้ เริ่มมาตั้งแต่ ประกาศพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตสร้างทางรถไฟหลวง 8 พฤศจิกายน 2462 หรือเมื่อ 102 ปีที่แล้ว ประกาศพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตร์สร้างทางรถไฟหลวงต่อจากนครราชสีมาถึงอุบลราชธานี ให้กรมรถไฟหลวง ตรวจและวางแนวทางรถไฟ ตั้งแต่นครราชสีมา(ข้ามลำน้ำมูลราว ต.ท่าช้าง,อ.พิมาย) ไปยังบุรีรัมย์จนถึง อุบลราชธานี (อ.วารินชำราบ) ให้เสร็จภายใน 2 ปี โดยห้ามเจ้าของที่ดินที่ครอบครองที่ในเขตรถไฟก่อน 8 พฤศจิกายน 2462 ยก หรือซื้อขาย และเปลี่ยนกับผู้ใดผู้หนึ่ง ห้ามสร้างบ้าน ปลูกต้นไม้ หรือทำไร่ ก่อนได้รับอนุญาต

ทาง การรถไฟแห่งประเทศไทย หรือ รฟท. มีความจำเป็นต้องใช้พื้นที่ เขากระโดง และบ้านตะโก ทำทางรถไฟเพื่อเข้าแหล่งระเบิดและย่อยหิน ระยะทาง 8 กม. และ 4 กม.แรก มีเจ้าของที่ดิน 18 ราย อีก 4 กม. จนถึงแหล่งหินไม่มีเจ้าของ

จนเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2513 มีการพบข้อพิพาทระหว่าง นายชัย ชิดชอบ และราษฎร บุกรุกที่ดิน รฟท. ในพื้นที่เขากระโดง ผลการเจรจา นายชัยยอมรับว่า ที่ดินเป็นกรรมสิทธิ์ของ รฟท. และทำหนังสือขออาศัย รฟท. ยินยอม ต่อมา วันที่ 26 ตุลาคม 2515 ได้มีการนำที่ดินดังกล่าวไปออกโฉนดเลขที่ 3466 และขายให้ ละออง ชิดชอบ เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2535 ก่อนจะมีการนำไปขายต่อให้ บ.ศิลาชัย บุรีรัมย์

ย้อนรอย 'เขากระโดง' มหากาพย์ 102 ปี สู่ 'กรมที่ดิน' สั่งเพิกถอนที่ดิน 5,083 ไร่

วันที่ 31 สิงหาคม 2518 ประพันธ์ สมานประธาน นำที่ดินเขากระโดงไปออกโฉนดเลขที่ 8564 และนำที่ดินขายเป็นทอดๆ จนกระทั่ง วันที่ 14 กรกฎาคม 2540 มีการโอนขายให้ กรุณา ชิดชอบ และทำนิติกรรมจำนองกับธนาคารกรุงไทย โดยสำนักงานที่ดินฯ มีหนังสือแจ้งว่า ที่ดินอยู่ในเขตทางรถไฟ

จนในช่วงปี 2539 เกิดกรณีข้อพิพาทเขากระโดงเกิดขึ้น โดยวันที่ 16 กรกฎาคม 2564 การรถไฟแห่งประเทศไทยได้ส่งเรื่องปัญหาพิพาทระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทยกับราษฎร ให้คณะกรรมการกฤษฎีกาวินิจฉัยปัญหากรรมสิทธิ์ที่ดิน ซึ่งทางจังหวัดบุรีรัมย์ส่งเรื่องให้คณะกรรมการกฤษฎีกาวินิจฉัย วันที่ 17 มีนาคม 2541 คณะกรรมการกฤษฎีกาได้แจ้งความเห็นกรณีการแก้ไขปัญหาที่ดินการรถไฟเขากระโดง อ.เมืองบุรีรัมย์ จ.บุรีรัมย์ (ตามหนังสือ นร.0601/211 ลง 17 มีนาคม 2541)วินิจฉัยว่าที่ดินทั้ง 2 แปลงดังกล่าวเป็นกรรมสิทธิ์ของการรถไฟฯ

ช่วงปี 2548 กรรมาธิการวิสามัญวุฒิสภาได้ดำเนินการสอบสวน - ศึกษาข้อพิพาท เขากระโดง มีมติว่า ออกเอกสารโฉนดโดยมิชอบ ผู้ครอบครองบุกรุกที่ดิน รฟท. ต่อมา วันที่ 23 ธันวาคม 2554 คณะกรรมการ ปปช.วินิจฉัยว่า โฉนดที่ดินเลขที่ 3466 และเลขที่ 8564 เป็นการออกโฉนดในที่ดินของการรถไฟ ฯ ซึ่งเป็นที่หวงห้ามเป็นการออกที่มิชอบด้วยกฎหมาย และได้ส่งเรื่องเพิกถอนทั้ง 2 โฉนด โดยทาง ปธ.ป.ป.ช. มีหนังสือลงวันที่ 15 กันยายน 2554 ถึงผู้ว่าฯ รฟท. ให้ดำเนินคดีกับผู้บุกรุก

ช่วงปี 2557-2561 มีการฟ้องร้องกรณีการขอออกโฉนดระหว่างราษฎรกับ รฟท. และกรมที่ดิน ทางศาลฎีกาพิพากษายืนว่า ที่ดินเป็นของการรถไฟฯ ไม่สามารถออกโฉนดได้ ให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง และขนย้ายสิ่งของทรัพย์สินกับบริวารออกจากที่ดิน เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2561

ย้อนรอย 'เขากระโดง' มหากาพย์ 102 ปี สู่ 'กรมที่ดิน' สั่งเพิกถอนที่ดิน 5,083 ไร่

ต่อมา ศาลจังหวัดบุรีรัมย์ได้พิพากษาในคดีที่การรถไฟฯฟ้องราษฎร 4 รายกระทำละเมิดต่อการรถไฟฯได้รับความเสียหาย ก่อนวันที่ 22 เดือนเมษายน 2563 ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาคดีการรถไฟฯฟ้องราษฎร 4 รายกระทำละเมิดต่อการรถไฟฯได้รับความเสียหายไม่อาจนำที่ดินพิพาทออกให้เช่าได้ โดยศาลพิพากษา ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า การรถไฟเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทศาลอุทธรณ์ภาค 3 เห็นพ้องด้วย ว่าที่ดินเป็นของการรถไฟฯ ให้จำเลยที่ 2เพิกถอนสิ่งก่อสร้าง และขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกจากที่ดิน

ก่อนที่ การรถไฟแห่งประเทศไทยได้มีหนังสือ ที่ รฟ 1/1911/2564 ลงวันที่ 23 มิถุนายน 2564 ส่งเรื่องให้กรมที่ดินพิจารณาดำเนินการเพิกถอนหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินที่ออกทับที่ดินของการรถไฟฯ ในพื้นที่บริเวณเขากระโดง อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ เนื้อที่ประมาณ 5,083 ไร่

ล่าสุด กรมที่ดินอยู่ระหว่างจัดส่งข้อมูลเอกสารหลักฐานของการรถไฟให้จังหวัดบุรีรัมย์รวมเรื่องพิจารณาและหากข้อเท็จจริงเป็นที่ยุติว่า มีการออกหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินแปลงใดออกไปคลาดเคลื่อนหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย จะได้พิจารณาดำเนินการเพิกถอนหรือแก้ไข ตามมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดินต่อไป

ย้อนรอย 'เขากระโดง' มหากาพย์ 102 ปี สู่ 'กรมที่ดิน' สั่งเพิกถอนที่ดิน 5,083 ไร่