เช็คจุดยืน ปชป.-พปชร.-ก้าวหน้า กระแสร้อน 'นายกฯพระราชทาน' !?

เช็คจุดยืน ปชป.-พปชร.-ก้าวหน้า กระแสร้อน 'นายกฯพระราชทาน' !?

ฮอตโซเชียล เช็คจุดยืน ปชป.-พปชร.-ก้าวหน้า กระแสร้อน "นายกฯพระราชทาน" !?

กลายเป็นประเด็นร้อน! กรณีกระแสในโซเชียลออนไลน์กล่าวถึง "นายกฯพระราชทาน" ซึ่งในมุมของพรรคการเมือง มีจุดยืนอย่างไร

ปชป.ย้ำอย่าคาดคะเน "นายกฯคนนอก" ทุกอย่างต้องตาม รธน.

นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวผ่านทางโทรศัพท์ ถึงกรณีโลกโซเชียลมีเดีย โดยเฉพาะในทวิตเตอร์ ปั่นกระแสนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จะลาออก ก่อนจะติดแฮชแท็กว่า

ตอบในฐานะพรรคประชาธิปัตย์ จะตรงประเด็นมากที่สุด เหตุผลเพราะขณะนี้หลักการที่สำคัญในการปกครอง คือ มีรัฐธรรมนูญที่กำหนดกฎเกณฑ์กติกาไว้ชัด

นายราเมศ กล่าวย้ำว่า ทุกขั้นตอนในเรื่องระบบการเมือง ที่มาของนายกฯ รวมถึงรัฐบาล ผ่านกลไกโดยระบบรัฐสภา พรรคจึงมองเรื่องนี้ตามหลักการความเป็นจริง อย่าไปตั้งสมมติฐานเพื่อหาคำตอบในเรื่องของอนาคต เชื่อว่าทุกอย่างยังเดินหน้าไปตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด

ส่วนกรณีที่มีคนออกมาทำโพล หากนายกฯ ลาออก แล้วต้องเลือกนายกฯ จากบัญชีรายชื่อเดิม ซึ่งมีชื่อ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อยู่ในรายชื่อนั้น ไม่สามารถคาดการณ์ ความเป็นไปได้ ว่าจะมีมากน้อย เพียงใด แต่ที่บอกได้ คือ การตอบโพลทุกคนมีสิทธิ์ ตอบเชียร์คนที่ตนชื่นชอบเป็นเรื่องปกติ การจะตอบคำถามโดยคาดคะเนคงไม่ได้ เพราะทุกอย่างเป็นไปตามรัฐธรรมนูญกำหนด พรรคไม่ได้กังวลใดๆ เพราะหน้าที่ขณะนี้สำคัญสุด คือ ช่วยเหลือ และแบ่งเบาความลำบากของประชาชน เป็นสิ่งที่พรรคมุ่งมั่นทำงานทำหน้าที่ให้ดีที่สุด

พปชร. ปิดทาง "นายกฯคนนอก" เหตุ รธน. ไม่เปิดโอกาส

นายสรวุฒิ เนื่องจํานงค์ ส.ส.ชลบุรี พรรคพลังประชารัฐ กล่าวถึงกระแสนายกรัฐมนตรีพระราชทาน ว่า รัฐธรรมนูญไม่ได้มีการเปิดโอกาสให้สามารถทำได้ ซึ่งขณะนี้นายกฯ แม้ว่าจะโดนกระแสหนักเพียงใด ก็จะต้องอดทนทำหน้าที่ หากมีการวิพากษ์วิจารณ์ในสิ่งใดที่ไม่ถูกต้องก็ต้องตอบโต้ ให้ข้อมูล เพราะเป็นผู้นำที่ได้มาจากการเลือกตั้ง และคิดว่าเป็นการคาดหวังเกินไปที่จะเอาบุคคลอื่นเข้ามาตอนนี้ และหากมีการลาออก ประเทศชาติก็จะเสียหายมากขึ้น เนื่องจากกลไกทุกอย่างจะต้องหยุด ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มงบประมาณ หรือการโยกเปลี่ยนแปลงงบประมาณก็ไม่สามารถทำได้

เมื่อถามว่ายังมั่นใจว่ารัฐบาลจะอยู่ครบเทอมใช่หรือไม่ นายสรวุฒิ ตอบว่า ไม่ควรจะรบกวนประชาชนให้ออกมาเลือกตั้งบ่อย เมื่อมีวาระอยู่ และขณะนี้เหลือเวลาอีกปีเศษในฐานะรัฐบาลก็จะต้องคิดแก้ไขปัญหาต่อไป ส่วนฝ่ายค้านก็ทำหน้าที่ฝ่ายค้านต่อไป

“ผมคิดว่าพรรคร่วมรัฐบาลก็คิดว่าจะต้องรักษาประโยชน์ของประชาชนเป็นหลักที่เลือกตั้งมาให้อำนาจมา ไม่ใช่พอมีเรื่องหนึ่งที่ไม่สบายใจหรือเรื่องหนึ่งเห็นต่างก็จะทิ้งเรือกันหมด ผมคิดว่าเราต้องเลือกตั้งกันใหม่ทุกอาทิตย์หากพรรคร่วมรัฐบาลคิดอย่างนั้น ผมคิดว่าพรรคร่วมรัฐบาลทำถูกแล้วที่ยึดปัญหาของประเทศเป็นหลักและช่วยกันแก้ปัญหาในสถานการณ์นี้” นายสรวุฒิ กล่าว

ส่วนกระแสกดดันรัฐบาลในเรื่องของการแก้ปัญหาสถานการณ์โควิดจนรัฐบาลจะต้องลาออกหรือยุบสภานั้น นายสรวุฒิ ระบุว่า เรื่องนี้ต้องมองทั่วโลกด้วยว่า ขณะนี้สิ่งที่เกิดขึ้นนั้นเป็นเฉพาะประเทศไทยหรือไม่ นายกฯไปบริหารทั่วโลกหรือไม่ ทำไมทั่วโลกถึงแย่กว่าประเทศไทย รวมถึงประเทศที่ฉีดวัคซีนไฟเซอร์และโมเดอร์นา ก็ยังมีอัตราการติดเชื้อมากกว่าประเทศไทย ซึ่งคิดว่ารัฐบาลต้องทำความเข้าใจในเรื่องของการสื่อสาร เรื่องการด้อยค่าของวัคซีน และเรื่องที่มากระบวนการจัดหาวัคซีนที่ประชาชนสงสัยอยู่ ต้องทำทุกเรื่อง และต้องทำวันนี้ด้วย ถ้าปล่อยไว้อย่างนี้แล้วคนเข้าใจผิด ผมก็คิดว่ารัฐบาลต้องพิจารณาตัวเองว่าต้องทำอย่างไร

ก้าวหน้าย้ำจุดยืนค้าน "นายกฯคนนอก"

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะก้าวหน้า เผยแพร่ข้อเขียนเรื่องบทเรียน..โดยระบุตอนหนึ่งว่า “15 ปีผ่านไป คำว่า นายกพระราชทาน กลับมาอีกครั้ง ในวันที่ความนิยมในตัวของ ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีชุดปัจจุบันลดฮวบ และแทบไม่เหลือความน่าเชื่อถือใดๆ อีกแล้ว ท่ามกลางกระแส ‘ดีล’ ‘ตกลง’ ‘รอมชอม’ ‘ประนีประนอม’ ‘เกี้ยเซียะ’ ฯลฯ ของคนบางกลุ่มบางพวกหรืออย่างไรไม่ทราบได้ แต่ที่แน่ คือ ปฏิเสธไม่ได้ว่าข้อเรียกร้องจากยุคดึกดำบรรพ์นี้ ฟื้นกลับมาจากข่าวลือ และกระแสดังกล่าว ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะ รัฐธรรมนูญ 2560 ที่เราใช้อยู่ปัจจุบันนี้ ซึ่งไม่ได้มาจากการมีส่วนร่วมของประชาชน เปิดช่องให้มีข้อยกเว้น”

“รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 272 วรรคสอง เปิดทางให้มีนายกรัฐมนตรีนอกบัญชีได้ โดยต้องใช้เสียงกึ่งหนึ่งของสองสภาในการเสนอเรื่อง 2ใน 3 ของสองสภาในการมีมติยกเว้น และกึ่งหนึ่งของสองสภาในการมีมติเลือกนายกรัฐมนตรี นั่นหมายความว่า เราอาจมี “คนนอก” มาเป็นนายกรัฐมนตรีได้ตามรัฐธรรมนูญ เมื่อต้องใช้เสียงมากถึงกึ่งหนึ่งของสองสภาและ 2ใน 3 ของสองสภาเช่นนี้ ต้องมีปัจจัยใดล่ะที่จะทำให้ได้เสียงมากขนาดนี้? คนๆ นั้นต้องมีลักษณะแบบใดล่ะถึงจะได้คะแนนเสียงขนาดนี้? ใครที่จะทำให้ทั้ง ส.ส.และ ส.ว.สมัครสมานลงคะแนนไปในทิศทางเดียวกันได้?