KWM เล็งขอไลเช่นส์สกัดกัญชง-กัญชา ต่อยอดธุรกิจหลัก

KWM เล็งขอไลเช่นส์สกัดกัญชง-กัญชา ต่อยอดธุรกิจหลัก

KWM เตรียมขอไลเซ่นส์สกัดกัญชง-กัญชา จากเดิมเป็นผู้ผลิตเครื่องจักรสกัด คาดอย.อนุมัติภายใน 64 คงเป้ารายได้ปีนี้โตไม่ต่ำกว่า 40% ปีก่อน เหตุส่งมอบเครื่องสกัดให้ลูกค้า 10 เครื่อง

นายอุกฤษณ์ วนโกสุม รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เค.ดับบลิว. เม็ททัล เวิร์ค จำกัด (มหาชน) หรือ KWM เปิดเผยว่า บริษัทเดินหน้าขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจกัญชง-กัญชา จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)ผ่านบริษัทย่อยบริษัท แล็บแอคทีฟ จำกัด (LABACTIVE) ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุน (JV) ที่บริษัทถือหุ้นในสัดส่วน 51% เพื่อดำเนินธุรกิจการสกัด แปรรูปวัตถุดิบที่ได้จากพืชผลทางการเกษตร และ จำหน่ายผลิตภัณฑ์สำหรับใช้ในอุตสาหกรรมเครื่องสำอางและสกินแคร์ โดยคาดว่าจะได้รับใบอนุญาตภายในปี 2564

อย่างไรก็ดี ใบอนุญาตดำเนินธุรกิจดังกล่าวเป็นใบอนุญาตที่ต้องขอแบบปีต่อปี ซึ่งบริษัทจะดำเนินการขอใบอนุญาตต่อเนื่องในปีถัดๆ ไปขณะที่แผนการดำเนินธุรกิจกัญชง-กัญชาในช่วงที่เหลือของปี 2564 ปัจจุบันบริษัทเป็นผู้ผลิตและพัฒนาเทคโนโลยีเครื่องจักรสกัดกัญชง-กัญชา โดยลูกค้าในมือมีทั้งที่ได้รับใบอนุญาตสกัดและอยู่ระหว่างขอใบอนุญาตกับ อย. ซึ่งกระจายในหลายอุตสาหกรรมทั้งยาและเวชภัณฑ์ เครื่องสำอาง เครื่องดื่ม ฯลฯ

สำหรับปีนี้ตั้งเป้าหมายส่งมอบเครื่องสกัดให้แก่ลูกค้า 10 เครื่อง ส่วนใหญ่เป็นรูปแบบปล่อยเช่าปีละ 80,000-100,000 บาทต่อเครื่อง และบางส่วนเป็นการซื้อขาดเครื่องสกัดขนาดเล็กราคา 2-5 ล้านบาทต่อเครื่อง ซึ่งคาดว่าจะทยอยรับรู้รายได้ตั้งแต่ปลายไตรมาส 3 ปี 2564ส่วนในปี2565 ตั้งเป้าหมายส่งมอบ 20 เครื่อง และ 30 เครื่อในปี 2566

เมื่อสอบถามถึงธุรกิจพืชกระท่อม นายอุกฤษณ์ กล่าวว่าปัจจุบันยังอยู่ในขั้นตอนของการวิจัยและพัฒนา (R&D) และคาดว่ายังต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งจนกว่ากฎหมายจะปลดล็อกให้ดำเนินธุรกิจที่เกี่ยวข้องได้

สำหรับเป้าหมายรายได้เติบโตอย่างน้อย 40% โดยคาดว่าผลการดำเนินงานในช่วงไตรมาส 2 ปี 2564 และในช่วงครึ่งปีหลังที่เหลือจะเติบโตต่อเนื่องจากไตรมาส 1 ปีนี้ที่มีรายได้ 154.33 ล้านบาท สูงสุดเป็นประวัติการณ์ (All Time High) เพราะได้ปัจจัยหนุนจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลให้แรงงานบางส่วนกลับเข้าสู่ภาคการเกษตรมากขึ้นรวมถึงนายทุนที่มีทุนทรัพย์หันมาประกอบธุรกิจเกษตรกรรมมากขึ้น

นอกจากนี้ บริษัทยังได้ปัจจัยหนุนจากยอดขายของบริษัท สยามคูโบต้า คอร์ปอเรชั่น จำกัด ซึ่งเป็นคู่ค้าหลักของบริษัทที่ตั้งเป้ายอดขายรถไถใหม่ปีนี้ราว 50,000-60,000 คัน ซึ่งรถไถแต่ละคันจะใช้อะไหล่ของบริษัท เช่นใบผาล ใบจักร ใบคัดท้าย โครงผาล ใบดันดิน ใบเกลียวลำเลียงประมาณ 4-6 ใบต่อคัน