พื้นที่อุตสาหกรรมใน EEC : เพื่ออุตสาหกรรมอนาคต

พื้นที่อุตสาหกรรมใน EEC  : เพื่ออุตสาหกรรมอนาคต

สืบเนื่องจากเหตุการณ์อุบัติเหตุเพลิงไหม้โรงงานบริษัทหลิงตี้ ในพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการเร็ว ๆ ให้บทเรียนกับผู้เกี่ยวข้องถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในวันนี้และการจัดการในอนาคตเกี่ยวกับโรงงานประเภทนี้มากขึ้น

แม้ว่าในระยะสั้น ๆ ผู้ดูแลพยายามสร้างความรู้สึกที่ดีต่อผู้คนโดยมีนโยบายที่จะย้ายโรงงานที่มีความเสี่ยงจากการใช้สารเคมีหรือความเสี่ยงอื่นๆ เข้าไปในเขตนิคมอุตสาหกรรม โดยเฉพาะในพื้นที่ EEC ดูเหมือนสร้างความสบายใจให้ประชาชนที่อยู่รอบๆ โรงงานที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับโรงงาน และสร้างความกังวลใจให้คนที่ผูกชีวิตไว้กับกิจการของโรงงาน แต่สำหรับหน่วยปฏิบัติงานก็กุมขมับว่าจะทำอย่างไรเพราะจากกฏหมาย ระเบียบที่มีอยู่ผมว่ายังมองไม่เห็นหนทาง นอกจากขอร้อง ไหว้วอน เท่านั้น

การกำหนดสีของผังเมืองเพื่อแยกประเภทการใช้ที่ดิน แต่เพิ่งมีมาหลังจากมีการขยายตัวของพื้นที่มากแล้ว ทำให้หลายพื้นที่มักจะกำหนดการใช้พื้นที่ตามสภาพปัจจุบัน กล่าวคือพื้นที่ที่ตั้งอุตสาหกรรมก็เป็นสีม่วง จะเป็นพื้นที่ไข่แดงที่ถูกรายล้อมด้วยเขตชุมชน และพื้นที่ชุมชนหนาแน่นก็ห้ามตั้งสถานประกอบการ และสำหรับพื้นที่ใหม่อื่นๆ ที่กำหนดเป็นสีม่วงหรืออื่น ๆ ที่อนุญาตให้โรงงานตั้งได้และมีเงื่อนไขแนบท้ายเยอะแยะนั้น ก็ไม่ได้ห้ามให้ชุมชนเข้ามาตังที่อยู่อาศัยใกล้โรงงาน และเมื่อเกิดการขยายตัวของธุรกิจ ในอนาคตไม่นาน เราก็จะเกิดปัญหาเดิม คือชุมชนจำนวนมากตั้งอยู่ติดโรงงาน และเมื่อเกิดปัญหาจะให้ชุมชนเข้าใจว่าตั้งที่อยู่อาศัยในพื้นที่สีม่วงและเข้าใจความสำคัญของการใช้ประโยชน์ของที่ดินนั้นผมว่ายากและไม่คิดว่าใครจะเข้าใจว่าด้วยลำดับความสำคัญในการใช้ประโยชน์ในพื้นที่นั้น ๆ หรอกครับ เพราะพื้นที่ที่เขาอยู่นั้นเป็นสิทธิของเขา เรื่องมองภาพรวมเกินสิทธิตัวเอง … ยากครับ

ดังนั้น การพัฒนานิคมอุตสาหกรรมที่นำสถานประกอบการมารวมกันจำนวนมาก และมีการจัดการบริหาร ดูแล ก็เป็นสิ่งที่ดีและน่าเป็นทางออก ลดการกระทบกระทั่งการใช้ประโยชน์พื้นที่กับสาขาอื่น ๆ รวมทั้งปัญหากับชุมชน แต่ที่หลายรายเลือกตั้งข้างนอกนิคมฯ ส่วนมากก็มาจากราคาที่ดินหรือค่าเช่า รวมทั้งค่าบริการสาธารณูปโภค ... แพงเว่อร์

การใช้ประโยชน์พื้นที่ทั้งหมดของ EEC ซึ่งพื้นที่สีม่วงเข้มนั้น คือบริเวณที่ดินประเภทเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษเพื่ออุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษ ซึ่งมีทั้งหมด 23 เขตแล้ว ก็จะเหลือพื้นที่พัฒนาอุตสาหกรรมทั่วไปของ EEC อีกประมาณ 165,000 ไร่หรือ 40% ของพื้นที่อุตสาหกรรมทั้งหมดที่เหลือจะรองรับอุตสาหกรรมประเภทอื่น ๆ ที่คิดว่าจำเป็นและสนับสนุนการเป็นเมือง EEC

ดังนั้นการประกาศนโยบายโยกย้ายโรงงานที่มีความเสี่ยงต่าง ๆ เข้าไปอยู่ในพื้นที่นิคมฯ นั้น ผมว่าเป็นความคิดที่ดีแต่ต้องเข้าใจเอกชนด้วยว่า การโยกย้ายนั้นมีต้นทุนการย้ายเครื่องไม้เครื่องมือ เครื่องจักร อาคาร และนอกจากนี้ ราคาที่ดินในนิคมอุตสากรรมนั้นสูงมากเมื่อเทียบกับพื้นที่นอกนิคม ตามด้วยค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่สูงขึ้นจากการประกอบกิจการอีก

นอกจากนี้ การที่จะย้ายโรงงานเข้าไปสู่ในพื้นที่EECนั้น เราต้องทำความเข้าใจก่อนว่าสาขาอุตสาหกรรมที่ EEC ต้องการนั้นเป็นอุตสาหกรรมที่เป็นอุตสาหกรรมเป้าหมาย เป็นเครื่องจักรเศรษฐกิจตัวใหม่ของประเทศไทย เป็นอุตสาหกรรมที่มีความเข้มข้นของนวัตกรรมและเทคโนโลยีสูง ซึ่งทำให้เราต้องเตรียมคน เตรียมสภาพแวดล้อม ในการสนับสนุนการพัฒนาในทิศทางนี้มาค่อนข้างเยอะแล้ว ถ้าจะย้ายหรืออนุญาตโรงงานที่ไม่เกี่ยวข้อง หรือไม่พึงประสงค์ หรืออุตสาหกรรมเดิม ๆ ก็อาจทำให้เสียพื้นที่ในการพัฒนาอุตสาหกรรมที่มีจำกัดของ EEC ไปไม่ตรงวัตถุประสงค์ของ EEC ที่วางไว้ 

ผมว่าวันนี้ สำนักงาน EEC ควรมีบทบาทหรือสามารถมีข้อคิดเห็นในการอนุญาตก่อตั้งสถานประกอบการในพื้นที่ EEC ด้วย และกำกับเขตส่งเสริมเสรษฐกิจพิเศษ (ไข่แดง) ที่ได้รับอนุมัตินั้นต้องเป็นที่ตั้งสถานประกอบการที่เป็นเป้าหมายของการพัฒนาพื้นที่นี้ หากปล่อยให้อุตสาหกรรมอะไรก็ได้ ตั้งได้ พื้นที่ EEC ก็จะลดคุณค่าของ EEC ในสายตาของนักลงทุนและคนในพื้นที่อีกด้วย