ศบค.เตรียมส่งผู้ป่วยใหม่ 'โควิด-19'กลับบ้าน สร้างทางเลือก'กักตัว'ที่บ้านหรือชุมชน

ศบค.เตรียมส่งผู้ป่วยใหม่ 'โควิด-19'กลับบ้าน สร้างทางเลือก'กักตัว'ที่บ้านหรือชุมชน

อีกมาตรการของ ศบค.ให้จังหวัดต่าง ๆ เตรียมสถานที่เพื่อรองรับการส่งต่อผู้ป่วยใหม่"โควิด-19"กลับไป"กักตัว"และรักษาตัวที่บ้านหรือชุมชน

ผลการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์โควิดโควิด – 19(ศบค.) ครั้งที่ 10/2564 มีมาตรการจัดเตรียมสถานที่รองรับ"ผู้ป่วยใหม่"กลับบ้านเกิด

โดยเมื่อวันที่ 16 กรกฏาคม 2564 สำนักงานเลขาธิการศูนย์ บริหารสถานการณ์โควิดโควิด – 19(ศบค.) รายงานว่า ในพื้นที่จังหวัดต่าง ๆ กระทรวงมหาดไทยได้จัดเตรียมสถานที่เพื่อรองรับการส่งต่อผู้ป่วยใหม่ โดยได้ผลักดันมาตรการแยกกักตัวที่บ้าน (Home Isolation: HI) และเพิ่มจำนวนเตียงสำหรับผู้ป่วยสีเหลืองและสีแดงให้สอดคล้องกับสถานการณ์และมาตรการของกระทรวงสาธารณสุข

นอกจากนี้ ยังขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณายุทธศาสตร์ใหม่ของกระทรวงสาธารณสุขในการรับมือกับปัญหาผู้ป่วยที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก

โดยให้นำเครื่องมือ Antigen Test Kit มาใช้ควบคู่ไปกับมาตรการแยกกักตัวที่บ้าน (Home Isolation: HI)หรือแยกกักตัวในชุมชน (Community Isolation: CI) อย่างจริงจัง

เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์การแพร่ระบาดในขณะนี้และเห็นควรเร่งสร้างการรับรู้กับประชาชนอย่างเร่งด่วน
                   

162710674172

กลับบ้านกักตัว มีเพื่อนในชุมชนช่วยดูแล

ทั้งมาตรการแยกกักตัวที่บ้าน (Home Isolation) และมาตรการกักตัวในชุมชน (Community Isolation) ควรดำเนินการในสถานที่ที่เหมาะสม

โดยผู้ติดเชื้อยินยอมโดยสมัครใจ และสามารถปฏิบัติตามคำแนะนำได้ พร้อมจัดให้มีช่องทางสื่อสารกับผู้ป่วย (Telemonitor) เพื่อติดตามอาการทุกวัน

รวมถึงช่องทางติดต่อกรณีฉุกเฉิน และลงทะเบียนกับสถานพยาบาล ทำการเอ็กซเรย์ปอด (หากทำได้) พร้อมจัดอุปกรณ์วัดไข้และเครื่องวัดออกซิเจนในเลือด และระบบรับผู้ป่วยในกรณีฉุกเฉิน

162710694318

มาตรการกักตัวที่บ้าน

ในการกักตัวที่บ้าน (Home Isolation) กรณีระหว่างรอเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลหรือแพทย์พิจารณาว่าสามารถรักษาที่บ้านหรือผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาที่โรงพยาบาล/สถานที่ที่รัฐจัดให้ไม่น้อยกว่า 10 วัน และจำหน่ายกลับบ้าน เพื่อรักษาต่อเนื่องที่บ้านโดยวิธีการกักตัวที่บ้าน (Home Isolation)

ทั้งนี้ เกณฑ์การพิจารณาผู้ป่วยที่จะเข้ารับการกักตัวที่บ้าน (Home Isolation) เป็นไปตามดุลยพินิจของแพทย์ ได้แก่ เป็นผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการ (Asymptomatic Cases) อายุไม่เกิน 60 ปี สุขภาพร่างกายแข็งแรง อยู่คนเดียวหรือมีผู้อยู่ร่วมที่พักไม่เกิน 1 คน ไม่มีภาวะอ้วน (ภาวะอ้วน: BMI > 25 กก./ม.2 หรือ BW > 90 กก.) ไม่มีโรคอื่น ๆ ร่วมด้วย อาทิ โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคไตเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมองโรคเบาหวานที่ไม่สามารถควบคุมได้ เป็นต้น และยินยอมแยกตัวในที่พักของตนเอง

สำหรับการดำเนินการในส่วนสถานพยาบาล ให้ประเมินผู้ติดเชื้อตามดุลยพินิจของแพทย์ ลงทะเบียนผู้ติดเชื้อที่เข้าเกณฑ์ แนะนำการปฏิบัติตัวให้กับผู้ติดเชื้อ ติดตามและประเมินอาการผู้ติดเชื้อ

โดยให้ผู้ติดเชื้อวัดอุณหภูมิและระดับออกซิเจนในเลือด และให้แจ้งสถานพยาบาลทุกวัน พร้อมทั้งจัดให้มีระบบรับ - ส่งผู้ป่วยไปยังสถานพยาบาล หากผู้ป่วยมีอาการรุนแรงขึ้น
                                      

มาตรการกักตัวในชุมชน

ในส่วนการกักตัวในชุมชน(Community Isolation : ศูนย์ดูแลโควิดชุมชน) ใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยยืนยันโควิด -19 อยู่ในชุมชน ผู้ป่วยยืนยันรายใหม่ที่ไม่มีอาการหรือมีอาการเล็กน้อย ผู้ป่วยที่ไม่ต้องการออกซิเจนในการรักษาทุกกลุ่มอายุ

โดยให้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดและเจ้าของสถานที่/ชุมชน ดำเนินการประเมินสถานการณ์และความพร้อม จำนวนและระดับอาการผู้ติดเชื้อ จำนวนและระดับอาการของผู้ป่วยที่เข้าเกณฑ์สอบสวนโรค (Patients Under Investigation: PUI) จำนวนผู้สัมผัสเสี่ยงสูง สถานที่ตั้งและสภาพแวดล้อม

โดยคัดเลือกพื้นที่หรือชุมชนที่มีความเข้มแข็ง ลักษณะเป็นหมู่บ้านหรือแคมป์คนงานซึ่งยินยอมรับผู้ติดเชื้อ สามารถจัดบริการดูแลผู้ติดเชื้อไม่เกิน 200 คน จัดตั้งศูนย์ติดตามอาการผู้ป่วยได้ตลอด 24 ชั่วโมง สามารถส่งต่อผู้ป่วยไปยังสถานพยาบาลได้

ในกรณีหากมีอาการรุนแรงขึ้น มีสิ่งแวดล้อมที่ถูกสุขลักษณะหรือได้รับการปรับปรุงเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดออกไปยังภายนอกชุมชน

และต้องได้รับความร่วมมือจากชุมชนหรือภาคเอกชนในการร่วมกันดูแลผู้ป่วยในพื้นที่ โดยความร่วมมือระหว่างเขต โรงพยาบาล (ทั้งภาครัฐ และเอกชน) และศูนย์บริการสาธารณสุขในพื้นที่ รวมถึงจัดให้มีจิตอาสาประจำศูนย์พักคอย เพื่อทำหน้าที่ดูแลและเป็นผู้ประสานงานกับทีมแพทย์ที่ปรึกษา