รู้หรือไม่? วัคซีนโควิดแต่ละชนิด 'อาการไม่พึงประสงค์' อาการเด่นแตกต่างกัน

รู้หรือไม่? วัคซีนโควิดแต่ละชนิด 'อาการไม่พึงประสงค์' อาการเด่นแตกต่างกัน

สธ.เปิดผลการเฝ้าระวัง 'อาการไม่พึงประสงค์' หลัง 'ฉีดวัคซีนโควิด' ต่างชนิด อาการเด่นแตกต่างกัน พบมีผู้เข้าเกณฑ์ร้ายแรง 1,343 ราย

วันนี้ (23 ก.ค.2564) นพ.เฉวตสรร นามวาท ผอ.กองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค กล่าวถึงผลการเฝ้าระวังเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ภายหลังการฉีดวัคซีนโควิด 19 ว่าผลการฉีดวัคซีน ข้อมูลวันที่ 22 ก.ค.2564 เวลา 18.00 น. พบว่า มีผู้ฉีดวัคซีนสะสมทั้งสิ้น 15,388,939 โดส แบ่งเป็น ผู้รับวัคซีนเข็มที่ 1 จำนวน 11,805,180 ราย และเข็มที่ 2 จำนวน 3,583,759 ราย

โดยมีเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์หลังฉีดการได้รับวัคซีนโควิด ข้อมูลวันที่ 18 ก.ค.2564 เวลา 16.30 น.จำนวนวัคซีนที่ฉีดสะสม 14,298,596 โดส พบ ผู้ป่วยที่มีอาการไม่พึงประสงค์เข้าเกณฑ์การรายงานของกรมควบคุมโรค ทั้งหมด 4,139 ราย หรือ 28.9 อัตราต่อแสนโดส แบ่งเป็น เข้าเกณฑ์ร้ายแรง 1,343  ราย 9.4 อัตราต่อแสนโดส เสียชีวิต 231 ราย1.6 อัตราต่อแสนโดส ผู้ป่วยในอื่นๆ เช่น มีไข้ 2,565 ราย 17.9 อัตราต่อแสนโดส

 

 

 

  • ผลการศึกษา'อาการไม่พึงประสงค์'หลังฉีดวัคซีนโควิด

ทั้งนี้ จากการสรุปสถานการณ์ เหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ หลังการได้รับ วัคซีนโควิด 19 ระหว่างวันที่ 28 ก.พ.-18 ก.ค.2564  จำนวนการได้รับวัคซีนสะสม 14,298,596 โดส โดยผู้มีอาการไม่พึงประสงค์ 1,592 ราย พิจารณาโดยผู้เชี่ยวชาญแล้วเสร็จ 482 ราย อยู่ระหว่างการติดตามข้อมูล 1,110ราย

พบว่า เกี่ยวกับวัคซีน 71 ราย (เช่น อาการแพ้ แต่รักษาหาย) เกี่ยวกับการฉีดวัคซีน(ปฎิกิริยาร่างกายแต่ตรวจไม่พบความผิดปกติ) 240 ราย เหตุการณ์ร่วมไม่เกี่ยวกับวัคซีน คือ เจ็บป่วยรักษาหาย 36 ราย และเสียชีวิต 122 ราย  และ ไม่สามารถสรุปได้ว่าเกี่ยวข้องกับวัคซีนหรือไม่ 13 ราย

สำหรับาการที่พบหลังจากการได้รับ วัคซีนโควิด จำแนกตามชนิดของวัคซีน ดังนี้

แอสตราเซนเนก้า พบผู้มีอาการและอาการแสดง 1,802 ราย โดยมีอาการเด่น ได้แก่ เป็นไข้ เวียนศีรษะ ปวดศีรษะ คลื่นไส้ ปวดกล้ามเนื้อ  อาเจียน ถ่ายเหลว ไม่สบายตัว เป็นลม

ซิโนแวค พบผู้มีอาการและอาการแสดง 1,633 ราย โดยมีอาการเด่น ได้แก่ เวียนศีรษะ ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย ปวดกล้ามเนื้อ ผื่น ถ่ายเหลว ไม่สบายตัว เป็นไข้ 

ซิโนฟาร์ม พบผู้มีอาการและอาการแสดง 34 ราย โดยมีอาการ เวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดศีรษะ คัน อ่อนเพลีย ไข้ ผื่น เป็นลม และผื่นแพ้

 

  • เร่งรวบรวมข้อมูลครูฉีด'วัคซีนไขว้' เสียชีวิต เกิดจากวัคซีนหรือไม่

สำหรับส่วนกรณีครูสถาบันการศึกษาเอกชนวัย 39 ปี จ.ประจวบคีรีขันธ์ ที่ได้ฉีด ซิโนแวค เข็มที่ 1 และฉีด แอสตราเซนเนก้า เข็มที่ 2 ซึ่งเป็นการกระตุ้น และเสียชีวิต 1 วันหลังการฉีด แอสตราเซนเนก้า นั้น นพ.เฉวตสรร  กล่าวว่าได้มีการผ่าชันสูตร พบว่า สาเหตุการเสียชีวิตเกิดจากอาการสมองบวมจากก้อนในสมอง ทำให้เลือดไปกดทับก้านสมองและเสียชีวิต ซึ่งขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวและญาติพี่น้องของคุณครูด้วย

สำหรับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้นำรายละเอียดไปประกอบกับหลักฐานอื่นๆ ว่ามีความเกี่ยวข้องกับการฉีดวัคซีนหรือไม่ ซึ่งจะรวบรวมข้อมูลหลักฐานทั้งหมด ทั้งโรคประจำตัว สถานะสุขภาพ อื่นๆ มาพิจารณา และจะมารายงานให้ทราบอีกครั้ง

ส่วนประเด็นการวัดประสิทธิผลวัคซีนที่เชียงราย ซึ่งเป็นการศึกษาตามระบาดวิทยา โดยเก็บข้อมูลในบุคลากรทางการแพทย์ กลุ่มที่ฉีดวัคซีนครบ นานกว่า 14 วันขึ้นไป 336 ราย พบการติดเชื้อ 24 ราย คิดเป็น 7.1% กลุ่มที่ไม่ได้ฉีดวัคซีน 27 ราย พบการติดเชื้อ 11 ราย คิดเป็น 40.7% กลุ่มไม่ฉีดวัคซีน ติดเชื้อสูงกว่ากลุ่มที่ฉีดวัคซีน 5.7 เท่า สรุปวัคซีน ซิโนแวค 2 เข็ม มีประสิทธิผลป้องกันการติดเชื้อ 82.5%

ขณะที่การป้องกันปอดอักเสบ พบว่า กลุ่มที่ฉีดวัคซีนครบ พบปอดอักเสบ 4 ราย คือเป็น 1.2% ส่วนกลุ่มที่ไม่ฉีดวัคซีน พบปอดอักเสบ 2 ราย คิดเป็น 7.4% กลุ่มไม่ฉีดวัคซีนปอดอักเสบสูงกว่ากลุ่มที่ฉีดวัคซีน 6.2 เท่า สรุป ฉีดซิโนแวค 2 เข็มมีประสิทธิภาพป้องกันปอดอักเสบ 83.9% ดังนั้น ขอให้พี่น้องประชาชนมีความมั่นใจ และไปรับการฉีดวัคซีน

ส่วนการฉีดสลับยี่ห้อในบางพื้นที่นั้น ขณะนี้ได้มีการเก็บข้อมูลต่อเนื่องผ่านระบบหมอพร้อม และบุคลากรทางการแพทย์ พบว่าที่ผ่านมามีความปลอดภัยดี ส่วนกรณีที่เป็นข่าวอาการไม่พึงประสงค์  ก็จะเป็นลักษณะเหมือนฉีด แอสตราเซนเนก้า เข็มแรก ซึ่งยังไม่มีใครมีอาการรุนแรง