เอกชนแนะรัฐลดภาษี หนุนยานยนต์ไฟฟ้าขึ้นแท่นผู้นำอาเซียน

เอกชนแนะรัฐลดภาษี หนุนยานยนต์ไฟฟ้าขึ้นแท่นผู้นำอาเซียน

“เน็กซ์ พอยท์” แนะรัฐบาลออกมาตรการด้านราคากระตุ้นการซื้อรถ EV พร้อมลงทุนปัจจัยพื้นฐานรองรับการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้า หนุนผู้ประกอบการในประเทศเพื่อดันไทยเป็นผู้นำการผลิตและประกอบยานยนต์ไฟฟ้าในอาเซียน

นายคณิสสร์ ศรีวชิระประภา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เน็กซ์ พอยท์ จำกัด (มหาชน)  กล่าวว่า ตามที่คณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ มีมติเร่งรัดให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า 100% ในปี 2578 โดยในปี 2573 จะต้องผลิตรถไฟฟ้าให้ได้ 50% ของปริมาณการผลิตรถทุกชนิด ซึ่งสำนักนโยบายและแผนพลังงานคาดว่า จะมีการใช้รถ EV จำนวน 138,918 คันภายในปี 2568 เพื่อที่ประเทศไทยจะเป็นฐานการผลิต EV สำคัญของโลก อีกทั้งยังตั้งเป้าเร่งผลิต EV สะสมไว้ที่ 1,051,000 คันภายในปี 2568 และจะเพิ่มการผลิตสะสมที่ 6,224,000 คันภายในปี 2573 นั้น

จากภาพรวมตลาดยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศไทยในปัจจุบัน พบว่ายอดจดทะเบียนในแต่ละปีมีจำนวนน้อยมาก เมื่อเทียบกับยานยนต์เชื้อเพลง ซึ่งปัจจัยสำคัญที่กีดขวางการเติบโตของธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย มาจากปัญหาโครงสร้างพื้นฐานที่ยังไม่เอื้ออำนวยต่อการใช้งาน ราคาจำหน่ายรถ EV ภายในประเทศค่อนข้างสูง เมื่อเทียบกับยานยนต์ปกติ และที่สำคัญคือความไม่ชัดเจนของนโยบายภาครัฐ ในการส่งเสริมการใช้รถยนต์ EV ส่งผลให้ประชาชนยังไม่มีความมั่นใจในการเปลี่ยนแปลงมาใช้รถ EV จึงยังไม่สามารถกระตุ้นการซื้อรถ EV ได้

“ที่ผ่านมารัฐบาลประกาศแผนเส้นทางอนาคตของตลาดรถ EV  และจะทำให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตรถ EV ที่สำคัญของโลก แต่จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีความชัดเจนใดๆออกมา จึงอยากเสนอแนะต่อรัฐบาลว่ารัฐควรกำหนดนโยบายที่ชัดเจนเป็นรูปธรรมในการส่งเสริมการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้า”

อย่างไรก็ดี รัฐอาจจะพิจารณาความเหมาะสมจากแนวทางดำเนินการของประเทศต่างๆ เช่น การลดภาษีสรรพสามิตและภาษีการครอบครองรถยนต์ EV ของจีน อุดหนุนเงินส่วนต่างระหว่างราคารถ EV กับรถเบนซิน ของญี่ปุ่น การให้เงินอุดหนุนเพื่อซื้อรถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ (BEV) ของอังกฤษ หรือการให้ Tax credit และอุดหนุนการซื้อรถ EV ของสหรัฐฯ ซึ่งส่งผลให้ตลาดรถ EV ในยุโรป มีการจดทะเบียนในปี 2020 ไปแล้ว 54% เพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าจากปี 2019

ทั้งนี้รัฐควรกำหนดแนวทางการดำเนินงานเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรม อาทิ การลงทุนในปัจจัยพื้นฐานสำหรับการใช้งานรถ EV ให้เงินสนับสนุนการซื้อรถเชิงพาณิชย์กับผู้ประกอบการที่มีใบอนุญาต เพื่อเป็นการส่งเสริมผู้ประกอบการภายในประเทศ รวมทั้งมาตรการและแนวทางในการจัดหารายได้ให้กับภาครัฐ เพื่อเป็นแหล่งเงินทุนสำหรับมาตรการสนับสนุนของภาครัฐ

โดยมาตรการและแนวทางดังกล่าวนอกจากจะเป็นการส่งเสริมให้เกิดรายได้จากการผลิตและประกอบยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ อันจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจในประเทศและดุลการค้าระหว่างประเทศในเชิงบวก แล้ว ยังจะเป็นการเพิ่มปริมาณการใช้รถ EV ภายในประเทศ ซึ่งจะช่วยลดอัตราขาดดุลการค้าจากการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลงจากต่างประเทศ โดยใช้พลังงานไฟฟ้าที่ผลิตเองได้ภายในประเทศ ทั้งยังเป็นการเพิ่มความสามารถทางด้านเศรษฐกิจในการเป็นผู้นำด้านการผลิตและประกอบยานยนต์พลังงานไฟฟ้าในภูมิภาคอาเซียน