ธปท.ผวาโควิด 'ลากยาว' ทุบ GDP ทรุด 0.8-2%

(ชมคลิปข่าวด้านล่าง) ธปท.ผวาโควิด 'ลากยาว' ทุบ GDP ทรุด 0.8-2%

ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. ชญาวดี ชัยอนันต์ ระบุ จากการระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้า ที่ทำให้การติดเชื้อรุนแรงและลากยาวกว่าที่คาดการณ์ ที่ส่งผลให้ภาครัฐออกมาตรการล็อกดาวน์ 13 จังหวัดรวม กทม.เพื่อควบคุมการระบาด แต่สถานการณ์ปัจจุบันยังมีความไม่แน่นอนสูง และการล็อกดาวน์ยังมีความเสี่ยงจะยืดเยื้อออกไป

ทั้งนี้ ธปท.จัดทำประมาณการผลกระทบต่อเศรษฐกิจจีดีพีปี 2564 โดยคาดว่าในกรณีที่สถานการณ์ดีขึ้นภายหลังล็อกดาวน์ คือ หากควบคุมการระบาดทำให้ผู้ติดเชื้อรายวันลดลง 40% จากปัจจุบันอยู่ที่กว่า1 หมื่นคนต่อวัน  และสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ในเดือน ส.ค. จะส่งผลกระทบต่อคาดการณ์จีดีพีปีนี้ลดลง0.8% แต่ในกรณีที่สถานการณ์ย่ำแย่ คือควบคุมการระบาดให้ลดลงได้เพียง 20% ซึ่งมีความเสี่ยงจะกลับมาระบาดซ้ำ จะส่งผลกระทบต่อคาดการณ์จีดีพีปีนี้ลดลง 2.0%  จากคาดการณ์จีดีพีปีนี้โต 1.8%

“ช่วงปลายเดือน มิ.ย.เราคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 2564 จะเติบโต 1.8% ส่วนคาดการณ์ผลกระทบจากโควิดต่อจีดีพี 0.8-2% อาจไม่สามารถนำมาหักลบกันตรงๆ ได้ เพราะยังมีปัจจัยอื่น เช่น มาตรการทางการคลัง การส่งออก ซึ่งอาจเข้ามาช่วยพยุ่งเศรษฐกิจ แต่ยอมรับว่าสถานการณ์ปัจจุบันมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นต่อคาดการร์เศรษฐกิจ”

ขณะที่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจปี 2565 คาดว่าจะช้ากว่าที่คาดการณ์ เพราะขึ้นอยู่กับการกระจายวัคซีนเป็นสำคัญ อีกทั้งการระบาดของไวรัสสายพันธุ์ส่งผลให้ภูมิคุ้มกันหมู่ อาจต้องเพิ่มสูงขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 90-92% จากเดิม 80% นอกจากนี้ยังมีปัจจัยกดดันอื่นๆ เช่น นโยบายการเปิดประเทศของต่างชาติ นโยบายการคลังและการกระตุ้นเศรษฐกิจ ฐานะการเงินและสภาพคล่องธุรกิจ

ส่วนประเด็นที่จะต้องจับตาต่อในระยะถัดไป ได้แก่ ระยะสั้นด้านความพร้อมด้านสาธารณสุข และภาคการผลิตที่อาจได้รับผลกระทบจากมาตรการควบคุมการระบาด ส่วนระยะยาวควรเร่งกระจายวัคซีนที่มีประสิทธิภาพให้กับประชาชนอย่างทั่วถึงแทนมาตรการควบคุมที่เข้มงวด ซึ่งอาจจำเป็นในระยะสั้น แต่ไม่ตอบโจทย์ทางเศรษฐกิจ

ภาครัฐต้องเตรียมเครื่องมือและมาตรการให้เพียงพอและยาวนาน ซึ่งต้องทำเต็มที่ทั้งนโยบายการเงินและการคลัง เนื่องจากมาตรการแต่ละด้านมีข้อจำกัด รวมถึงต้องคำนึงถึงการใช้จริงในสถานการณ์ปัจจุบัน เช่น เตรียมช่องทางการเข้าถึงความช่วยเหลือทางออนไลน์เพิ่มขึ้น