STECH ตั้งเป้ารายได้ปี 64 โต 20% จ่อประมูลเมกะโปรเจค 1.8 หมื่นล้าน

STECH ตั้งเป้ารายได้ปี 64 โต 20% จ่อประมูลเมกะโปรเจค 1.8 หมื่นล้าน

STECH รับเงินขายไอพีโอ 560 ล้านบาท เดินหน้าประมูลงานโครงการรัฐร่วมกับพันธมิตร มูลค่างานราว 1.8 หมื่นล้านบาท หนุนแบ็คล็อกเติบโตดีกว่าคาด พร้อมขยายโรงงานใหม่เพิ่มกำลังการผลิตปีนี้ 30% หนุนรายได้โต 20%

นายวัฒน์ชัย มงคลศรีสวัสดิ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สยามเทคนิคคอนกรีต จำกัด (มหาชน) หรือ STECH เปิดเผยว่า ภายหลังบริษัทเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) บริษัทรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่นักลงทุนให้การตอบรับดี สะท้อนจากราคาหุ้นที่ปรับขึ้นเหนือราคาจองซื้อ โดยเงินระดมทุนที่ได้ประมาณ 560 ล้านบาท จะนำไปใช้ขยายธุรกิจ ชำระคืนเงินกู้ของสถาบันการเงิน และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน

ทั้งนี้ เงินที่ได้จากการระดมทุนจะนำไปใช้คืนหนี้เงินกู้ระยะสั้นประมาณ 200 ล้านบาท ซึ่งจะส่งผลให้อัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E) ลดลงมาอยู่ที่ 0.7-0.8 เท่า จากไตรมาส 1 ปี 2564 ที่ 1.4 เท่า

สำหรับแผนการดำเนินการในปี 2564 ต่อเนื่องไปในปี 2565 คาดว่าจะเข้าประมูลโครงการของภาครัฐร่วมกับบริษัทรับเหมาก่อสร้างที่เป็นพันธมิตรอีกประมาณ 10 โครงการ มูลค่าโครงการรวม 1.8 แสนล้านบาท ซึ่งยอดใช้ผลิตภัณฑ์ต่อโครงการมีสัดส่วนอยู่ที่ประมาณ 8-10% หรือประมาณ 1.8 หมื่นล้านบาท เช่น โครงการรถไฟรางคู่สาย "เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ" มูลค่า 1.3 แสนหมื่นล้านบาท

โครงการรถไฟทางคู่สาย "บ้านไผ่-มุกดาหาร-นครพนม" มูลค่า 6 หมื่นล้านบาท และ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เป็นต้น ซึ่งจะส่งผลให้งานในมือที่รอรับรู้รายได้ (Backlog) เติบโตดีกว่าที่บริษัทคาดการณ์เอาไว้ จากปกติมี Backlog รอรับรู้รายได้ต่อปีเฉลี่ยอยู่ที่ 900-1,000 ล้านบาท

ขณะที่แนวโน้มการเติบโตของธุรกิจในช่วงครึ่งหลังของปี 2564 และปี 2565 นอกจากจะได้ปัจจัยหนุนการเติบโตตามโครงการลงทุนขนาดใหญ่ (เมกะโปรเจค) ของรัฐที่เติบโตต่อเนื่องจากแล้ว บริษัทยังเดินหน้าขยายโรงงานเพิ่มเติมในจังหวัดชลบุรี มุกดาการ และสระบุรี ซึ่งจะส่งผลให้กำลังการผลิตในปี 2564 เพิ่มขึ้น 30% จากปีก่อน และส่งผลให้คาดการณ์รายได้ปี 2564 จะเติบโต 20% จากปีก่อนที่มีรายได้ 1,550.33 ล้านบาท

เมื่อสอบถามถึงสถานการณ์โควิด-19 ที่ส่งผลให้ภาครัฐประกาศล็อกดาวน์และปิดแคมป์ก่อสร้าง นายวัฒน์ชัย ยอมรับว่าส่งผลกระทบต่อธุรกิจของบริษัทอยู่บ้าง อย่างไรก็ดี ปัจจุบันบริษัทมีโรงงานคอนกรีตกระจาย 9 แห่งในแต่ละภูมิภาค ซึ่งส่วนที่ถูกล็อกดาวน์ในกรุงเทพและปริมณฑล ไม่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของโรงงานในภูมิภาคอื่นๆ เช่น ภาคเหนือ และภาคอีสาน

ขณะที่โรงงานทราถูกผลกระทบยังมีการผลิตต่อเนื่อง และสามารถส่งมอบผลิตภัณฑ์คอนกรีตและเสาเข็มไปกองที่หน้างานเพื่อภายหลังล็อกดาวน์จะสามารถเดินเครื่องจักรและดำเนินการได้ต่อเนื่อง โดยคาดว่าผลกระทบจะจบลงภายในไตรมาส 3 ปี 2564 นี้