“ณรงค์ชัย”หวั่นโควิดลุกลามภาคการเงิน

“ณรงค์ชัย”หวั่นโควิดลุกลามภาคการเงิน

“ณรงค์ชัย”ชี้ระบบบริหารโควิดรัฐล่ม เหตุขาดความเป็นหนึ่งเดียว แนะยกเลิกระบบศบค.ชี้เป็นคอขวดในการจัดการ หวั่นลามภาคการเงิน ทำเศรษฐกิจต่ำสุดในประวัติศาสตร์

นายณรงค์ชัย อัครเศรณี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์กล่าวใน clubhouse:CEO โซเซ  "The Legend..สร้างตำนานผ่านวิกฤต" ว่า หากรัฐบาลไม่สามารถปรับแนวทางการบริหารจัดการวิกฤตโควิด-19 ที่เกิดขึ้นในขณะนี้ให้ดีขึ้นได้ ปัญหาดังกล่าวจะลุกลามไปยังภาคการเงิน และจะทำให้เศรษฐกิจเลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์เช่นเดียวกันกับเมื่อครั้งเกิดวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540

“ชัดเจนว่า วิกฤตในปี 2540 มาจากปัญหาการเงิน ส่วนวิกฤตปี 2564 มาจากปัญหาโรคระบาด ซึ่งปัญหาโรคระบาด ถ้าดูแลไม่ดี จะลามไปถึงปัญหาการเงิน ยิ่งแย่กว่าที่เป็นอยู่ปัจจุบัน แต่ทั้งสองวิกฤตนี้ เกิดจากปัญหาการบริหาร คือ บริหารไม่ดีพอ”

ทั้งนี้ ในปี 2540 ปัญหาเกิดชัดในปี 2539 รัฐบาลบรรหาร โดยหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจในขณะนั้น พาดหัวข่าวในวันที่ 16 ส.ค.2539 ว่า “1 ปีบรรหาร เศรษฐกิจพังพินาศล้านล้านบาท” ส่วนกรุงเทพธุรกิจพาดหัวข่าวในวันที่ 31 ส.ค.2539 “เศรษฐกิจสู่ภาวะปักหัวดิ่ง ลดเป้าขยายตัวเหลือ7%”

“รัฐบาลบรรหารเข้ามาบริหารบ้านเมืองตั้งแต่ก.ค.2538 อยู่ถึง ก.ย.ปี 2539 ตอนนั้น ปัญหาตอนนั้น ตลาดหุ้น 1,400 กว่าจุด เมื่อหมดเทอมการบริหาร ตลาดหุ้นต่ำกว่า 1,000 จุด ปัญหาตอนนั้น สภาพคล่องไม่ดี ดอกเบี้ยแพงมาก เงินไหลออกมากกว่าไหลเข้า ฉะนั้น ตอนที่มีการเลือกตั้ง พรรคความหวังใหม่ชูประเด็น”อยู่ดีกินดี” พรรคชาติพัฒนาชูประเด็น ”เศรษฐกิจแย่ คนแก้ต้องน้าชาติ”

ทั้งนี้ ปัญหาการบริหารของทั้งสองวิกฤตเกิดจากปัญหาการเมืองและระบบราชการที่บริหารยามปัญหาร้ายแรงไม่ได้ผลจนทำให้เกิดวิกฤต การเมืองตอนปี 2540 เป็นรัฐบาลผสม มีการตั้งพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ เป็นที่ปรึกษา เหมือนมีสองรัฐบาล มีการทำงานเหมือนครม.อีกชุด และการแบ่งกระทรวงเศรษฐกิจ คือ ส.ส.หรือรมว.เศรษฐกิจพรรคไหน ต้องทำงานผ่านรองนายกรัฐมนตรีพรรคนั้น เหมือนกับวันนี้ การบริหารสาธารณสุข คือ พรรคภูมิใจไทย และแข่งขันกับสำนักนายกรัฐมนตรีผ่านสบค.

นอกจากนี้ ระบบราชการมีกฎระเบียบกระทรวงใครกระทรวงมัน ทำให้มาตรการปฏิบัติช้ามากและมีช่องโหว่ให้ออกนอกลู่นอกทางได้ ฉะนั้น วิกฤตทั้งสองช่วงนั้น เหมือนกัน โดยสรุปปี 2564 ถ้าแก้ไม่ทัน ปี 2565 อาจจะเหมือนปี 2541 ที่เศรษฐกิจจะเลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย โดยในปี 2541 จีดีพีติดลบประมาณ 10% ฉะนั้น 3-4 เดือนข้างหน้าจะเป็นข้อพิสูจน์ว่า จะเป็นอย่างนั้นหรือไม่ จะลามไปถึงระบบสถาบันการเงินหรือไม่ ถ้าลาม มันจะรุนแรงที่สุด แต่ขณะนี้ ยังไปไม่ถึง

เขาเล่าว่า ปัญหาบริหาร คือ รัฐบาลกับราชการ ทางฝั่งรัฐบาล เนื่องจาก มีพรรคการเมืองใหญ่ 2 พรรค เวลาจะประกาศอะไรออกไป ก็จะประกาศคนละอย่าง ประชาชนไม่มีความมั่นใจ และ ระบบราชการ กรณีการลดค่าเงินบาทในปี 2540 นั้น ไม่ใช่เราไม่รู้ เพราะตอนที่ผมกับดร.อำนวยเข้ามา ในช่วงพ.ย.2539 ตกลงกันแล้วว่า จะทำลดค่าเงินบาท เพราะดอกเบี้ยเราสูง คนก็ไปกู้เงินต่างประเทศมาปล่อยข้างใน เงินก็ทะลัก ค่าเงินก็แข็งผิดปกติ

ทั้งนี้ ระบบราชการจะทำงานตามกฎระเบียบ คือ มีกฎหมายเงินตรา มีคณะกรรมการ เราถามแบงก์ชาติว่า สถานการณ์ตอนนั้น มีการซื้อขายเงินดอลลาร์เท่าไหร่ เขาบอกว่า บอกไม่ได้ ตามกฎหมายห้ามบอก เราก็บอกให้ปรับค่าเงินได้แล้วตั้งแต่ก.พ. เขาก็บอก เห็นด้วย แต่ขอเลือกไทม์มิ่งเอง เพราะเชื่อว่า เขาเห็นตลาด กระทั่งพ.ค.คุมไม่อยู่ก็เลยพัง นี่คือหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่า ถ้าการบริหารของรัฐบาลและราชการบริหารแบบนี้ เกิดวิกฤตแน่นอน

เขากล่าวว่า ขณะนี้ มี 2 เรื่องที่เราเผชิญ คือ การบริหารโรคระบาด และ การบริหารผลกระทบ ซึ่งชัดเจนว่า ทั้งสองส่วนนั้น มีการบริหารแบบไม่มียูนิฟอร์มมิตี้หรือขาดความเป็นหนึ่งเดียวของรัฐบาลและกฎระเบียบที่บริหารราชการอยู่ก็ทำให้เกิดปัญหาในการบริหาร

“ปีที่แล้วออกมาตรการเยียวยาปล่อยซอฟท์โลนให้ภาคธุรกิจและประชาชน และ บอกว่า ถ้าสถาบันการเงินขาดทุน รัฐบาลจะชดเชยให้ เมื่อกระทรวงการคลังจะต้องรับผิดชอบ ก็เขียนระเบียบไว้ยาวเหยียดว่า การปล่อยกู้ต้องเป็นไปตามหนึ่งสองสามสี่ การปล่อยกู้ก็ไม่มีใครปล่อย ตอนหลังก็เลยเสนอให้มีการทำแวร์เฮาส์ซิ่ง ป่านนี้ก็ยังไม่ออก เขาคงยังตกลงกันไม่ได้ว่า ถ้าเสียหายใครจะรับผิดชอบ”

ขณะเดียวกัน สาธารณสุขเอง กฎระเบียบอะไรทั้งหลายเรื่องการซื้อยา รัฐบาลต้องเป็นคนซื้อเท่านั้นไม่ให้เอกชนซื้อ ก็ติดที่กฎระเบียบ และไม่เป็นยูนิฟอร์มมิตี้ และวิธีที่นายกรัฐมนตรีแก้ ก็มีศบค.ขึ้นมา กลายเป็นคอขวด ก็ติดตรงนั้นหมด ถามว่า จะเปลี่ยนรัฐบาลเพื่อให้เกิดยูนิฟอร์มนิตี้ได้ไหม เปลี่ยนนายกรัฐมนตรีได้ไหม ก็ไม่ได้ เพราะรัฐธรรมนูญห้ามเปลี่ยน ฉะนั้น ต้องมีความร่วมมือจริง จะใช้ระบบศบค.คงไม่เวิร์ค

อย่างไรก็ตาม เมื่อเห็นชัดเจนว่า เราต้องอยู่กับการติดเชื้อไปเรื่อยๆ จะหวังผ่อนปรนกฎระเบียบ ถ้าทำไม่ได้เลย ในภาวะแบบนั้น ภาคเอกชนก็ค่อยๆเลี้ยงตัวไป และดูแลสภาพคล่องให้นานที่สุด ทั้งนี้ ตนเห็นว่า ขณะนี้ รัฐบาลมีเงินเพียงพอในการเข้ามาพยุงหรือดูแลภาคธุรกิจ

“เรื่องที่ประเทศมีบัญชีดุลสะพัดมาหลายปี วิธีการดู คือ แบงก์ชาติออกพันธบัตรดูดซับสภาพคล่องเข้ามา เมื่อปลายปีถึง 4 ล้านล้านบาท แปลว่า เราสามารถมีสตังค์เอามาทำอะไรได้ แตกต่างกับเมื่อตอนปี 2540 ฉะนั้น การออกเงินกู้ให้ประชาชนจึงถูกต้องและหลังจากนั้นวิธีการใช้ไม่ดี อยู่ที่คลังกับแบงก์ชาติตั้งเงื่อนไข เลยเกิดปัญหา ผมมั่นใจว่า เรามีทรัพยากรมาช่วยเอกชนให้ไม่ล้มหายตายจาก”

เขากล่าวด้วยว่า วิกฤตรอบนี้ เห็นภาพหลายอย่าง ถ้าเราประคองตัว จะเห็นพลังใหม่เกิดขึ้นในสังคมเรา ที่เห็นชัด คือ พลังใช้ระบบดิจิทัล มาเร็วกว่าที่คิดมาก ฉะนั้น เศรษฐกิจสังคมไทยไปทางนั้น ไม่ว่าจะมิติใดทั้งภาคการผลิตการเงิน การค้าบริการ จะเป็นพลังงาน เมื่อเราพลิกฟื้น เราจะเป็นประเทศใหม่ เศรษฐกิจใหม่ ถือว่า เป็นวิกฤตที่สร้างโอกาส