ชิงตัดกระแสดารา Call Out องครักษ์ 'ประยุทธ์' จุดไฟเผาตัวเอง

ชิงตัดกระแสดารา Call Out องครักษ์ 'ประยุทธ์' จุดไฟเผาตัวเอง

ชอตแจ้งเอาผิด “มิลลี่” ได้ แม้ทางคดีจะชนะ แต่ทางการเมืองแพ้ราบคาบ ความเคลื่อนไหวของ “ทีมองครักษ์พิทักษ์นายกฯ” จึงเสมือนการราดน้ำมันใส่กองไฟ ที่กำลังลามมาเผาตัวเอง

ปรากฎการณ์ “ดารา” จำนวนมากออกมา Call out กดดันให้ “ผู้นำประเทศ” ลาออกจากตำแหน่งไม่เคยมีให้เห็นกันมาก่อน แต่เมื่อ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รมว.กลาโหม บริหารสถานการณ์โควิด-19 ผิดพลาด จนทำให้ตัวเลขาผู้ติดเชื้อรายใหม่ต่อวันพุ่งสูงขึ้น และตัวเลขผู้เสียชีวิต ไม่มีทีท่าจะลดน้อยลง ดาราและศิลปินในวงการบันเทิง จึงร่วมแสดงจุดยืน

หากย้อนกลับไปในช่วงการชุมนุมของ กลุ่มราษฎร ที่มีกระแสกดดันให้ พล.อ.ประยุทธ์ ลาออก-ยุบสภาอย่างหนัก และมีเสียงเรียกร้องจากกลุ่มผู้ชุมนุมให้ “ดารา” ออกมา Call out แต่มีจำนวนหนึ่งเท่านั้นที่ออกมาแสดงจุดยืนตามเสียงเรียกร้อง

เนื่องจากการออกมา Call out อาจจะต้องแลกด้วยต้นทุนหลายอย่าง โดยเฉพาะสปอนเซอร์ในสินค้าที่ตัวดาราเป็นพรีเซ็นเตอร์ให้อยู่ เพราะการออกมา ย่อมเสี่ยงถูกตีความว่าเป็นการแสดงจุดยืนทางการเมือง หรือถึงขั้นถูกตีตราว่าเลือกข้าง ซึ่งย่อมมีบุคคลที่เห็นต่างจากจุดยืนอย่างแน่นอน จึงมีไม่น้อยที่ประเมินแล้วว่าอาจได้ไม่คุ้มเสีย

เช่นเดียวกับช่วงการชุมนุมของ “กลุ่มกปปส.” ในช่วงปี 2557 มีทั้งนักแสดง นักร้อง จำนวนหนึ่งขึ้นเวทีแสดงความเห็นทางการเมืองเช่นกัน แต่ในช่วงเวลาดังกล่าวโลกโชเซียลมีเดียยังไม่แพร่หลายมากนัก กระแสจากดาราแม้จะมีอยู่บ้าง แต่ไม่รุนแรงเท่าปัจจุบัน

ทว่า การบริหารสถานการณ์โควิด-19 ผิดพลาด-ล้มเหลว ไม่ใช่จุดยืนทางการเมือง แต่เป็นจุดยืนที่แสดงออกมา เพื่อช่วยเรียกร้องสิทธิของประชาชน ทั้งการเข้ารับการรักษา การเข้าถึงวัคซีนที่มีคุณภาพ และการบริหารสถานการณ์ที่มีประสิทธิภาพ เป็นต้น การออกมา Call out ของดาราจึงมีน้ำหนัก และเป็นที่น่าสนใจ

ต้องยอมรับว่าการแสดงความเห็นของดารามักจะถูกนำไปขยายความต่อ และมีพลังอย่างมาก เพราะหลายคนเป็นไอดอล-เป็นแบบอย่างที่ประชาชน-แฟนคลับค่อนข้างเชื่อถือ แถมบางคนยังประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานและครอบครัว

จึงไม่แปลกที่การออกมา Call out ของดาราค่อนข้างเป็นประเด็นที่อ่อนไหว และค่อนข้างอันตรายต่อ “รัฐบาล” ซึ่งยิ่งนับวันดาราออกมา แสดงจุดยืนมากยิ่งขึ้น และมีกระแสเรียกร้องให้ดาราที่ยังไม่ Call out ยิ่งทำให้รัฐบาลระแวงไม่น้อย

เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ ออกอาการหวั่นไหวกับความเคลื่อนไหวในปรากฎการณ์ใหม่เช่นนี้ บรรดาองครักษ์พิทักษ์ “นาย” จึงต้องออกมาปกป้อง โดยใช้กฎหมายเข้าเล่นงาน 

โดยเฉพาะ “อภิวัฒน์ ขันทอง” ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่พกยี่ห้อ “ทนายนายกฯ” มากับตัว แจ้งความดำเนินคดี “มิลลี่” น.ส.ดนุภา คณาธีรกุล แร็พเปอร์วัย 18 ปี ซึ่ง “มิลลี่” ยอมรับผิด โดนเปรียบเทียบปรับ 2,000 บาท

ทว่าการที่ “ทนายนายกฯ” ลงไปเป็นคู่ขัดแย้งกับประชาชนในสังคม ย่อมกระเทือนต่อภาพลักษณ์ของ พล.อ.ประยุทธ์ ไปด้วย หนำซ้ำจะยิ่งถูกนำไปขยายแผลต่อ ชอตแจ้งเอาผิด “มิลลี่” ได้ แม้ทางคดีจะชนะ แต่ทางการเมืองแพ้ราบคาบ

นอกจากนี้ ยังมีกรณีของ “สนธิญา สวัสดี” ที่ปรึกษากรรมาธิการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชนสภาผู้แทนราษฎร ยังแจ้งความดำเนินคดีดารา Call out  กว่า 20 คน แต่โดนกระแสตีกลับ เพราะบรรดาคนดังตามรายชื่อ ประกาศสวน ไม่กลัวโดนแจ้งความแถมยังส่งสารท้ารบ จะแจ้งความดำเนินคดีกลับ

ที่สำคัญเบอร์ใหญ่อย่าง “ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์” รมว.ดีอีเอส ออกมาเตือน “ดารา-อินฟูเอนเซอร์” ที่โพสต์บิดเบือน-โจมตีรัฐบาล อาจจะเข้าข่ายมีความผิด ยิ่งเติมเชื้อไฟให้ลุกโชนเข้าไปอีก กระแสในโชเซียลมีเดีย จึงหันไปโจมตี “ชัยวุฒิ” กระหน่ำไม่ยั้ง

แถมยังตั้งคำถามถึงหน้าที่ของ “ชัยวุฒิ-ดีอีเอส” ที่ควรพัฒนาเทคโนโลยี-พัฒนาระบบการสื่อสารของประเทศ ตามหน้าที่ของกระทรวงดีอีเอส ไม่ใช่มาไล่จับ-ไล่ขู่ดารา 

ปรากฎการณ์ Call-out ที่กำลังคึกคักในบ้านเรา หากไปดูกรณีในต่างประเทศ มีงานศึกษาเรื่อง How Dictators Control the Internet หรือ “เผด็จการควบคุมอินเทอร์เน็ตอย่างไร” โดย Eda Keremoğlu และ Nils B. Weidmann ที่เผยแพร่เมื่อ 23 มีนาคม 2563  (https://journals.sagepub.com/doi/10.1177/0010414020912278 ) ก็จะเห็นถึงบริบทที่กำลังเกิดขึ้นในรูปแบบต่างๆ  

ข้อมูลที่ได้จากการศึกษา ชี้ให้เห็นรูปแบบที่รัฐบาลแต่ละประเทศใช้การควบคุม 3 ระดับ ได้แก่ ระดับโครงสร้างพื้นฐาน ระดับโครงข่ายสัญญาณ และระดับแอพพลิเคชัน 

ระดับโครงการสร้างพื้นที่ฐาน ผลการศึกษาชี้ไปในทางเดียวกันว่า เผด็จการส่วนมากมีความรู้ในประเด็นดังกล่าวอย่างจำกัด แต่ในช่วงที่ผ่านมา รัฐบาลเหล่านี้ก็พัฒนาตัวเองมากขึ้น จนสามารถควบคุม ให้เกิดการชัตดาวน์ได้อย่างทันท่วงที เมื่อเชื่อว่าจะเป็นภัยต่อรัฐบาล

ระดับโครงข่ายสัญญาณ พบว่ารัฐบาลสามารถบิดเบือน และปิดกั้นข้อมูลที่เป็นภัยต่อความมั่นคงได้ แทบในช่วงเวลาจริง จากแนวนโยบายเซ็นเซอร์ข้อมูลต่างๆ รวมไปถึงการเฝ้าติดตาม สอดส่องประชาชนที่เห็นต่าง และเก็บเป็นข้อมูลเพื่อดำเนินการต่อไป

ระดับแอพพลิเคชัน พบว่าเกิดการแทรกแซงด้วยรูปแบบ การควบคุมและเซ็นเซอร์เนื้อหาในแอพพลิเคชัน ควบคุมแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียให้ประชาชนไม่เกิดความสงสัยในประเด็นอ่อนไหว ด้วยการใส่ข้อมูลก่อกวนจำนวนมากเข้าไปในระบบ เพื่อควบคุมทิศทางการสื่อสาร

 ผลการศึกษา  “เผด็จการควบคุมอินเทอร์เน็ตอย่างไร” ได้สะท้อนให้เห็นว่า รัฐบาลของแต่ละประเทศ พยายามควบคุมความเคลื่อนไหวในโลกโซเชียลมีเดีย แต่ยุคนี้ก็ยากที่จะเอาชนะได้ เพราะช่องทางจากการรับข้อมูลข่าวสารของประชาชนมีหลากหลาย 

ดังนั้นการที่เครือข่ายของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่ออกมาเคลื่อนไหวใช้กฎหมายเอาผิดดารา คนดัง โดยมีจุดประสงค์เพื่อหยุด-ยับยั้งการ Call out นอกจากกระแสจะไม่เบาลงหรือยุติ กลับยิ่งเพิ่มให้อุณหภูมิการเมืองร้อนแรงกว่าเดิม

ความเคลื่อนไหวของ “ทีมองครักษ์พิทักษ์นายกฯ” จึงเสมือนการราดน้ำมันใส่กองไฟ ที่กำลังลามมาเผาตัวเอง