สำนักงบโต้กลับสธ.เบิกจ่ายไม่เข้าหลักเกณฑ์

สำนักงบโต้กลับสธ.เบิกจ่ายไม่เข้าหลักเกณฑ์

สำนักงบโต้สธ.อนุมัติงบเสี่ยงภัยโควิดบุคลากรการแพทย์ล่าช้า เหตุขอเบิกจ่ายไม่เข้าหลักเกณฑ์ โดยขอเพิ่มตามจำนวนคนไข้กว่า 2.6 พันล้านบาท ขณะที่ อนุมัติแล้ว 4.2 พันล้านบาท อ้างอิงจากงบเบิกจ่ายเดิมเมื่อต้นปี

นายเดชาภิวัฒน์ ณ สงขลา ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณเปิดเผยกรณีที่กระทรวงสาธารสุข(สธ.)ส่งหนังสือเร่งให้สำนักงบประมาณอนุมัติงบกลางจำนวน 6.8 พันล้านบาท เพื่อจ่ายเป็นค่าเสี่ยงภัยแก่บุคลากรทางการแพทย์และวัสดุอุปกรณ์เยียวยาผลกระทบจากการแพร่ระบาดโควิด-19ว่า ทางสธ.ได้ทำหนังสือมาถึงสำนักงบประมาณเพื่อเร่งให้มีการอนุมัติงบประมาณในส่วนดังกล่าวจริง ซึ่งทางสำนักงบก็ได้อนุมัติไปแล้วในเช้าวันนี้(22ก.ค.)จำนวนประมาณ 4.2 พันล้านบาท ยังเหลืออีกงบที่ยังไม่ได้อนุมัติอีกราว 2.6 พันล้านบาท

ทั้งนี้ ทางสธ.ได้ทำหนังสือดังกล่าวมาถึงสำนักงบในช่วงเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา แต่ทางสำนักงบประมาณยังไม่สามารถอนุมัติการเบิกจ่ายได้ เนื่องจาก ทางสธ.ไม่ได้มีหลักฐานการเบิกจ่ายที่ครบถ้วนตามระเบียบการเบิกจ่ายเงินของกระทรวงการคลัง นอกจากนี้ ทางสธ.ยังแจ้งในหนังสือถึงการเบิกจ่ายที่รวมถึงจำนวนคนไข้ที่เพิ่มขึ้น ซึ่งในระเบียบกระทรวงการคลังไม่ได้มีการนับรวมค่าใช้จ่ายสำหรับการดูแลคนไข้ไว้ด้วย

“เราเข้าใจว่า บุคลกากรทางแพทย์ต้องทำงานหนักกันมากขึ้นกรณีที่คนไข้โควิด-19 เพิ่มมากขึ้น แต่เราไม่สามารถอนุมัติงบประมาณสำหรับการดูแลคนไข้ที่มากขึ้นได้ เพราะในระเบียบจะกำหนดว่า หมอหรือบุคลากรทางการแพทย์จำนวน 1 คน ทำงานกี่ชั่วโมงต่อวัน ก็จะสามารถเบิกค่าใช้จ่ายหรือค่าล่วงเวลาได้ตามจำนวนเวลาที่ทำงาน แต่ไม่สามารถเบิกได้เพิ่มขึ้นหากหมอต้องดูแลคนไข้มากขึ้น”

ทั้งนี้ เพื่อให้การเบิกจ่ายไม่ชะงักและสามารถดูแลบุคลากรทางการแพทย์ได้โดยเร็ว ทางสำนักงบได้อนุมัติงบไปจำนวน 4.2 พันล้านบาท โดยอ้างอิงการผลเบิกจ่ายในงวดแรกเมื่อเดือนม.ค.ที่ผ่านมาที่ได้อนุมัติไปแล้วจำนวน 4.6 พันล้านบาท ซึ่งทางสธ.จะต้องจัดส่งหลักฐานเอกสารการเบิกจ่ายจริงมาให้สำนักงบประมาณอีกครั้ง เพื่อเตรียมไว้กรณีที่สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินอาจจะเข้ามาตรวจสอบการเบิกจ่ายในภายหลัง

เขากล่าวด้วยว่า ค่าใช้จ่ายดังกล่าว เป็นค่าใช้จ่ายสำหรับการดูแลการเสี่ยงภัยของหมอและบุคลากรทางการแพทย์เท่านั้น ไม่เกี่ยวกับค่าใช้จ่ายด้านครุภัณฑ์ ดังนั้น กรณีที่สธ.ระบุว่า การเบิกจ่ายงบดังกล่าวไม่ได้ ทำให้ส่งผลกระทบต่อการจัดซื้อครุภัณฑ์เพื่อดูแลโควิด-19 จึงไม่ใช่เรื่องจริง โดยงบดังกล่าวจะขอใช้จากงบกลางปีงบประมาณ 2564 ส่วนงบที่ใช้ซื้อครุภัณฑ์ส่วนใหญ่จะขอใช้จากงบเงินกู้ฉุกเฉิน 1 ล้านล้านบาท ซึ่งเข้าใจว่า ตอนนี้ งบนี้จะเหลือประมาณ 1 หมื่นล้านบาท จากวงเงิน 4.5 หมื่นล้านบาท

ด้านนายประภาศ คงเอียด อธิบดีกรมบัญชีกลางกล่าวว่า เมื่อสำนักงบประมาณอนุมัติการเบิกจ่ายงบประมาณส่วนดังกล่าวแล้ว ทางกรมบัญชีกลางจะทำการจ่ายเงินผ่านระบบ GFMIS ให้แก่สธ.ทันที