‘เงินบาท’ วันนี้เปิด‘อ่อนค่า’ ที่ 32.88 บาทต่อดอลลาร์

‘เงินบาท’ วันนี้เปิด‘อ่อนค่า’ ที่ 32.88 บาทต่อดอลลาร์

โควิด-19 ในไทยยังมีแนวโน้มุรนแรงมากขึ้น หากจุดเลวร้ายยังมาไม่ถึง นักลงทุนต่างชาติยังทยอยขายสินทรัพย์ในไทย และจับตาทิศทางดอลลาร์แข็งค่าหลัง หลังตลาดการเงินกลับมาเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น กดบาทอ่อนค่าต่อได้

นายพูน พานิชพิบูลย์  นักวิเคราะห์ประจำห้องค้าเงินธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 32.88 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าลงจากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 32.86 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 32.80-32.95 บาทต่อดอลลาร์

สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท เรายังมองไม่เห็นโอกาสที่เงินบาทจะพลิกกลับมาแข็งค่าได้ในเร็วนี้ เนื่องจากปัญหาการระบาดของ โควิด-19 ในไทยยังมีแนวโน้มทวีความรุนแรงมากขึ้น และเรามองว่า จุดเลวร้ายสุดของการระบาดยังมาไม่ถึง ทำให้ เราคงประเมินว่า นักลงทุนต่างชาติก็ยังสามารถทยอยขายสินทรัพย์ไทย โดยเฉพาะหุ้นไทย ซึ่งแรงเทขายสินทรัพย์ไทยจากนักลงทุนต่างชาติยังคงกดดันให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงได้

อย่างไรก็ดี ในระยะสั้นนี้ หากตลาดคลายกังวล ปัญหาการระบาด โควิด-19 ทั่วโลก และกล้าเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น หนุนโดยรายงานผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนที่ออกมาแข็งแกร่งและดีกว่าคาด ก็อาจทำให้ เงินดอลลาร์กลับมาอ่อนค่าลง หลังผู้เล่นในตลาดไม่จำเป็นต้องถือสินทรัพย์ปลอดภัย (Safe Haven Asset) เพื่อหลบความผันผวนในตลาด ซึ่งการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ ก็อาจทำให้ เงินบาทไม่อ่อนค่าหนัก ทะลุ 33 บาทต่อดอลลาร์ได้เร็ว

ทั้งนี้ หากผู้ประกอบการมีความไม่มั่นใจต่อแนวโน้มค่าเงิน เรามองว่า ควรใช้จังหวะที่ความผันผวนของเงินบาทไม่ได้สูงมาก หลังจากที่เงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบที่ไม่กว้างนัก ในการพิจารณาใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงค่าเงินที่หลากหลายมากขึ้น อาทิ Options เพื่อช่วยให้การบริหารความเสี่ยงมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ตลาดการเงินโดยรวมยังเดินหน้าเปิดรับความเสี่ยง (Risk-On) มากขึ้น หนุนโดยความหวังผลกำไรบรรดาบริษัทจดทะเบียนในไตรมาส 2/2021 ที่อาจออกมาแข็งแกร่งและดีกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ โดยในฝั่งสหรัฐฯ ตลาดหุ้นได้รับแรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มเทคฯ หลังผลประกอบการส่วนใหญ่ออกมาดีเกินคาดและบอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ก็ยังคงทรงตัวใกล้ระดับ 1.28% ส่งผลให้ ดัชนี Nasdaq ปิดบวกราว +0.36% อย่างไรก็ดี ข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ออกมาแย่กว่าคาด อาทิ ยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานครั้งแรก (Initial Jobless Claims) ปรับตัวขึ้นสู่ระดับกว่า 4.2 แสนราย มากกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้มาก รวมถึงปัญหาการระบาดของ โควิด-19 ในสหรัฐฯ ที่ปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง ได้กดดันให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนทยอยขายทำกำไรหุ้นในกลุ่ม Cyclical ออกมาบ้าง กดดันให้ ดัชนี S&P500 ปรับตัวขึ้นราว +0.20% ส่วน ดัชนี Dowjones ปิดตลาดเพียง +0.07% หนุนโดยกาปรับตัวขึ้นของหุ้นในกลุ่ม Cyclical

ส่วนในฝั่งยุโรป แนวโน้มธนาคารกลางยุโรป (ECB) เดินหน้าใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายต่อไป ทั้งการอัดฉีดสภาพคล่องหรือการทำคิวอีที่จะเดินหน้าต่อไปจนถึงช่วงไตรมาส 1 ของปีหน้า และการขึ้นดอกเบี้ยที่อาจเริ่มขึ้นได้ปลายปี 2023 ได้หนุนให้ ดัชนี STOXX50 ของยุโรป ปรับตัวขึ้น +0.80% โดยได้รับแรงหนุนจากความหวังรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนเช่นกัน โดยเฉพาะหุ้นในกลุ่มเทคฯ ที่ตลาดมองว่า ผลกำไรจะออกมาโดดเด่น เช่นเดียวกับหุ้นในกลุ่ม Cyclical ทำให้ หุ้นกลุ่มเทคฯ ปรับตัวขึ้นแรง หนุนตลาดหุ้นยุโรปโดยรวม Adyen +4.66%, ASML +3.62%, Prosus +1.55%

ในฝั่งตลาดบอนด์ แม้ว่า ภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาด ได้ส่งผลให้ผู้เล่นในตลาดเริ่มทยอยขายทำกำไรการถือครองบอนด์ระยะยาวออกมาบ้าง ทว่า ความกังวลปัญหาการระบาดของ โควิด-19 ก็ยังมีอยู่บ้าง ทำให้ บอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ยังคงทรงตัวใกล้ระดับ 1.28%

ส่วนในฝั่งตลาดค่าเงิน แม้ว่าตลาดจะเดินหน้าเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น แต่แนวโน้มนโยบายการเงินของธนาคารกลางยุโรปที่ยังคงผ่อนคลายลง ประกอบกับความกังวลปัญหาการระบาดของโควิด-19 ที่ยังมีอยู่ในตลาด ได้หนุนให้เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ทำให้ล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 92.82 จุด ส่วนสกุลเงินหลัก อาทิ เงินยูโร (EUR) อ่อนค่าลงสู่ระดับ 1.174 ดอลลาร์ต่อยูโร ชณะที่ เงินปอนด์ (GBP) สามารถปรับตัวขึ้น สู่ระดับ 1.377 ดอลลาร์ต่อปอนด์ ท่ามกลางความหวังการฟื้นตัวเศรษฐกิจ หลังรัฐบาลอังกฤษเดินหน้าผ่อนคลายมาตรการ Lockdown แม้ว่ายอดผู้ติดเชื้อจะยังคงเพิ่มขึ้นก็ตาม

สำหรับวันนี้ ตลาดจะติดตามแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจผ่านดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตอุตสาหกรรมและการบริการ (Markit Manufacturing and Services PMIs) ในเดือนกรกฎาคม

โดยในฝั่งสหรัฐฯ ตลาดมองว่า แนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงสดใส ทำให้ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตอุตสาหกรรมและการบริการ (Manufacturing & Services PMIs) ในเดือนกรกฎาคม จะอยู่ที่ ระดับ 62 จุด และ 64.5 จุด ตามลำดับ (ดัชนีเกิน 50 จุด หมายถึง ภาวการณ์ขยายตัว) สะท้อนว่า ภาคการผลิตและการบริการของสหรัฐฯ ยังสามารถขยายตัวได้ดีอยู่

ส่วนทางด้านฝั่งยุโรป แม้ยุโรปจะพบยอดผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นรวดเร็ว แต่ยอดผู้เสียชีวิตหรือป่วยหนัก กลับยังไม่ได้เพิ่มขึ้นไปมาก ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากการเร่งแจกจ่ายวัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูง อย่าง mRNA และ Viral vector ซึ่งภาพดังกล่าวจะช่วยให้ยุโรปอาจไม่ต้องใช้มาตรการ Lockdown ที่เข้มงวด ส่งผลให้เศรษฐกิจเดินหน้าฟื้นตัวดีขึ้น โดยภาคการผลิตและการบริการในยุโรปก็มีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง สะท้อนผ่านดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตอุตสาหกรรมและการบริการในเดือนกรกฎาคม ที่มีแนวโน้มปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 62.5 จุด และ 59.3 จุด ตามลำดับ

และในฝั่งไทย ภาคการส่งออกยังเป็นปัจจัยสำคัญต่อการฟื้นตัวเศรษฐกิจไทย โดยในเดือนมิถุนายน ยอดการส่งออก (Exports) อาจจะโตกว่า 38%y/y หนุนโดยความต้องการสินค้าอิเล็กทรอนิกส์, แผงวงจร IC, ยานยนต์และชิ้นส่วน รวมถึงสินค้าเกษตร ส่วนยอดการนำเข้า (Imports) ก็มีแนวโน้มขยายตัวกว่า 50%y/y ตามราคาสินค้าพลังงานที่อยู่ในระดับสูงและความต้องการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบเพื่อการผลิตและส่งออกต่อ ทั้งนี้ โดยรวมดุลการค้า (Trade Balance) ยังคงเกินดุลไม่น้อยกว่า 540 ล้านดอลลาร์ นอกเหนือจากรายงานยอดส่งออก ตลาดจะติดตามสถานการณ์การระบาดของ โควิด-19 ที่มีแนวโน้มเลวร้ายต่อเนื่อง ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดแรงเทขายสินทรัพย์ไทย กดดันให้ค่าเงินบาทมีทิศทางผันผวนและอ่อนค่าลงต่อได้