เสียงจากอาสาฯ ‘โควิด’ ชีวิตที่แขวนบน ‘เส้นด้าย’

เสียงจากอาสาฯ ‘โควิด’ ชีวิตที่แขวนบน ‘เส้นด้าย’

เปิดใจอาสา “เส้นด้าย” กลุ่มคนตัวเล็กแต่หัวใจใหญ่ กับการทำงานช่วยเหลือผู้ป่วย “โควิด” ในสถานการณ์ที่ต้องตั้งคำถามกันถึงสิทธิของการมีชีวิตอยู่ของผู้ป่วย หยาดเหงื่อและคราบน้ำตาของ “อาสาสมัคร” ท่ามกลางการบริหารจัดการด้านสาธารณสุขที่ลุ่มๆ ดอนๆ

ขณะที่สถานการณ์โควิด-19 ทำให้ทุกคนต้องพยายามกอดตัวเองให้แน่น แต่ยังมีคนอีกหลายกลุ่มเสียสละชีวิตส่วนตัวทำเพื่อส่วนรวม ตอนนี้น่าจะเป็นช่วงเวลาที่ท้าทายที่สุดสำหรับกลุ่มคนที่ได้ชื่อว่า อาสาสมัคร ทั้งจำนวนผู้ป่วยระดับนิวไฮต่อเนื่อง ทั้งเรื่องการบริหารของภาครัฐที่คนจำนวนไม่น้อยยังค้างคาใจ ทุกอย่างไม่เอื้อให้ “อาสาสมัคร” ทำงานได้ง่าย มิหนำซ้ำยังบั่นทอนให้พวกเขาเหนื่อยกว่าเก่า เศร้ากว่าเดิม

  • “เส้นด้าย” ได้ที่ไม่ใช้เส้น

หนึ่งในกลุ่มอาสาสมัครที่ทำงานด้าน โควิด อย่างกลุ่ม เส้นด้าย คืออีกแรงขับเคลื่อนในภาวะที่ผู้คนมากมายกำลังรอคอยการช่วยเหลือไม่ว่าจะเป็นการหาเตียง การเข้าถึงการรักษา การดูแลตัวเองและคนในครอบครัว ที่แม้พวกเขาจะไม่ได้สิ้นหวังที่จะมีชีวิต แต่กลับสิ้นหวังกับการช่วยเหลือที่ยังเข้าไม่ถึง

งานอาสาเกี่ยวกับ “โควิด” มุมหนึ่งคือการได้มอบความหวังให้ผู้ป่วยอีกครั้ง แต่อีกด้านคือความเสี่ยงขั้นสุด หากพลาดเพียงเล็กน้อยอาจหมายถึงการติดเชื้อ

นฤธัช ศรีบุญเรือง ผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มเส้นด้าย อดีตเจ้าของกิจการบริษัททัวร์และเป็นอาสากู้ภัยของมูลนิธิร่วมกตัญญู ถึงตอนนี้ธุรกิจจะหยุดชะงักลง แต่ด้วยจิตอาสาที่มีอยู่ในจิตวิญญาณทำให้เขามาเข้าร่วมเป็นทีม “เส้นด้าย”

“ตั้งแต่การระบาดระลอก 3 บริษัททัวร์ของผมได้รับผลกระทบ 100 เปอร์เซ็นต์ บริษัทก็ปิดตัวลง เลยชักชวนเพื่อนๆ กันเพื่อมาดูแลผู้ป่วยโควิด เนื่องจากภาครัฐดูแลไม่ทั่วถึง”

วิกฤตที่หนักข้อขึ้นทุกวัน ทำให้ อภิวัฒน์ ด่านศรีชาญชัย อีกหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มเส้นด้าย มองไปข้างหน้าว่าจำเป็นจะต้องรีบตัดจบปัญหานี้ก่อนที่จะมีคนตายมากขึ้น แต่ตัวเลขผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตที่พุ่งราวกับจรวด เป็นสัญญาณว่าป้อมปราการด้านสาธารณสุขได้พังทลายลงแล้ว พวกเขาจึงอาสามาเป็นฟันเฟืองของการช่วยเหลือเท่าที่จะทำได้

“คนของเส้นด้ายจะมีหน้าที่คนละหลายอย่างมาก อย่างผมก็จะดูเรื่องคิวรถ บริหารการปล่อยรถ ตอนเช้าจะส่งคนไปตรวจ ช่วงบ่ายส่งคนติด แล้วคอยจัดรถว่าคันไหนว่าง และประสานงานต่างๆ ช่วงหลังก็ต้องขับกันเองเพราะคนไม่พอ รถไม่พอ บางโรงพยาบาลมีข้อจำกัดว่ารับผู้ป่วยถึงแค่ห้าโมงเย็น สมมติอนุมัติมา 20 เคส ถามว่าจะวิ่งอย่างไรให้ทัน บางทีรถเหลือแต่คนไม่พอ”

162695471710

ตอนนี้สมาชิกเส้นด้ายมีไม่น้อยกว่า 50 คน นับเฉพาะที่เห็นหน้าเห็นตาและอยู่ในกลุ่มไลน์ แต่ยังมีอาสาสมัครเส้นด้ายอีกมากมายกระจายอยู่ตามพื้นที่ต่างๆ บางคนเป็นผู้ป่วย “โควิด” ที่หายแล้วก็มี โดยที่ทุกคนมีหน้าที่รับโทรศัพท์ร้องทุกข์และขอความช่วยเหลือ ซึ่งก็ยังไม่เพียงพอต่อการขอความช่วยเหลือที่ติดต่อเข้ามา

อัตราส่วนอาสาสมัครต่อสายที่โทรเข้ามาคือ 1 ต่อ 5 หรือมากกว่าในหลายช่วง ระหว่างที่พวกเขารับสาย มี Missed Call อีก 5 คนขึ้นไป เมื่อวางสายและจะโทรกลับไปก็มีอีกสายเข้ามาทันที เป็นอย่างนี้ตลอดทั้งวัน ทุกวัน

“พอเป็นแบบนี้อาจจะมีหลุดบ้าง แต่โดยหลักการเราจะไม่ทอดทิ้งทุกสาย เรารับทุกคน ดันทุกเคส ไม่มีเคสไหนที่เราเห็นว่าไม่สำคัญเลยนะ ป่วยเคสเขียวเราก็ช่วย ช่วยยันเคสแดง” อภิวัฒน์ กล่าว

ตัวเลขสมาชิกกว่า 50 ที่มีทีท่าจะเพิ่มขึ้นไปอีกหลายเท่า ส่วนหนึ่งคือจากความต้องการช่วยเหลือ แต่อีกเหตุผลคือ “ความไม่พอใจการบริหารจัดการ” แม้จะเป็นพลังงานด้านลบแต่กลับมีพลังมากหากถูกนำมาใช้อย่างถูกวิธี ภูวกร ศรีเนียน ผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มเส้นด้ายอธิบายว่ามีหลายคนรับไม่ได้กับสิ่งที่เกิดขึ้น ภาพคนเจ็บป่วย ตาย แถมยังเห็นความเหลื่อมล้ำบางอย่างที่คนไม่มีเส้นจะต้องประสบพบเจอ กระทั่งต้องปล่อยมือที่กอดตัวเองมายื่นมือช่วยเหลือคนอื่น

“สิ่งที่ทำให้หลายคนลุกขึ้นมาทำ ส่วนหนึ่งคือความโกรธของสังคม คนที่เข้ามาร่วมหลังๆ ที่เราไม่รู้จัก บางคนเดินเข้ามาแบบงงๆ อย่างคำว่า “อาสา” ก่อนมีโควิด มันดูเป็นเรื่องเข้าถึงยาก แต่พอมาเส้นด้ายเขามาประสานงาน มารับโทรศัพท์ ทำกับข้าว มีให้ทำทุกอย่าง ยอมเสียสละเวลาตัวเอง”

แม้ว่าสมาชิกของกลุ่มนี้จะมีทั้งคนที่มีสตางค์และมีวิธีการระดมทุนโดยขายสินค้าเพื่อนำมาใช้ทำงานอาสา แต่ว่าก็ยังมีสิ่งที่ขาดและต้องการอย่างมาก จนต้องเอ่ยปากบอกไปยังผู้ที่มีกำลังมากพอที่จะสนับสนุน นั่นคือ รถสำหรับขนคนไปตรวจ ไม่ว่าจะเป็นรถกระบะที่มีหลังคาสูง หรือแม้กระทั่งรถสองแถว

“เราขาดรถกระบะ ที่มีหลังคาด้านหลังหรือรถสองแถวยิ่งดีเพราะขนจำนวนคนได้เยอะ เราไม่ได้ขอนะ แค่ยืมใช้จนหมดโควิด แล้วเราก็พร้อมที่จะทำความสะอาด ฆ่าเชื้อ ถ่ายน้ำมันเครื่องคืนเขาได้เสมอ เราจะดูแลเป็นอย่างดี ยิ่งมีมากก็ยิ่งช่วยได้มาก คิดดูว่าบางวันต้องขนคนทั้งบ้านไปตรวจ 10 คน ปกติผมจะใช้รถสองสามคัน ก็เหลือแค่คันเดียว สมมติอนุมัติมา 100 เคส เราไล่เก็บเลย พอเต็มคันปุ๊บขึ้นทางด่วนรถโรงพยาบาล กลับมาทำความสะอาดรถทีเดียว ง่ายมาก”

162695471662

  • รัฐซ้ำกรรมซัด

อันที่จริงการทำงานของอาสาสมัครควรจะเป็นเพียงกำลังเสริมให้การทำงานของภาครัฐซึ่งเป็นหน่วยงานหลัก แต่สถานการณ์ “โควิด” อันหนักหนา ทำให้บทบาทของหน่วยหลักหน่วยรองต้องอิรุงตุงนังไปหมด ปัจจัยหนึ่งที่สร้างคอขวดให้ปัญหานี้คือการบริหารจัดการที่ล้มเหลว

“เรื่องแรกคือสถานที่ตรวจ ตามมาด้วยเรื่องเตียง สถานที่ตรวจก็คือเมื่อก่อนช่วงเมษา-พฤษภา พวกผมจัดรถไปรับคนตีห้าได้คิว เดี๋ยวนี้ต้องตีสาม ต้องเสี่ยงตำรวจจับด้วยเพราะเคอร์ฟิว” นฤธัช เปิดประเด็นปัญหาที่ติดขัด

จากกำลังเสริม จนกระทั่งกลายเป็นส่วนหนึ่งของกำลังหลัก “เส้นด้าย” ทำงานแบบเอกเทศมาตลอด ภูวกรยืนยันว่าไม่เคยมีหน่วยงานภาครัฐใดเข้ามาสนับสนุนด้านต่างๆ มิหนำซ้ำยังมีหลายหน่วยงานที่เข้ามาขอความช่วยเหลือจากเส้นด้าย

“บางที่มาขอความช่วยเหลือเราด้วยซ้ำไป หน่วยงานราชการเยอะมาก สาธารณสุขโทรมาบ่อยๆ ไม่รู้จะจัดการผู้ป่วยในเขตตัวเองอย่างไร ตำรวจก็มี โรงพยาบาลก็มีมาขอสนับสนุนรถเคลื่อนย้ายผู้ป่วย ไม่ใช่ว่าพวกเราเก่ง แต่มันสะท้อนถึงปัญหาการรับมือของภาครัฐว่าเอาเข้าจริงมันไม่พอ”

162695471767

ขั้นตอนทางราชการเป็นอีกปัจจัยของการทำงานติดขัดไม่คล่องตัว ยกตัวอย่างการปล่อยให้รถสักคันมารับผู้ป่วยนั้นต้องผ่านอะไรบ้าง นฤธัชยกตัวอย่างกรณีที่เคยเกิดขึ้นเมื่อไม่นานนี้ว่ามีผู้ป่วยคนหนึ่งต้องให้ออกซิเจนด่วน เลยแจ้งประสานไปที่ศูนย์เอราวัณ แต่ทางศูนย์ฯปล่อยรถออกมาไม่ได้ในขณะที่โรงพยาบาลบุษราคัมรับเคสนี้แล้ว จึงมาตกที่ “เส้นด้าย” ให้ประสานกลับไปยังโรงพยาบาลบุษราคัมเพื่อประสานไปที่ศูนย์เอราวัณว่าเคสนี้รับแล้ว ขอความช่วยเหลือด่วนเพราะรถที่ให้ผู้ป่วยนอนมาพร้อมการให้ออกซิเจนนั้นเกินขีดความสามารถของเส้นด้าย จะเห็นได้ว่าแทนที่จะลัดขั้นตอนเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยได้ไวที่สุด กลับต้องคุยกันไปมา

ด้านภูวกรยกอีกตัวอย่างที่เป็นคุณลุงป่วยติดเตียง โดยมีหน่วยงานรัฐอย่างกระทรวงพัฒนาความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เข้ามาเกี่ยวพัน

“ในชุมชนแออัดย่านบางซื่อ มีพ่ออายุ 74 ป่วยติดเตียง มีลูกชายกับสะใภ้ ลูกชายเป็นโควิดไปอยู่สถานรักษาตัวแล้ว ลูกสะใภ้ก็เป็นโควิดแต่ไปไหนไม่ได้เพราะต้องอยู่ดูแลพ่อสามี ปัญหาคือพ่อสามีดันไม่มีผลเป็นโควิด พม. ก็ไม่รู้จะทำอย่างไร เพราะไม่มีกำลังจะขนย้าย พม. เลยโทรมาหาเส้นด้ายให้ช่วยพาลุงคนนี้ไปตรวจหน่อย เพราะถ้าคุณลุงคนนี้ไม่มีผลเป็นโควิด ระบบรถขนถ่ายของราชการ 1669 จะไม่ทำงาน เพราะระบบถูกวางไว้ให้ขนเฉพาะคนที่ป่วยแล้ว พอเป็นคนที่ยังไม่รู้ว่าป่วยโควิดหรือยัง พม. ก็เลยไม่มีรถที่กล้าขนคนกลุ่มนี้ เลยเหลือแค่เส้นด้ายที่ทำเช่นนั้นได้ในกรุงเทพฯ

พอจะไปขน ก็เข้าใจว่าราชการคุยกับราชการแล้วจะง่าย ปรากฏว่าพอไปถึงปุ๊บ โรงพยาบาลไม่รู้เรื่อง แล้วมาด่าพวกเราอีกว่ามาทำให้ระบบรวน ทำไมขนกันมา ญาติผู้ป่วยอยู่ไหน ทำไมไม่มาเซ็น ญาติเขาเป็นโควิดจะมาเซ็นได้อย่างไร สรุปราชการที่ขอให้เรามาช่วยแต่กลับถูกโรงพยาบาลด่าแล้วไล่กลับ สุดท้ายต้องขอความกรุณาถึง 3 ชั่วโมง อ้อนวอนถึงจะได้ตรวจ”

162695470623

  • ฮีโร่ที่มีหัวใจ

“เราไม่ใช่คนดีนะ ต้องบอกไว้ก่อนว่าพวกเราไม่ใช่คนดี แต่เราแค่อยากทำ ไม่ได้คิดตั้งแต่เริ่มตั้งกลุ่ม ไม่คิดว่ามันจะมาไกลขนาดนี้ คิดแค่ว่าขับไปส่งก็จบ” ภูวกรออกตัวถึงสิ่งที่อาสาสมัครอย่างพวกเขากำลังทำ โดยไม่อยากให้จับใจความถึงคำว่า “ดี” เพียงอย่างเดียว แต่เป็นสิ่งที่มนุษย์ควรทำเพื่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน แม้ว่าสิ่งที่พวกเขาทุ่มเททำอาจจะเข้าข่ายการเป็นฮีโร่เลยทีเดียว เพียงแต่ว่าพวกเขาเป็นซูเปอร์ฮีโร่ที่เป็นคนธรรมดา มีรอยยิ้ม มีน้ำตา และมีหัวใจ

ไม่ว่าพวกเขาจะแกร่งแค่ไหน แต่การปล่อยมือที่โอบกอดตัวเองเพื่อมารับมือกับปัญหาของคนอื่นนับจำนวนครั้งไม่ถ้วนในทุกวัน ก็คือการบั่นทอนจิตใจพวกเขามากทีเดียว

“เรื่องความกังวลว่าจะติดเชื้อไหมก็มี แต่พวกเราก็ต้องป้องกัน แต่ความเครียดที่พวกเราได้รับคือแรงกดดันจากประชาชนมากกว่า โทรมาขอเตียงเราก็สงสาร เราก็อยากให้ทุกคน แต่ที่เส้นด้ายไม่มีเตียง ก็ส่งต่อไปทางภาครัฐ ภาครัฐก็ไม่ตอบรับ พูดง่ายๆ คือไม่มีเตียง ในแต่ละวันมีคนขอเตียงมา 300-400 คน บางสายโทรมาบอกว่าแม่ติดโควิด จะให้รออยู่บ้านเหรอ จะให้คนอื่นติดไปกันด้วยเหรอ เราต้องบอกว่าเส้นด้ายเป็นเพียงผู้ประสานงานขอเตียง ซึ่งการพิจารณาให้เตียงไม่ใช่เราพิจารณา และตอนนี้เตียงก็แน่น ในสายเขาก็ร้องไห้ บอกเราว่าจะให้ฉันทำไง ให้ลูกฉัน สามีฉันติดด้วยเหรอ เราก็สะเทือนใจ ทุกคนเจอเหมือนกันหมด”

162695471454

สำหรับอภิวัฒน์ การที่คนโทรมาแล้วจั่วหัวร้องไห้ คือซีนที่เขาไม่อยากเจอแต่ก็ต้องเจอ

“มีเคสต่างด้าวที่หาที่รักษาไม่ได้ ทำอย่างไรก็หาไม่ได้ เขาก็โทรหาเลขาผมบอกว่าต่างด้าวก็คนนะ ทำไมถึงไม่เอาต่างด้าวไปรักษา สมมติในซอยนั้นมีคนไทยกับต่างด้าว เขาเห็นว่าทำไมผมพาคนไทยไปได้เตียง เขาก็ว่าผมแบ่งแยก ซึ่งมันไม่ใช่ ผมเห็นทุกคนเท่ากัน แต่ปลายทางที่รับเขาไม่รับ ต้องเข้าใจก่อนว่าไม่ใช่ว่าพอมีโควต้า 100 เตียงแล้วให้เส้นด้ายจิ้มไป 100 ชื่อ เราจะส่งชื่อไป 100 ชื่อ แล้วเขาจะตีกลับมาว่า นาย ก. รับ นาย ข. รับ นาย ค. ไม่รับ เขาไม่ได้บอกจำนวนแล้วให้เรากรอกชื่อเองนะ แล้วผมก็ส่งชื่อต่างด้าวคนนี้เข้าไปเช่นเดียวกับคนไทย แต่ในเมื่อระบบหลักโรงพยาบาลสนามเลือกรับคนไทย จะให้ผมทำอย่างไร ทำไมผมจะต้องมาแบกรับความกดดัน ไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสีย ผมช่วยล้วนๆ แล้วทำไมต้องเจออะไรแบบนี้”

ในทางกลับกัน เมื่อมีโรงพยาบาลไหนรับเคสต่างด้าว ก็จะมีคนไทยที่ว่าพวกเขาอีกว่าทำไมไม่ช่วยคนไทย เป็นแรงกดดันที่มาทั้งขึ้นทั้งล่อง ซึ่งเรื่องเกณฑ์การรับว่าใครจะได้เตียงหรือไม่ได้เตียง คนในเส้นด้ายยอมรับว่าไม่รู้เลย เพราะแต่ละวันโรงพยาบาลจะมีการรับเคสแตกต่างกัน บางวันรับน้อย บางวันรับเยอะ บางวันรับแต่คนไทย บางวันรับแต่ต่างด้าว บางวันไม่รับเลย หัวใจของอาสาสมัครก็ได้เพียงลุ้นว่าวันนี้จะมาแบบไหน

“ถ้าวันไหนพวกผมได้ยินว่า "รับทั้งหมดค่ะ" ผมรู้นะว่าโคตรเหนื่อย แต่ทุกคนยิ้มแก้มปริเลย เราต้องขับรถแบบบ้าคลั่งเลยแหละ ขับกันวันหนึ่งหายๆ ร้อยกิโลเมตร โคตรเหนื่อยนะแต่พวกผมยิ้มกันแบบมีความสุขมาก

แต่ถ้าวันไหนเขาไม่รับเลย เหนื่อยหนักกว่าเดิม คือเหนื่อยใจ นั่งกันอย่างนี้แป๊บๆ ก็หันไปคุยกันว่าเอาไงดีวะ ไม่มีเตียง ประชุมๆ ระดมสมองหาเตียงกันอย่างเดียว สู้รับหมดแล้ววิ่งรถเป็นพันๆ กิโลเมตรยังดีเสียกว่า คนที่มาขับรถเขาอยากขับนะ ทุกคนบอกว่าเห็นรอยยิ้มของผู้ป่วยของญาติ มีคนขอบคุณเขา พวกเขามีความสุข คนไข้บางคนร้องไห้เลยนะ ขอบคุณเราทั้งน้ำตาเลยที่ได้มารักษา บางคนรอมา 7 วันกว่าจะได้รักษา โทรไปหาโรงพยาบาลก็มีแต่บอกให้รอนะๆ จนมาเจอเส้นด้าย เราก็พยายามส่งต่อ คำขอบคุณของเขาเราสัมผัสได้ว่ามาจากความจริงใจมากๆ”

นอกจากแรงกายแรงใจที่ถูกลดทอนไปในทุกวันๆ การช่วยเหลือคนอย่างที่ “เส้นด้าย” ทำ กลับกลายเป็นความเสี่ยงด้านกฎหมายด้วยซ้ำ ภูวกรเล่าว่า “เคยมีเคสที่ไปช่วยแล้วระหว่างการขนย้ายผู้ป่วยเกิดออกซิเจนตกมาก แล้วโรงพยาบาลที่เขามีสิทธิประกันสังคมทีแรกก็ไม่ยอมรับ ต้องโทรไปด่าสามรอบจนยอมรับ ก็เกือบตายคารถเหมือนกัน เรื่องแบบนี้มันเกิดขึ้นเรื่อยๆ

แรงกดดันพวกนี้มันกลายเป็นทำให้พวกเราจิตตกอยู่ข้างในสะสมด้วยนะ อาจจะมีปัญหาสุขภาพจิตกันหมดแต่ไม่รู้ตัวหรอก แต่แปลกนะที่ทำมาร่วมสามเดือนจะมีการผิดพลาดอยู่เหมือนกันนับได้ประมาณสามครั้ง เราก็รู้สึกแย่ แต่ก็แปลกพออีกวันจะมีเรื่องดีมาให้รู้สึกว่าเราได้ช่วยคน มันจะเป็นแบบนี้เรื่อยๆ คือมีวันที่แย่ รู้สึกว่าทำได้ไม่ดี จะมีอีกวันที่เรารู้สึกว่าทำดีขึ้นมา เราจึงอยู่กับความเศร้าไม่นาน”

ส่วนอภิวัฒน์เสริมว่า “บางครั้งเหมือนจะบ้าแล้ว ไม่ไหวแล้ว เตียงก็ไม่มี ที่ตรวจก็ไม่มี ทำอะไรกันวะ วันดีคืนดีตรวจเยอะแต่ไม่มีเตียงรองรับ ไม่มีระบบอะไรรองรับสักอย่างเดียว”

162695471158

จะเห็นได้เลยว่าความเครียด ความกังวล ที่อาสาสมัครของ “เส้นด้าย” ต้องแบกรับ ล้วนเกิดจากความต้องการช่วยเหลือผู้ป่วยให้ได้มากที่สุด ถามว่าแทนที่จะต้องมาเหนื่อยและเสี่ยงแบบนี้ พวกเขาแค่อยู่เฉยๆ ดูแลตัวเองและคนรอบข้างไม่ดีกว่าหรือ คำตอบของทีมงานเส้นด้ายอย่างอภิวัฒน์น่าจะบอกได้หมด

“เพราะผู้ป่วยยังมีอยู่ พวกผมเลยทำอยู่ ถ้าพวกผมหยุดแล้วคนที่โทรหาพวกผมอยู่ทุกวันนี้เขาจะหันไปทางไหน จะมีสักกี่คนที่นั่งฟังเขาร้องไห้ จะมีสักกี่คนที่ปลอบเขา จะมีสักกี่คนที่โทรกลับไปติดตามเคสเขา”

หากต้องการร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการช่วยเหลือ ติดต่อได้ที่แฟนเพจเส้นด้าย คลิกที่นี่