‘โตเกียวเกมส์’ โอลิมปิกที่ไม่เหมือนเดิม

‘โตเกียวเกมส์’ โอลิมปิกที่ไม่เหมือนเดิม

โตเกียว 2020 จะเป็นการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่ไม่เหมือนครั้งไหน เพราะจัดขึ้นในช่วงที่โควิด-19 ระบาด นักท่องเที่ยวจำนวนมากถูกห้ามเข้าประเทศ งานเฉลิมฉลองอลังการถูกแทนที่ด้วยมาตรการควบคุมโรคอย่างเข้มงวด และแม้แต่แข่งชนะจะกอดกันแสดงความยินดีก็ไม่ได้

สำนักข่าวเอเอฟพีรวบรวมความพิเศษของโตเกียวเกมส์ที่จัดล่าช้ามาหนึ่งปี และแตกต่างกับการแข่งขันครั้งอื่นๆ

พิธีเปิดเบาๆ

พิธีเปิดโอลิมปิกในนครริโอเดอจาเนโรของบราซิล กรุงลอนดอน และกรุงปักกิ่งเคยสร้างความตื่นตะลึงให้โลกด้วยเอฟเฟคท์ตระการตา นักแสดงหลายพันคนออกลีลากันอย่างน่าตื่นตาตื่นใจท่ามกลางผู้ชมแน่นสนาม แต่พิธีเปิดโตเกียวเกมส์เวอร์ชันโควิดในวันที่ 23 ก.ค. ผู้จัดบอกว่า จะเป็นไปอย่าง “เรียบง่ายและออมมือกว่าเดิม” เพื่อลดความเสี่ยงติดเชื้อและ “เหมาะกับสถานการณ์”

คนร่วมงานก็น้อยลง โดยเมื่อเดือน ม.ค. ผู้จัดเคยเผยว่า พิธีเปิดและปิดมีนักกีฬาเข้าร่วมลดลง โดยพิธีเปิดจะมีนักกีฬามาร่วมเพียง 6,000 คนจากผู้เข้าแข่งขัน 11,000 คน คาดด้วยว่าพิธีเปิดโตเกียวเกมส์น่าจะมีมุมเศร้า รำลึกถึงผู้คนหลายล้านคนที่เสียชีวิตไปเพราะโควิด-19 ระบาด รวมถึงผู้เสียชีวิตจากเหตุแผ่นดินไหว สึนามิ และหายนะนิวเคลียร์ในญี่ปุ่นเมื่อปี 2554

ไม่มีการจูบเหรียญรางวัล

นักกีฬาจะต้องนำเหรียญรางวัลคล้องคอด้วยตนเอง และจูบเหรียญไม่ได้ เพราะต้องสวมหน้ากากบนแท่นรับรางวัล โอกาสที่จะมีโมเมนท์ตลกเหมือนตอนที่นักปั่น “แบรดลีย์ วิกกินส์” จู่ๆ ก็แลบลิ้นออกมาขณะบรรเลงเพลงชาติอังกฤษในโอลิมปิกที่ริโอจึงไม่น่าจะเกิดขึ้น

ภาพขำอื่นๆ ก็น่าจะทำได้ยากในโตเกียว เมื่อนักกีฬาจำเป็นต้องอยู่ห่างจากคนอื่น 2 เมตร ที่ริโอเคยมีภาพเรแกน สมิธ นักยิมนาสติกสหรัฐที่สูงเพียง 137 เซนติเมตร ถ่ายรูปคู่กับดีแอนดรูว์ จอร์แดน นักบาสเกตบอลสูง 211 เซนติเมตร ภาพนักกีฬาต่างขนาดกลายเป็นไวรัล เช่นเดียวกับภาพเซลฟี่คู่ระหว่างนักยิมนาสติกเกาหลีใต้และเกาหลีเหนือ

ปีนี้ถึงแม้ไม่ต้องมีกฎเว้นระยะ แต่ฝ่ายหลังก็มาไม่ได้ เพราะเกาหลีเหนือถอนตัวจากโตเกียวเกมส์เพื่อป้องกันไม่ให้นักกีฬาติดโควิด

คนน้อยลง

ญี่ปุ่นเคยหวังว่านักท่องเที่ยวจะทะลักเข้าประเทศในฤดูร้อนนี้ ช่วยกระตุ้นธุรกิจโรงแรม บริษัททัวร์ และคาเฟ่แมวหลายแห่งในกรุงโตเกียว แต่มติห้ามคนดูต่างชาติเข้าชมออกมาเมื่อหลายเดือนก่อน ถึงตอนนี้แทบจะทุกเกมแข่งโดยไม่มีคนดู

จำนวนคนเข้ามาญี่ปุ่นเพื่อร่วมโอลิมปิกและพาราลิมปิกไม่ว่าจะเป็นนักกีฬา โค้ช ทีมงานข้างสนาม เจ้าหน้าที่ สมาชิกคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (ไอโอซี) สื่อ และผู้ประกาศข่าว ลดลงครึ่งหนึ่งเหลือราว 68,500 คนจากเดิมที่คาดไว้ 200,000 คน

ผู้ร่วมงานส่วนใหญ่ถูกกำหนดให้อยู่แต่เฉพาะในที่พัก นักกีฬาแข่งเสร็จแล้วต้องอยู่ในหมู่บ้านโอลิมปิก 48 ชั่วโมงห้ามออกไปไหน ห้ามเที่ยวชมเมือง

ห้ามเชียร์

ในริโอ ทีมรักบี้ 7 คนของฟิจิร้องเพลงทั้งน้ำตาหลังคว้าเหรียญทองมาได้ เป็นเหรียญชัยแรกจากโอลิมปิก แต่ฤดูร้อนนี้หมดสิทธิไม่ว่าจะร้องเพลง ตะโกน หรือส่งเสียงเชียร์ ผู้ร่วมงานได้รับคำแนะนำให้ปรบมือ หรือเชียร์ด้วยวิธีการอื่นที่ไม่เสี่ยงกระจายละอองฝอย

ดอกไม้ไฟ ป้ายผ้า มาสคอต และแว่นตาสีสันฉูดฉาดถูกลดจำนวนลงด้วย เพื่อลดต้นทุนที่บานปลายออกไปมากเนื่องจากงานถูกเลื่อนมาหนึ่งปี

ระเบียบเข้มงวด

นักกีฬาต้องตรวจโควิดทุกวันและได้รับคำแนะนำให้มีปฏิสัมพันธ์ทางกายกับคนอื่นให้น้อยที่สุด สิ่งที่ต้องจับตาในหมู่บ้านนักกีฬาคือผู้จัดยังคงมีแผนแจกถุงยางอนามัย 160,000 ชิ้นต่อไป แต่ระบุว่า นักกีฬาจะได้รับแจกตอนขากลับเท่านั้นเพื่อให้นำไปใช้ในประเทศตนเอง

การกอด จับมือทักทาย และแตะมือไฮไฟว์ก็ไม่แนะนำให้ทำเช่นกัน ข้อดีคือช่วยลดโอกาสเกิดเหตุหมางใจ อย่างกรณี อิสลาม เอล เชอฮาบี นักยูโดชาวอียิปต์ไม่ยอมจับมือกับออส แซสซันจากอิสราเอล หลังตนเองตกเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ในโอลิมปิกที่ริโอ ผลก็คือเอล เชอฮาบีถูกคนดูโห่ สุดท้ายถูกส่งตัวกลับ ซึ่งเหตุการณ์แบบนี้จะไม่เกิดขึ้นกับโตเกียวเกมส์

ส่วนใครที่ฝ่าฝืนกฎคุมโควิดไม่ว่าจะเป็นนักกีฬา สื่อ หรือเจ้าหน้าที่คนอื่นๆ อาจเจอโทษขาดคุณสมบัติเข้าแข่งขัน หรืออาจถึงขั้นถูกส่งตัวกลับเลยก็ได้

กล่าวได้ว่ากว่าวันนี้จะมาถึงคนที่หนักใจที่สุดหนีไม่พ้น โทมัส บาค ประธานคณะกรรมการโอลิมปิกสากล ไม่กี่วันก่อนถึงกับเปิดใจว่า การเลื่อนงานอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนทำให้โตเกียวเกมส์ยุ่งยากกว่าที่คิดไว้ เพราะกรุงโตเกียวยังอยู่ภายใต้ภาวะฉุกเฉิน และประชาชนไม่เห็นด้วยกับการจัดงาน

“ตลอด 15 เดือนที่ผ่านมาเราต้องตัดสินใจหลายเรื่องจากความไม่แน่นอน มีข้อสงสัยทุกวัน ต้องคิดไตร่ตรอง หารือจนนอนไม่หลับกันหลายคืน โอลิมปิกส่งผลกับเรา ส่งผลกับผม แต่เมื่อมาถึงในวันนี้พวกเราต้องเชื่อมั่น ต้องทำให้เห็นว่าออกจากวิกฤตินี้ได้ สุดท้ายเราจะได้เห็นปลายสุดของอุโมงค์อันมืดมิด การยกเลิกไม่เคยเป็นตัวเลือกของเราอยู่แล้ว ไอโอซีไม่เคยทิ้งนักกีฬา เราจัดการแข่งขันเพื่อนักกีฬา"

ถึงสัปดาห์สุดท้ายโตเกียวเกมส์ยังมีมรสุมถาโถม พิธีเปิดจะไม่มีดนตรีของ เคโก โอยามาดา (คอร์เนเลียส) เนื่องจากเขาถอนตัวไปเมื่อวันที่ 19 ก.ค. หลังถูกวิจารณ์หนักจากบทสัมภาษณ์ในอดีตที่เคยล้อเลียนเพื่อนนักเรียนพิการ

“ผมเจ็บปวดมากที่รับงานโอลิมปิก โตเกียว 2020 และพาราลิมปิกมาโดยไม่ได้คิดถึงคนอื่น” เจ้าตัวระบุในแถลงการณ์ถอนตัว

ไม่เพียงเท่านั้น สปอนเซอร์ใหญ่อย่างโตโยต้า ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่สุดของโลกยังยกเลิกแผนออกอากาศโฆษณาที่เกี่ยวข้องกับโอลิมปิกทางโทรทัศน์ โดยให้เหตุผลว่า โตเกียวเกมส์จัดขึ้นโดยไม่เข้าใจประชาชน