'การเมือง' ฟาดงบกองทัพ ลดระดับ 'ความมั่นคง'

'การเมือง' ฟาดงบกองทัพ ลดระดับ 'ความมั่นคง'

คงต้องจับตา การพิจารณางบประมาณกลาโหม ในชั้นกรรมาธิการงบฯ ฝ่ายการเมือง จะรุกหนัก ถึงขั้นให้ 'เหล่าทัพ' ไปเจรจายืดผ่อนชำระค่างวดโครงการงบผูกพันหรือไม่

แม้โครงการจัดซื้อ “เรือดำน้ำ” ลำที่ 2 และ 3 วงเงิน 900 ล้านบาท ในปีงบประมาณ 2565 ของ “กองทัพเรือ” จะถูกชะลอไปแล้ว แต่ดูเหมือนยังไม่เพียงพอกับความต้องการของฝ่ายการเมือง เมื่อได้ทีเร่งรุกคืบ รีดงบประมาณจากโครงการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์อื่นๆ ของทุกเหล่าทัพให้ได้มากที่สุด
ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา

จะเห็นได้ว่ากองทัพต้องรับศึกหนัก เมื่อฝ่ายการเมืองมองว่ายุทโธปกรณ์เชิงยุทธศาสตร์ ไม่จำเป็นต่อสถานการณ์ปัจจุบันที่ภัยคุกคามจากสงครามขนาดใหญ่ในรอบประเทศยังไม่มีแนวโน้มจะเกิดขึ้น โดยเฉพาะยุคโควิดที่ถูกนำไปผูกโยงกับเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง จนกลายเป็นความชอบธรรมในการไล่บี้ลดงบประมาณกองทัพ

กระทั่งล่าสุด ในสถานการณ์โควิดที่วิกฤติหนัก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ได้สั่งจัดลำดับความสำคัญในการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ของแต่ละเหล่าทัพ ส่วนไหนไม่เร่งด่วนก็ขอชะลอไว้ก่อน และค่อยเดินหน้าจัดซื้อในปีถัดไป เพื่อนำงบประมาณไปแก้ปัญหาโรคระบาด และบรรเทาความเดือดร้อนให้ประชาชน ส่วนโครงการที่จำเป็นก็ไฟเขียวให้ดำเนินการต่อ

โดย “กองทัพเรือ” เป็นเหล่าทัพได้รับผลกระทบหนักสุด จากผลสืบเนื่องในการจัดซื้อเรือดำน้ำก่อนโควิด-19 ระบาด เพราะเป็นโครงการขนาดใหญ่ ต้องใช้เงินมหาศาล ทำให้เรือดำน้ำลำที่ 2 และ 3 ไปต่อไม่ได้ หลังงบประมาณถูกเฉือนในปี 63 ไปแล้ว 3,375 ล้านบาท ปี 64 จำนวน 3,925 ล้านบาท และล่าสุดปี 65 อีก 900 ล้านบาท ยังไม่รวมล่าสุด ที่เสนอถอนงบผูกพันเรือดำน้ำออกไปในชั้นกรรมาธิการฯ 

กองทัพเรือตกอยู่ในสภาวะกลืนเลือด เพราะนอกจากต้องใช้งบประมาณอย่างระมัดระวังมากที่สุด ยังต้องจัดสรรงบประมาณซ่อมบำรุง เพื่อยืดอายุใช้งานยุทโธปกรณ์แบบอื่น เพื่อดำรงความพร้อมรบให้อยู่ในระดับต่ำ สามารถดูแลอธิปไตย ปกป้องผลประโยชน์ทางทะเลควบคู่กับการช่วยเหลือประชาชน
ส่วนอีก 3 โครงการซึ่งเป็นทั้งงบผูกพัน และงบตั้งต้นใหม่ปีงบประมาณ 65 ของกองทัพเรือ ก็ถูกจับจ้องอย่างหนัก และหวังตัดให้เหี้ยนในชั้นกรรมาธิการฯ เช่นกัน ทั้งโครงการอากาศยานไร้คนขับ 4,100 ล้านบาท โครงการก่อสร้างศูนย์วิทยุควบคุมเรือดำน้ำ 300 ล้านบาท โครงการจัดซื้อเรือเอนกประสงค์กว่า 4,000 ล้านบาท

แหล่งข่าวกระทรวงกลาโหม ระบุว่า กระทรวงกลาโหม และเหล่าทัพ เห็นสภาพความจริงทั้งหมดว่า ในสภาวะเศรษฐกิจที่เป็นเช่นนี้ การเก็บภาษีไม่ได้ตามเป้า ก็ตระหนักถึงปัญหาที่จะตามมา จึงชะลอโครงการที่ไม่เร่งด่วนออกไป แต่โครงการเป็นงบผูกพัน ผ่านการอนุมัติ ครม.ไปแล้ว คงไม่สามารถยกเลิกได้ ก็เหมือนกับเรือดำน้ำ หากปีนี้ซื้อไม่ได้ ก็ชะลอ และไปซื้อในปีต่อไปเมื่อสถานการณ์เหมาะสม

ทุกอย่างให้เป็นไปตามกรรมาธิการงบฯ พิจารณา เหล่าทัพมีหน้าที่ชี้แจงเหตุผล และความจำเป็น เรารับรู้สภาพเศรษฐกิจของประเทศว่าเป็นอย่างไร โครงการไหนไม่เร่งด่วนก็ชะลอให้ ไม่ถึงกับต้องดึงดันที่จะเอาให้ได้ เพราะประชาชนกำลังเดือดร้อน ขณะนี้ทหารก็ไปช่วยประชาชน แต่ในส่วนอธิปไตยก็ละเลยไม่ได้ ต้องดูแลควบคู่กันไป จะให้เสียส่วนใดส่วนหนึ่งคงไม่ได้ ในขณะเพื่อนบ้านมีหมด เราไม่มี ก็เป็นเรื่องน่าคิดว่า จะเอาอะไรไปคานอำนาจ ”

ด้าน “กองทัพอากาศ” แม้จะได้รับคำชมจากฝ่ายการเมืองว่า การจัดทำสมุดปกขาวเปิดเผยงบประมาณ และแผนจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ในห้วง 10 ปี เป็นเรื่องที่แฟร์ โปร่งใส ตรวจสอบได้ และให้เหล่าทัพอื่นเอาเป็นแบบอย่าง แต่ก็ไม่ทำให้รอดพ้น จ่อคิวถูกหั่นงบในโครงการอื่นๆ เช่นกัน หากเป็นการจัดซื้อที่ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์โควิด

จะเห็นว่า กองทัพอากาศใช้วิธี “ผ่อนหนัก-ผ่อนเบา” โครงการใหญ่ๆ ที่ใช้งบระดับหมื่นล้าน อย่างการจัดหาเครื่องบินลำเลียงขนาดใหญ่ เพื่อทดแทน C-130 ที่ใช้ปฏิบัติภารกิจ และหน่วยราชการอื่นมากว่า 30 ปี ก็ไม่ปรากฎออกมาให้เห็นจนทำให้เกิดคำถาม ขณะเดียวกันก็เลือกใช้วิธีปรับปรุง ซ่อมบำรุง และรักษาชั่วโมงบิน เพื่อยืดอายุการใช้งาน

เช่นเดียวกับ “กองทัพบก” เหล่าทัพที่จัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะรถเกราะ รถถัง รวมไปถึงเฮลิคอปเตอร์เพื่อใช้งานทางด้านยุทธการ และธุรการ จึงกลายเป็นหนึ่งในเป้าหมายของฝ่ายการเมือง ที่หวังดึงงบประมาณออกมาให้มากที่สุด

หากดูไส้ใน งบประมาณปี 65 โครงการต่างๆ ของกองทัพบก ส่วนใหญ่ล้วนเป็นงบผูกพันข้ามปี ทั้งโครงการจัดหารถถัง VT-4 และยานเกราะล้อยางสไตรเกอร์ ส่วนอื่นๆ เป็นโครงการขนาดเล็กใช้งบประมาณไม่มากนัก ขณะเฮลิคอปเตอร์โจมตีที่เหลืออายุใช้งานอีกไม่นาน ก็ไม่มีการจัดหาในห้วงนี้

จากนี้ไปต้องรอดูฝ่ายการเมือง ในชั้นกรรมาธิการงบฯ จะถึงขั้นให้เหล่าทัพไปเจรจายืดผ่อนชำระค่างวดทุกโครงการงบผูกพัน หรือรุกหนักตัดทุกโครงการที่คิดว่าไม่จำเป็นทิ้งทั้งหมด ไม่เพียงแค่ให้ชะลอ อย่างที่โฆษกกรรมาธิการงบฯ ในซีกฝ่ายค้าน นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ประกาศไว้

สถานการณ์โรคระบาดที่กองทัพได้ร่วมมือกับทุกภาคส่วนในสังคมเร่งแก้ปัญหาช่วยประชาชน ขณะเดียวกันภารกิจหลักก็ไม่สามารถละทิ้งการรักษาความสมดุลของประเทศด้านความมั่นคงได้ ท่ามกลางภัยคุกคามทางการเมืองที่กำลังลดระดับความมั่นคงของประเทศ ที่ทุกเหล่าทัพกำลังวิตก