ป.ป.ช.ชี้มูลทุจริต 'จีที 200-อัลฟ่า6' 26 คดี ไร้ชื่อ 'บิ๊กข้าราชการ-นักการเมือง'

ป.ป.ช.ชี้มูลทุจริต 'จีที 200-อัลฟ่า6' 26 คดี ไร้ชื่อ 'บิ๊กข้าราชการ-นักการเมือง'

ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดวินัยและอาญา บุคคลที่เกี่ยวข้องในคดีหน่วยงานราชการ จัดซื้อเครื่องตรวจหาวัตถุระเบิด จีที 200 และ อัลฟ่า 6 สาวไม่ถึงข้าราชการและนักการเมือง

20 ก.ค.2564 "เนชั่นออนไลน์" ซึ่งเกาะติดการประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เนื่องจากสัปดาห์นี้ มีหลายร้อยสำนวน ที่ป.ป.ช.จะต้องดำเนินการสรุปให้ทันกำหนดเวลาคือวันที่ 22 ก.ค.นี้ เป็นไปตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 21 ก.ค. 2561 ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.ไต่สวนและมีความเห็นภายในไม่เกิน 2 ปี นับแต่วันเริ่มไต่สวน กรณีที่มีเหตุจําเป็น สามารถขยายระยะเวลาออกไปได้ แต่รวมแล้วต้องไม่เกิน 3 ปี

แหล่งข่าวที่เชื่อถือได้ในคณะกรรมการ ป.ป.ช. เปิดเผย "เนชั่นออนไลน์" ว่า ที่ประชุมเมื่อวันที่ 19 ก.ค.ที่ผ่านมา มีมติชี้มูลความผิดผู้ที่เกี่ยวข้องในการจัดซื้อเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิดรุ่น GT200 และ ALPHA6 จำนวน 26 สำนวน ที่เหลือ จากทั้งหมด 33 สำนวนที่ชี้มูลความผิดไปแล้ว 7 สำนวนโดยมติที่ประชุม ป.ป.ช. ชี้มูลในส่วนที่เป็นหัวหน้าส่วนราชการที่มีการจัดซื้อ แต่หลักฐานการไต่สวน สาวไปไม่ถึงข้าราชการระดับสูง ทั้งในกองทัพ และระดับกระทรวง หรือ นักการเมือง

อย่างไรก็ดี แหล่งข่าวที่เชื่อถือได้ บอกเนชั่นออนไลน์ว่า "มติที่ชี้มูลมีบางชื่อถ้าเห็นแล้วต้องร้องอื้อฮือ"


แม้ว่าคดีในประเทศไทยเพิ่งจะดำเนินการไต่สวนความผิดผู้จัดซื้อ แต่ศาลอังกฤษ พิพากษาจำคุก ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายเครื่องตรวจจับระเบิดปลอม พร้อมสั่งยึดทรัพย์กว่า 400 ล้านบาท ตั้งแต่ปี 2556 

สำหรับ GT 200 เป็นเครื่องตรวจจับสสารระยะไกล ผลิตโดยบริษัท โกลบอล เทคนิคอล จำกัด สหราชอาณาจักร โดยบริษัทดังกล่าวอ้างว่า GT 200 สามารถตรวจสอบวัตถุต้องสงสัยต่างๆ ได้ทั้งระเบิดและยาเสพติด ด้วยเหตุนี้กองทัพบก จึงจัดซื้อเครื่อง GT 200 เพื่อใช้ในการปฏิบัติภารกิจค้นหาระเบิดของเจ้าหน้าที่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะในช่วงปี 2550-2552 ซึ่งเกิดเหตุวางระเบิดบ่อยครั้ง

อย่างไรก็ดี เหตุระเบิดในจังหวัดชายแดนภาคใต้ช่วงเดือนตุลาคม 2552 นำมาซึ่งความเคลือบแคลงสงสัยถึงประสิทธิภาพในการค้นหาระเบิดของเครื่อง GT 200 โดยในช่วงแรกเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ให้ความเห็นเกี่ยวกับประสิทธิภาพของเครื่อง GT 200 ว่าเกิดจากการที่เครื่องดังกล่าวมีความสัมพันธ์อย่างมากกับสภาพร่างกายของผู้ใช้ เนื่องจากเครื่อง GT 200 ใช้ไฟฟ้าสถิตจากผู้ใช้เป็นกลไกหลักในการทำงาน หากผู้ใช้อ่อนเพลียย่อมส่งผลกระทบต่อความแม่นยำของเครื่องในการค้นหาวัตถุต้องสงสัย

การให้เหตุผลเช่นนี้นำไปสู่การตั้งคำถามเกี่ยวกับการทำงานของเครื่อง ทั้งจากนักข่าวและประชาชนผู้สนใจ

 

 

เจ้าหน้าที่ภาครัฐ ทั้งคณะรัฐมนตรี กองทัพบก รวมถึงสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ยังคงเชื่อมั่นว่าเครื่อง GT 200 สามารถใช้งานได้ จนกระทั่งในเดือนมกราคม 2553 ผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ได้ตรวจพิสูจน์เครื่อง ADE-651 ซึ่งเป็นเครื่องตรวจหาสสารลักษณะเดียวกันกับเครื่อง GT 200 และพบว่าไม่มีวงจรหรือโปรแกรมใดๆ ภายในอุปกรณ์ จึงเป็นไปไม่ได้ที่เครื่องจะทำงานได้ ผลการทดสอบดังกล่าวทำให้รัฐบาลอังกฤษ แจ้งเตือนประเทศต่างๆ ที่ซื้อเครื่องตรวจหาสสารลักษณะนี้

นอกจากนี้ อาจารย์เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์จากคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความเห็นว่า เครื่อง GT 200 ไม่น่าจะใช้ค้นหาวัตถุระเบิดได้ และเสนอให้มีการทดสอบประสิทธิภาพการทำ งานของเครื่อง GT 200 ท้ายที่สุดจึงมีการทดสอบโดยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) ในช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ 2553 พบว่า เครื่อง GT 200 ตรวจพบวัตถุระเบิดเพียง 4 ครั้ง จากการทดสอบ 20 ครั้ง ซึ่งไม่มากไปกว่าการตรวจหาโดยการสุ่ม

ผลการทดสอบนี้ทำ ให้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น สั่งยกเลิกการจัดซื้อเครื่อง GT 200 เพิ่มเติม และให้หน่วยงานที่ใช้อยู่ทบทวนเรื่องการใช้งาน

 ผลการทดสอบข้างต้นแสดงให้เห็นถึงปัญหาในการจัดซื้อเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์โดยมิได้ตรวจสอบการทำงานว่ามีประสิทธิภาพจริงหรือไม่ ส่งผลให้เกิดการใช้งบประมาณอย่างไม่คุ้มค่า 

 ทั้งนี้ ในช่วงที่เนคเทคทำการทดสอบ หน่วยงานภาครัฐได้มีการใช้เครื่อง GT 200 รวมถึงเครื่องตรวจหาสสารลักษณะเดียวกันอย่าง Alpha 6 รวมกันเกินกว่า 1,000 เครื่อง ซึ่งมีมูลค่ารวมกันหลายร้อยล้านบาท

 นอกจากปัญหาการจัดซื้อเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์โดยมิได้ตรวจสอบการทำงาน วิธีการจัดซื้อก็อาจก่อปัญหาเช่นกันโดยปกติการจัดซื้อวัสดุ ครุภัณฑ์ หรืออาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ ของกองทัพ มักใช้การซื้อโดยวิธีพิเศษซึ่งในบางกรณีอาจมีความจำเป็น เนื่องจากเกี่ยวข้องกับความมั่นคงของประเทศ แต่ในอีกด้านหนึ่งการจัดซื้อด้วยวิธีดังกล่าวอาจ

ทำให้หน่วยงานภาครัฐได้ของที่ราคาแพงเกินจริง เมื่อเทียบกับการจัดซื้อโดยวิธีประกวดราคา หรืออาจได้ของที่ไม่ได้คุณภาพตามที่ต้องการ

 

นอกจากนี้ ความไม่โปร่งใสของการจัดซื้อโดยวิธีพิเศษ ยังเป็นช่องทางให้เกิดการทุจริตแม้ว่ารัฐบาลจะจัดซื้อเครื่อง GT 200 มาตั้งแต่ปี 2547 แต่การจัดซื้อจำนวนมากเกิดขึ้นในช่วงปี 2550-2552 รัฐบาล ได้จัดซื้ออย่างน้อย 14 ครั้ง รวม 627 เครื่อง คิดเป็นมูลค่ากว่า 570 ล้านบาท ซึ่งเป็นการจัดซื้อโดยกรมสรรพาวุธทหารบก 8 ครั้ง รวม 408 เครื่อง คิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 370 ล้านบาท หรือเครื่องละประมาณ 900,000 บาท โดยใช้ทั้งงบประมาณของกองทัพบก และกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) 

แม้ว่าการจัดซื้อเครื่องตรวจจับระเบิดทั้งหมดเป็นการจัดซื้อจากบริษัท เอวิเอ แซทคอม จำ กัด แต่หน่วยงานต่างๆ กลับจัดซื้อด้วยราคาที่ต่างกันมาก


1.กรมศุลกากร จัดซื้อจำนวน 6 เครื่อง วงเงินรวม 2,556,000 บาท 
2.กรมราชองครักษ์กระทรวงกลาโหม จัดซื้อจำ 8 เครื่อง วงเงิน 9 ล้านบาท
3.กองทัพบก จำนวน 757 เครื่อง วงเงิน 682.60 ล้านบาท
4.กองทัพเรือ จำนวน 38 เครื่อง วงเงิน 39.30 ล้านบาท
5.กองทัพอากาศ จำนวน 26 เครื่อง วงเงิน 20.89 ล้านบาท
6.สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม 6 เครื่อง วงเงิน 6.80 ล้านบาท 
7.สถานีตำรวจภูธรจังหวัดชัยนาท 1 เครื่อง วงเงิน 550,000 บาท
8.สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยกองกำกับการสนับสนุนทางอากาศตำรวจตระเวนชายแดน วงเงิน 1,230,000 บาท 

9.กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น โดยองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) สระแก้ว จัดซื้อ 2 เครื่อง วงเงิน 2,380,000 บาท 
10.อบจ.สมุทรปราการ จัดซื้อ 3 เครื่อง วงเงิน 1,800,000 บาท 

 

จากข้อมูลทั้งหมดนี้ แหล่งข่าวจากป.ป.ช. ให้รอการแถลงข่าวอย่างเป็นทางการ เพื่อยืนยันถึงตัวบุคคล และจำนวนผู้กระทำผิดที่ป.ป.ช.มีมติชี้ัมูล