'พิธา' ทวงแผนปฏิรูปกองทัพ จี้ยกเลิกซื้อเรือดำน้ำ

'พิธา' ทวงแผนปฏิรูปกองทัพ จี้ยกเลิกซื้อเรือดำน้ำ

'พิธา' ทวงแผนปฏิรูปกองทัพ จี้ยกเลิกซื้อเรือดำน้ำ

นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ในฐานะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา ร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565  ได้ตั้งคำถามกับหน่วยงานกระทรวงกลาโหม ทั้งสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม กองบัญชาการกองทัพไทย กองทัพอากาศ กองทัพเรือ และกองทัพบก

โดย หัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวว่า ตนทราบว่ากระทรวงกลาโหมมีแผนแม่บทการปฏิรูปการบริหารจัดการและปรับปรุงโครงสร้างกระทรวงกลาโหม 2560-2569 ออกมาตั้งแต่ปี 2559 เพื่อที่จะปรับลดอัตรากำลังพล,ปรับปรุงโครงสร้างหน่วยรบ และยุบควบรวมหน่วยที่ไม่จำเป็นแล้วปรับโอนงานให้เอกชน ซึ่งตอนนี้ปี 2564 แผนปรับโครงสร้างกลาโหมใช้มาได้ 4 ปีแล้ว จึงต้องมาขอทวงความคืบหน้าจากปลัดกระทรวงและผู้นำเหล่าทัพว่าลดกำลังพลและปรับโครงสร้างได้จริงหรือไม่ โดยขอเอกสารเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบดังนี้

1.แผนแม่บทการปฏิรูปการบริหารจัดการและปรับปรุงโครงสร้างกระทรวงกลาโหม 2560-2569 

2.รายงานสถานภาพกำลังพลประจำเดือน จากกรมกำลังพลทหารบก เทียบเดือน ต.ค. 2559 กับเดือนล่าสุด

3.รายงานสถานภาพกำลังพลประจำเดือน จากกรมกำลังพลทหารเรือ เทียบเดือน ต.ค. 2559 กับเดือนล่าสุด

4.รายงานสถานภาพกำลังพลประจำเดือน จากกรมกำลังพลทหารอากาศ เทียบเดือน ต.ค. 2559 กับเดือนล่าสุด

“ผมมีทั้งข้อที่ต้องชื่นชมกองทัพและมีข้อท้วงติง โดยข้อที่ต้องชื่นชมนั้น เป็นของกรณีกองทัพอากาศที่ได้มีการตีพิมพ์เอกสารสมุดปกขาว หรือ White Paper ที่ได้เปิดเผย ยุทธศาสตร์ เหตุผล และแผนการจัดซื้อยุทโธปกรณ์ล่วงหน้าไว้ 10 ปี การทำเช่นนี้ทำให้สังคมได้ทราบและสามารถร่วมกันตรวจสอบได้และยังสามารถเป็นบรรทัดฐานการปฏิบัติให้เหล่าทัพอื่นๆ ได้ด้วย ทั้งนี้ผมขอตั้งข้อสังเกตให้เหล่าทัพอื่นๆ นำไปปฏิบัติ

อย่างไรก็ตามแม้ว่าคงไม่ได้จัดซื้อได้ตามสมุดปกขาวทุกอย่างเพราะไม่เช่นนั้นงบปี 65 คงจะเป็น 46,000 ล้านบาท แต่งบประมาณจริงๆ คือ 38,000 ล้านบาท นอกจากนี้ผมมีคำถามกับกองทัพอากาศในส่วนกับที่อยู่ในเอกสารชี้แจงหน้า 24 ของกองทัพอากาศในงบรายจ่ายอื่นข้อ 1.5 ค่าใช้จ่ายในการสนับสนุนการส่งกำลัง และซ่อมบำรุง และผลิตเพื่อแจกจ่ายที่มีมูลค่า 6,954 ล้านบาท ว่ามีรายละเอียดอย่างไร ผ่านการพิจารณาของอนุกรรมาธิการแล้วหรือไม่ และถูกปรับลดไปหรือไม่อย่างไร” นายพิธา กล่าว

ในกรณีของกองทัพเรือ หัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวว่า สืบเนื่องจากกรณีเรือดำน้ำที่เป็นที่สนใจของประชาชนเป็นจำนวนมาก จึงตั้งข้อสังเกตว่าการที่กองทัพเรือชะลอการจัดซื้อเรือดำน้ำอาจไม่พอ มิเช่นนั้นในแต่ละปีก็ต้องมาตามลุ้นว่าจะมีการนำเข้ามาพิจารณาในกรรมาธิการงบประมาณอีกหรือไม่ ก็จะมีการวิพากษ์วิจารณ์จากสังคมในทุกปี คำถามคือ เรือดำน้ำยังมีความจำเป็นอยู่ในความท้าทายของบริบทโลกปัจจุบันนี้อยู่อีกหรือไม่

กรณีของกองบัญชาการกองทัพไทยและสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหมนั้น มีประเด็นข้อสังเกตคือการบริหาร ธุรการ การเงิน กฎหมาย ของกองทัพที่มีความซ้ำซ้อนกันของสำนักปลัดกระทรวงกลาโหมและกองบัญชาการกองทัพไทย (บก.ทท.) ทั้งนี้สำนักงานปลัดกระทรวงฯ มีกรมการเงินกลาโหม บก.ทท มีกรมการเงินทหาร และสำนักปลัดกระทรวงฯมีสำนักตรวจสอบภายในกลาโหม บก.ทท มีสำนักตรวจสอบภายในทหาร และกรณีที่สำนักปลัดกระทรวงฯ มีกรมพระธรรมนูญ และกองบัญชาการกองทัพไทยมีสำนักงานพระธรรมนูญทหาร และสำนักปลัดกระทรวงฯ มีกรมสรรพกำลังกลาโหม แต่ บก.ทท. มีกรมกำลังพลทหาร

“สำหรับกองบัญชาการกองทัพไทยโดยภารกิจแล้วถ้าเทียบกับสหรัฐอเมริกา ก็คงเทียบได้กับ Joint Forces Command ที่มีหน้าที่อำนวยการปฏิบัติการร่วม เช่นเดียวกัน ซึ่งในปี พ.ศ.2554 หลังจากวิกฤติแฮมเบอเกอร์ อเมริกาต้องตัดงบทหาร ก็ได้ยุบ Joint Forces Command ไปด้วยเหตุผลทางงบประมาณ นี่แสดงให้เห็นว่าการการยุบและควบรวมกองกำลังไม่ใช่เรื่องที่แปลกหรือเกินความเป็นไปได้แต่อย่างใด และหากประเทศไทยยุบกองบัญชาการกองทัพไทยซึ่งมีความซ้ำซ้อนกับสำนักปลัดกระทรวงฯ ก็จะช่วยให้ประเทศประหยัดงบประมาณไปได้ 1.5 หมื่นล้านบาทต่อปี” นายพิธา กล่าว

 ในกรณีของเรื่องบุคลากรกองทัพบก ที่เป็นเรื่องสำคัญและจะช่วยในเรื่องการปฏิรูปกองทัพด้วยนั้น ซึ่งจากข้อมูลสถานภาพกำลังพลทหารบกเมื่อปี 2561 ที่เผยแพร่โดยวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร โดยเป็นรายงานของ สวัสดิ์ ชนะจิตราสกุล ในสมัยที่ยังครองยศพลตรี และวันนี้ท่านจะมาชี้แจงในส่วนของหน่วยงานอย่างกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร หรือ กอ.รมน.ด้วย ตอนนั้นท่านได้เขียนรายงานที่ชื่อว่า”การปรับปรุงโครงสร้างกองทัพบกให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี” พบว่ากองทัพบกมีการบรรจุอัตรากำลัง 260,000 นาย เป็นส่วนการรบ รวมไปถึงการมีส่วนสนับสนุนการรบ เช่น ทหารปืนใหญ่ ปืนต่อต้านอากาศยาน เป็นจำนวน 160,000 อัตรา และอีก 100,000 นาย น่าจะใช้ข้าราชการพลเรือนกลาโหมทดแทนได้ โดยทหารจำนวน 160,000 นาย ที่กล่าวถึงนั้น ซึ่งจาก 160,000 นาย มีทหารที่ทำหน้าที่ภารกิจหลักคือการป้องกันชายแดนเพียงแค่ 25,000 นายใช้สนับสนุน กอ.รมน. 28,000 นาย สรุปว่ามีเพียง 53,000 นาย เท่านั้นเองที่ทำภารกิจหลักของกองทัพ ซึ่งก็หมายความว่าส่วนที่เหลือทำภารกิจที่ไม่ใช่ภารกิจหลักของกองทัพ

“การที่ทหารมีบุคลากรไปทำหน้าที่อื่น ที่ไม่ใช่หน้าที่หลักของกองทัพ และหน้าที่เหล่านั้นก็มีหน่วยงานพลเรือนอื่นทำอยู่แล้ว เหตุใดต้องมีภารกิจไปทับซ้อนกับหน่วยงานอื่น มิเช่นนั้นนำภารกิจเหล่านั้น ให้กับหน่วยงานที่มีหน้าที่โดยตรง โอนงบประมาณ โอนทรัพยากรเหล่านั้น และทำให้กองทัพมีภารกิจที่ชัดเจนมากขึ้น น่าจะตอบโจทย์ประเทศมากกว่าหรือไม่” นายพิธา กล่าวทิ้งท้าย