ห้วงเวลาในชีวิต นิรันศักดิ์ บุญจันทร์ กับ จุดประกายวรรณกรรม’

ห้วงเวลาในชีวิต นิรันศักดิ์ บุญจันทร์ กับ จุดประกายวรรณกรรม’

เมื่อชีวิตหนึ่งจากไป สิ่งที่เหลือคือ ความทรงจำ "นิรันศักดิ์ บุญจันทร์" อดีตบรรณาธิการ จุดประกายวรรณกรรม คนที่ 2 หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ เสียชีวิตเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม2564

หลังจากเพื่อนๆ ส่งข่าว พี่ตุ๋ย-นิรันศักดิ์ บุญจันทร์ อดีตบรรณาธิการ จุดประกายวรรณกรรม คนที่ 2 หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ต่อจาก อารี แท่นคำ (เสียชีวิตแล้ว) ได้เสียชีวิตลง เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม2564 ด้วยโรคตับแข็งและมะเร็งตับ เพื่อนๆ หลายคนในแวดวงน้ำหมึกก็เขียนไว้อาลัย

และนั่นทำให้ผู้เขียนนึกถึงบางมุมที่เกิดขึ้นใน "ธุรกิจสิ่งพิมพ์"

ในช่วงหนึ่งเคยมีคนถามผู้เขียนว่า จุดประกายวรรณกรรม ที่ตีพิมพ์ทุกวันอาทิตย์ หายไปจากกรุงเทพธุรกิจแล้วหรือ ? 

มันหายไปตามสภาวะเศรษฐกิจ และช่วงนั้นผู้บริหารหนังสือพิมพ์ก็มองว่าไม่ทำเงิน ไม่สำคัญ ก็เข้าใจได้ตามสภาพธุรกิจ ไม่มีสิ่งใดอยู่ยงคงกระพัน แม้กระทั่งชีวิตเรา

เมื่อชีวิตหนึ่งจากไป สิ่งที่เหลือคือ ความทรงจำ ทั้งเรื่องประทับใจ เศร้า วีรกรรมที่สร้างเอาไว้ ฯลฯ 

ในมุมของ นิรันศักดิ์ หรือ "ตุ๋ย ขวดเดียว" ฉายาที่น้องๆ ตั้งให้ เพราะเวลามีงานเลี้ยงร่วมโต๊ะอาหารกัน เมื่อถึงเวลางานเลี้ยงเลิกรา ก็บ้านใครบ้านมัน แต่นิรันศักดิ์มักจะติดลมบน อยากคุย อยากดื่มต่อ ก็จะบอกว่า 

“เฮ้ย! อีกขวด อย่าเพิ่งไป อีกนิด... ”

ท่านพี่ก็จะพยายามยื้อพวกเราไว้เป็นเพื่อนคุย และคนรั้งท้ายก็มักจะเป็นนายอนันต์ ลือประดิษฐ์ อดีตบรรณาธิการจุดประกาย ที่คอยดูแลว่าทุกคนจะเดินทางกลับบ้านอย่างไร

162668468163

นิรันศักดิ์ บุญจันทร์ อดีตบรรณาธิการจุดประกายวรรณกรรม คนที่ 2 หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ

นั่นเป็นมุมเล็กๆ มุมหนึ่งที่ผู้เขียนนึกถึง และไม่ค่อยถนัดเล่าเรื่องแบบนี้สักเท่าไร

เอาเป็นว่า ขอเล่าเรื่อง จุดประกายวรรณกรรม ฉบับวันอาทิตย์ในห้วงเวลาหนึ่งที่เรียกว่า อยู่บนแผงมาได้นานกว่า 10 ปีและแทบจะไม่มีคู่แข่ง ทั้งๆ ที่อยากให้มี

ยุคหนึ่งจุดประกายวรรณกรรม เคยเป็นสนามของนักเขียนทั้งรุ่นเล็ก รุ่นใหญ่ ได้มีพื้นที่เขียนงาน ไม่เว้นแม้กระทั่งนักเขียนรุ่นจิ๋วในคอลัมน์ "โรงเรียนนักเขียนน้อย" ซึ่งคนที่ดูแลค่าเรื่อง เคยเล่าให้ฟังว่า นักเขียนอายุน้อยที่สุดที่มีโอกาสตีพิมพ์ผลงาน เด็กอนุบาลสาม

ซึ่งผู้เขียนเองก็ถามไปว่า อายุขนาดนั้นเขียนหนังสือรู้เรื่องแล้วหรือ

เธอก็บอกว่า ก็เขียนตัวโตๆ ไม่กี่บรรทัด

และเพื่อสนับสนุนให้เยาวชนรักการเขียน แม้จะเขียนไม่กี่บรรทัดและเขียนตัวโตแค่ไหน บรรณาธิการจุดประกายวรรณกรรมมีค่าเรื่องให้นิดหน่อย(300บาท) 

จุดประกายวรรณกรรม ซึ่งเคยเป็นสนามของคนอยากเขียน ก็จากไปพร้อมๆ กับ "นิรันศักดิ์ บุญจันทร์" ครั้นเมื่อเดินออกจากกรุงเทพธุรกิจ 

............

 

ลองอ่านสิ่งที่เพื่อนๆ วงการนักเขียน(บางคน)...เขียนถึง นิรันศักดิ์ บุญจันทร์

----------------

จากเฟซบุ๊ค "Anant Lerpradit" (อนันต์ ลือประดิษฐ์ อดีตบรรณาธิการจุดประกาย กรุงเทพธุรกิจ)

“เขาไปไม่ลำบากนะ เหมือนนอนหลับไป ไม่เจ็บไม่ปวด เหมือนสิ้นอายุขัย แล้วก็ไป…”
 
แม่ของบุ๊ค ผู้เป็นคู่ชีวิตพี่ตุ๋ย นิรันศักดิ์ บุญจันทร์ Nirunsak Boonchan เอ่ยให้ฟัง ราวกับรู้ว่า เรากำลังจะถามเรื่องใด น้ำเสียงของพี่เค้าสงบนิ่ง ราบเรียบ คล้ายจะสะกดความเศร้าจากการสูญเสียคนรักเอาไวัภายใน 
 
บทสนทนาสั้นๆ เริ่มขึ้น เมื่อพิธีสวดพระอภิธรรมวันแรกเสร็จสิ้น
 
“เขาไม่ยอมให้บอก…” เป็นคำตอบตามมา เมื่อเราไถ่ถามถึงอาการเจ็บป่วย ซึ่งเกิดขึ้นชัดเจนเมื่อตอนต้นปีนี้ เริ่มจากการผ่าตัดถุงน้ำดี ตามด้วยอาการตับแข็ง แต่กลับไม่เคยมีข่าวปรากฏให้เพื่อนๆ รับรู้ 
 
และด้วยสถานการณ์โควิด-19 ยิ่งทำให้เราห่างกันไปโดยปริยาย จากที่เคยไปมาหาสู่กัน ก็เกิดอาการเกรงใจที่จะหิ้วเบียร์ไปหาที่บ้าน
 
“มิน่า ตอนงานศพพี่อารี แท่นคำ ผมก็ถามหาพี่ตุ๋ย นึกไม่ถึงเลยว่าพี่เค้าจะป่วย”
 
จุดประกายสูญเสียอดีตบรรณาธิการมือดีสองคนภายในปีเดียวกัน 
 
ภายใต้ความสุภาพนุ่มนวล คือหัวใจแกร่งดังเพชร พี่ตุ๋ยกลืนความทุกข์ความเจ็บปวดไว้กับตัวเอง แม้ในยามเจ็บไข้ ไม่เคยเอ่ยปากบอกใคร ซึ่งแกก็เป็นคนแบบนั้น สง่างาม มีศักดิ์ศรี ไม่เคยโอดครวญความยากลำบากของชีวิตให้ใครได้ยิน 
 
นี่คือภาพสะท้อนคุณสมบัติอันงดงามของความเป็นนักเขียนและบรรณาธิการ  พี่ตุ๋ยเป็นผู้ให้ตลอดเวลา ในแวดวงวรรณกรรม พี่ตุ๋ยให้โอกาสนักเขียนรุ่นใหม่ที่มีฝีมือ ในแวดวงผองเพื่อน พี่ตุ๋ยให้ความคิดสร้างสรรค์ เมื่อพบเจอกันทุกครั้ง เราได้รับพลังชีวิต พลังด้านบวก ได้รับอารมณ์ขัน เสียงหัวเราะ และกำลังใจจากพี่ตุ๋ยเสมอ 
 
นี่คือสุภาพบุรุษบรรณาธิการแห่งจุดประกายโดยแท้

----------------

จากเฟซบุ๊ค "สาโรจน์ มณีรัตน์"

พูดไม่ออก บอกไม่ถูกจริงๆ
 
หลังทราบข่าวว่า ”พี่ตุ๋ย” นิรันศักดิ์ บุญจันทร์ อดีตบ.ก.จุดประกายวรรณกรรม กรุงเทพธุรกิจ เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งตับเมื่อตอนตี 1 ของวันนี้
 
เพราะ ”พี่ตุ๋ย” ถือเป็นบุคคลแรกที่ทำคลอดผมบนถนนสายอักษรา
 
ทั้งยังเป็นคนให้โอกาสผมเขียนคอลัมน์ห้องสมุดเจ้าสัว ในเซ็คชั่นจุดประกายวรรณกรรม กรุงเทพธุรกิจ เมื่อหลายปีก่อน
 
ก่อนจะมีคอลัมน์อื่นๆตามมา
 
สำคัญไปกว่านั้น ”พี่ตุ๋ย” ยังแจ้งเกิดนามปากกา ”ต้นสกุล สุ่ย” ให้ผมโลดแล่นบนถนนสายนี้อีกระยะเวลาหนึ่ง
 
จนมีหนังสือออกมาหลายเล่มในนามปากกานี้ และทุกเล่ม”พี่ตุ๋ย”จะเขียนคำนิยมให้ทุกครั้ง
 
สมัยที่ ”พี่ตุ๋ย” ใกล้จะออกจากกรุงเทพธุรกิจ เพื่อเดินทางกลับบ้านที่ดอนเมือง พี่เขาจะโทรหาผมก่อนเสมอว่า…สาโรจน์กลับบ้านยัง
 
ถ้ายัง เราจะนัดกินเบียร์กันที่ร้านใต้ถุนตึกแถวประชาชื่นเพื่อพูดคุยกันถึงเรื่องนั้นเรื่องนี้
 
หลังจากแกออกมาทำเว็บไซต์กับลูกชาย ผมก็ช่วยหาสปอนเซอร์ให้แกบ้าง
 
แม้จะไม่ใช่เงินมากมาย แต่ ”พี่จ่า” สมศักดิ์ อ่อนศรี ก็พร้อมช่วยเหลือ
 
แม้หลังๆจะไม่ค่อยได้เจอกันแล้วก็ตาม แต่ก็มีโอกาสโทรศัพท์พูดคุยกันอยู่เป็นระยะๆ
 
จนสักเดือนสองเดือนก่อนหน้านี้ ผมโทรไปคุยกับแก น้ำเสียงแหบเล็กน้อย แต่ผมก็ไม่ได้เอะใจอะไร
 
คิดว่าคงแค่เสียงแหบธรรมดาเท่านั้น
 
แต่แกซะอีกกลับเป็นห่วงผม และบอกว่า…นายมาเขียนเรื่องสั้นตอนนี้นะดีแล้ว
 
“ชีวิตนายมันเริ่มนิ่งแล้วไง ดังนั้น พอเขียนอะไรไปก็จะเข้าใจตัวละครมากขึ้น”
 
ผมถามแกว่า….พี่อ่านเรื่องสั้นผมหรือยัง ?
 
“ยังไม่ได้อ่าน” แกตอบ แล้วพูดต่อว่า…แต่เราอ่านจากที่นายเขียนลงเฟสบุ๊คไง
 
“เราเห็นนายพัฒนามาเขียนงานแบบนี้ก็ดีใจด้วย เห็นว่านายมีนิยายเล่มหนึ่งให้เริงวุฒิพิมพ์เหรอ”
 
“ครับพี่” ผมตอบกลับไป
 
“ดีแล้ว” แกบอกผมอย่างยินดีด้วย
 
จากนั้นเราก็คุยกันอีกสักพักก่อนจะวางสาย ดังนั้น พอเช้านี้เมื่อผมทราบข่าวว่าแกเสีย จึงตกใจอย่างมาก
 
เพราะแกไม่เพียงเป็นคนให้โอกาสผม แกยังเป็นพี่ เป็นบรรณาธิการ และเป็นครูที่ดีสำหรับผม
 
เสียใจมากครับที่พี่จากไปเร็วเช่นนี้
 
ผมขอให้ ”พี่ตุ๋ย” จงไปสถิตย์อยู่ในสัมปรายภพที่ดี และมีโอกาสเจอนักเขียนชั้นครูที่พี่เคารพนับถือบนสรวงสวรรค์นะครับ
 
รักและอาลัยยิ่ง
 
ต้นสกุล สุ่ย
 
18 กรกฎาคม 2564

 

----------------

จากเฟซบุ๊ค จักร์กฤษ เพิ่มพูล

"นิรันดร์ศักดิ์ สู่นิรันดร์ - แม้จะแยกย้ายกันไปนานหลายปี แต่บางวาระและโอกาสก็ยังโทรถามไถ่ทุกข์สุขกันอยู่บ้าง ครั้งสุดท้ายที่เจอกัน คือที่ไทยพีบีเอส ผมชวนนิรันดร์ศักดิ์ #มาเล่าเรื่องความฝันและการทำงานของเขาในโลกออนไลน์ ซึ่งคนรุ่นเก่าอย่างเราอาจไม่คุ้นเคย

 ในตอนนั้น ผมทราบว่า ‘the paperless’ กำลังจะพิสูจน์ความเป็นทองแท้ของนิรันดร์ศักดิ์ ที่ไม่เป็นสองรองใครในโลกวรรณกรรม #และความเป็นหนึ่งในโลกวรรณกรรม ก็ไม่ได้อยู่ในเงื่อนไขเฉพาะความเป็นสื่อสิ่งพิมพ์ ที่เขาเคยประสบความสำเร็จมาแล้ว ในฐานะบรรณาธิการ จุดประกายวรรณกรรม

เสือยืดสีขาว ลายเส้น Gandhi ตัวนี้ #คือส่วนเล็กๆ ที่ช่วยสนับสนุน ‘the paperless’ และเป็นกำลังใจให้นิรันดร์ศักดิ์ในการก้าวเดินต่อไปบนเส้นทางที่เขาอาจไม่คุ้นเคย #และเขาคงเดินอยู่บนเส้นทางนั้นจนถึงวันแห่งลมหายใจสุดท้ายในวันนี้"

คารวะอาลัย #นิรันดร์ศักดิ์ #บุญจันทร์

สู่ความเป็นนิรันดร์

162668481122 ...............
162668582929