ธปท.เผยสินเชื่อฟื้นฟูช่วยลูกหนี้แล้วกว่า 2.3 หมื่นราย เร่งพักทรัพย์-พักหนี้ต่อเนื่อง

ธปท.เผยสินเชื่อฟื้นฟูช่วยลูกหนี้แล้วกว่า 2.3 หมื่นราย เร่งพักทรัพย์-พักหนี้ต่อเนื่อง

แบงก์ชาติชี้สินเชื่อฟื้นฟูช่วยลูกหนี้แล้วกว่า 2.3 หมื่นราย วงเงินอนุมัติแล้ว 7.2 หมื่นล้านบาท ฝั่งมาตรการพักทรัพย์-พักหนี้คาดธุรกิจจะเข้าร่วมเพิ่มขึ้น หลังราชกิจจาฯ ประกาศยกเว้นภาษี

นายณรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า ความคืบหน้าการปล่อยสินเชื่อฟื้นฟูแก่ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ภายใต้วงเงิน 2.5 แสนล้านบาท ปัจจุบันในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา มีวงเงินที่ได้รับอนุมัติแล้ว 72,391 ล้านบาท คิดเป็นผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับความช่วยเหลือแล้ว 23,687 ราย โดยมีวงเงินช่วยเหลือเฉลี่ยรายละ 3.1 ล้านบาท

ขณะที่ 44.5% ของลูกค้าที่ได้รับความช่วยเหลือเป็นกลุ่มเอสเอ็มอีขนาดเล็ก (Micro SMEs) ที่เดิมมีวงเงินกับสถาบันการเงินไม่เกิน 5 ล้านบาท โดยมีการกระจายให้ความช่วยเหลือแก่กลุ่มลูกค้าในต่างจังหวัดสูงถึง 68.5% ขณะที่ 67.6% อยู่ในกลุ่มธุรกิจค้าส่งค้าปลีกและบริการ ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19

สำหรับมาตรการพักทรัพย์-พักหนี้ ภายหลังราชกิจจานุเบกษาประกาศยกเว้นภาษีจะต้องรอกฎหมายลูกประกอบ และประกาศกำหนดขั้นตอนระเบียบและวิธีการในการยกเว้นจากกรมสรรพากร โดยจากการประสานงานกับสถาบันการเงิน พบว่ามีเคสที่อยู่ระหว่างเจรจาเพื่อพักทรัพย์-พักหนี้อีกพอสมควร ดังนั้น หากมาตรการทางภาษี หรือค่าธรรมเนียมโอนได้รับการยกเว้น เชื่อว่าตัวเลขผู้เข้าร่วมมาตรการจะเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันที่ประมาณ 900 ล้านบาท

ขณะที่มาตรการอื่นๆ ในการช่วยเหลือผู้ประกอบการและลูกหนี้ เช่น มาตรการลดเพดานดอกเบี้ยที่ภาครัฐเสนอ ปัจจุบันอยู่ระหว่างศึกษา อย่างไรก็ดี มองว่าอาจไม่เหมาะสมกับลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ในปัจจุบัน เพราะเชื่อว่าหากลดเพดานดอกเบี้ยลงจะผลักให้กลุ่มลูกหนี้ที่มีความเสี่ยงสูงยิ่งเข้าไม่ถึงดอกเบี้ยในระบบ และมีความเสี่ยงต้องไปกูยืมนอกระบบ

"สำหรับการแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้า ยอมรับว่าส่งผลให้การกระจายของไวรัสรุนแรงกว่าที่ ธปท.คาดการณ์เอาไว้ อย่างไรก็ตาม ภายใต้ พ.ร.ก.ฟื้นฟูฉบับนี้มีความยืดหยุ่นที่สามารถปรับรูปแบบหรือเงื่อนไขได้โดยประกาศของ ธปท.และกระทรวงการคลัง เพราะฉะนั้น แม้สถานการณ์จะรุนแรงกว่าคาดการณ์ แต่มีการดูแลติดตามต่อเนื่อง หากเงื่อนไขไม่ตอบโจทย์ลูกหนี้และผู้ประกอบการ เราก็พร้อมจะปรับเงื่อนไขเหล่านั้น ซึ่งปัจจุบันมีการศึกษาหารือกับกระทรวงการคลังอย่างต่อเนื่อง"