'สทป.' ดึงโนฮาวพัฒนา 'จรวดดัดแปรสภาพอากาศ' หนุนภารกิจสลายลูกเห็บ

'สทป.' ดึงโนฮาวพัฒนา 'จรวดดัดแปรสภาพอากาศ' หนุนภารกิจสลายลูกเห็บ

สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ (สทป.) นำองค์ความรู้ และขีดความสามารถในการวิจัย พัฒนา และผลิตจรวดสำหรับใช้ในทางทหารมาต่อยอดในการวิจัยและพัฒนาเป็นจรวดดัดแปรสภาพอากาศ

162635782478

ซึ่งเป็นโครงการความร่วมมือระหว่างสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ (สทป.) กับกรมฝนหลวงและการบินเกษตร (ฝล.) โดยกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กำหนดความต้องการทางเทคนิคให้สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศเป็นผู้ดำเนินการออกแบบและผลิตจรวด สำหรับบรรจุสารซิลเวอร์ไอโอไดด์ใช้ในภารกิจยับยั้งพายุลูกเห็บหรือทดลองทำฝนจากเมฆเย็นในสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย เพื่อใช้เป็นเทคโนโลยีทางเลือกในการสนับสนุนภารกิจการทำฝนเมฆเย็นหรือสลายลูกเห็บ ในกรณีที่สภาพอากาศแปรปรวนเครื่องบินไม่สามารถขึ้นบินได้

162635783861

โดยจรวดที่วิจัยและพัฒนาจะถูกยิงจากพื้นสู่อากาศเข้าสู่ก้อนเมฆที่ระดับความสูงประมาณ 18,000-24,000 ฟุต เพื่อปล่อยสารซิลเวอร์ไอโอไดด์ลงในเมฆเย็น และมีระบบร่มนิรภัยสำหรับลดความเร็วของชิ้นส่วนจรวดให้ตกลงสู่พื้น เพื่อความปลอดภัยในบริเวณพื้นที่ปฏิบัติการ โดยในเบื้องต้นกำหนดพื้นที่ทดลองปฏิบัติการเป็นพื้นที่บริเวณอุทยานแห่งชาติแม่ปิง

162635785466

ซึ่งเป็นแหล่งต้นน้ำและเป็นพื้นที่ที่มีความปลอดภัยจากชุมชน เหมาะสำหรับทำให้เมฆเย็นตกลงมาเป็นฝน เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนจากภัยแล้ง และยังช่วยทำให้กลุ่มเมฆที่กำลังจะก่อตัวขึ้นเป็นลูกเห็บขนาดใหญ่มีขนาดเล็กลงจนกลายเป็นฝน เป็นการบรรเทาภัยพิบัติที่เกิดจากลูกเห็บให้กับพี่น้องประชาชน บ้านเรือน และผลผลิตทางการเกษตรไม่ให้ได้รับความเสียหาย