“ศาลปกครอง” คุ้มครองคำสั่งสำรองราชการ - 'วิระชัย' กลับนั่งรองผบ.ตร.

“ศาลปกครอง” คุ้มครองคำสั่งสำรองราชการ - 'วิระชัย' กลับนั่งรองผบ.ตร.

“ศาลปกครอง” คุ้มครองคำสั่งสำรองราชการ - "วิระชัย” กลับนั่งรองผบ.ตร. ชี้ “จักรทิพย์” ปกครองไม่เป็นกลาง ย้ายก่อนเสนอชื่อผบ.ตร.

จากกรณีที่ พล.ต.อ.วิระชัย ทรงเมตตา ซึ่งปัจจุบันอยู่ในตำแหน่ง สำรองราชการ ถูกตั้งกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรง และถูกร้องทุกข์ดำเนินคดี กรณีถูกกล่าวหา ดักฟัง เผยแพร่ข้อมูลการสนทนา ระหว่าง พล.ต.อ.วิระชัย ทรงเมตตา รอง ผบ.ตร. กับ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. (ในขณะนั้น) เป็นเรื่องเป็นราวตั้งแต่ต้นปี 2563 จากกรณีที่ คนร้ายยิงรถ พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล ที่ปรึกษา (สบ9) และต่อมา พล.ต.อ. วิระชัย ได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลางเพื่อให้เพิกถอนคำสั่งสำรองราชการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี

ต่อมาเมื่อวันที่ 13 ก.ค.64 ที่ผ่านมา ศาลปกครองกลาง มีคำสั่ง เรื่อง คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐออกคำสั่งโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย วิธีการชั่วคราวก่อนการพิพากษาคดีหมายเลขดำที่ บ. 438/2563 ศาลปกครองกลาง ระหว่าง พล.ต.อ. วิระชัย ทรงเมตตา ผู้ฟ้องคดี พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 คณะกรรมการข้าราชการตำรวจ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 นายกรัฐมนตรี ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 เรื่อง คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐออกคําสั่งโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายกรณีที่ พล.ต.อ.จักรทิพย์ชัยจินดา ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1

โดยมีคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ 387/2563 ลงวันที่ 29 กรกฎาคม 2563 ให้ พล.ต.อ.วิระชัย ผู้ฟ้องคดีสำรองราชการ นั้น ต่อมาหลังจากที่ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติในขณะนั้น ได้ออกคำสั่งให้ พล.ต.อ.วิระชัย รองผู้บัญชาการ ตำรวจแห่งชาติในขณะนั้น สำรองราชการ แล้วพล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจในการคัดเลือกข้าราชการตำรวจที่ดำรงตำแหน่ง จเรตำรวจแห่งชาติและ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เสนอต่อคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ(ก.ต.ช.) เพื่อให้ความเห็นชอบดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติก่อน

แล้วให้นายกรัฐมนตรีผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 นำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าแต่งตั้งเป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติตามนัยมาตรา 51 (1) แห่งพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติพ.ศ.2547 แทน พล.ต.อ.จักรทิพย์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติที่จะเกษียณอายุราชการในวันที่ 1 ตุลาคม 2563 และพล.ต.อ.จักรทิพย์ ได้ให้สัมภาษณ์กับนักข่าว ซึ่งต่อมาได้ออกอากาศในรายการเนชั่นทันข่าว เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2563 ว่า เมื่อพล.ต.อ. วิระชัย ได้รับคำสั่งให้สำรองราชการ แล้วพล.ต.อ. จักรทิพย์ จะไม่สามารถเสนอชื่อ พล.ต.อ.วิระชัย ให้ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติแทน พล.ต.อ.จักรทิพย์ ได้เพราะพล.ต.อ.วิระชัย ถูกสำรองราชการอยู่

ดังนั้นจากเหตุผลที่ได้วินิจฉัยมาตามลำดับ จึงเห็นว่า พฤติการณ์ของ พล.ต.อ.จักรทิพย์ มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงกับเรื่องดังกล่าวข้างต้น จึงถือว่า พล.ต.อ.จักรทิพย์ มีสภาพร้ายแรงอันอาจทำให้การพิจารณาทางการปกครองไม่เป็นกลาง โดยสภาพภายในตามมาตรา 16 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ 2539 และกรณีที่ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ออกคำสั่งให้พล.ต.อ.วิระชัย สำรองราชการนี้ไม่ใช่กรณีที่มีความจำเป็นเร่งด่วน หากปล่อยให้ล่าช้าไปจะเสียหายต่อประโยชน์สาธารณะ หรือสิทธิของบุคคล โดยไม่มีทางแก้ไข

“การสั่งให้พล.ต.อ. วิระชัย สำรองราชการ จึงไม่อยู่ในข้อยกเว้นของ มาตรา 18 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ 2539การที่ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ออกคำสั่งให้พล.ต.อ.วิระชัย สำรองราชการ ตามคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ 387/2563 ลงวันที่ 29 กรกฎาคม 2563 จึงน่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย และมีผลทำให้ประกาศของนายกรัฐมนตรี ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีลงวันที่ 31 สิงหาคม 2563 เรื่อง ให้ข้าราชการตำรวจ (พล.ต.อ.วิระชัย ทรงเมตตา ผู้ฟ้องคดี) พ้นจากตำแหน่ง น่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมายไปด้วย

กรณีจึงมีเหตุอันสมควรที่จะทุเลาการบังคับตามคำสั่ง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ 387/2563 ลงวันที่ 29 กรกฎาคม 2563 ที่สั่งให้พล.ต.อ.วิระชัย สำรองราชการ และประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ให้ พล.ต.อ.วิระชัย พ้นจากตำแหน่งรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ไว้เป็นการชั่วคราวจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษา หรือคำสั่งเป็นอย่างอื่น

ทั้งนี้ตามข้อ 72 วรรคสามแห่งระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2543 จึงมีคำสั่งทุเลาการบังคับคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่ 387/2563 ลงวันที่ 29 กรกฎาคม 2563 ที่สั่งให้พล.ต.อ. วิระชัย สำรองราชการ และประกาศของนายกรัฐมนตรี ตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ 31 สิงหาคม 2563 ที่ให้พล.ต.อ.วิระชัย พ้นจากตำแหน่งรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ไว้เป็นการชั่วคราวจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นอย่างอื่น

ซึ่ง ผลของคำสั่งศาลปกครองกลางทำให้พล.ต.อ.วิระชัย กลับมาดำรงตำแหน่งรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติตามเดิมนับตั้งแต่วันที่ 29 กรกฎาคม 2563 ซึ่งเป็นวันที่ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติในขณะนั้น ออกคำสั่งสำรองราชการ พล.ต.อ.วิระชัย เสมือนว่าไม่เคยมีคำสั่งสำรองราชการ พล.ต.อ.วิระชัย มาก่อนแต่อย่างใด และเสมือนว่าไม่เคยมีประกาศสำนัก นายกมนตรี ที่ให้พล.ต.อ. วิระชัย พ้นจากตำแหน่งรองผู้บัญชาการตำรวจ แห่งชาติตามที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษามาก่อนแต่อย่างใด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในวันที่ 16 ก.ค. พล.ต.อ.วิระชัย จะเดินทางไปลงบันทึกประจำวันที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติเวลา 08.30 น.และเข้าปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติตามเดิม