'สุพัฒนพงษ์' ลุ้นยอดขอส่งเสริมการลงทุนปี 64 พุ่งสูงกว่าช่วงก่อนเกิดโควิด

'สุพัฒนพงษ์' ลุ้นยอดขอส่งเสริมการลงทุนปี 64 พุ่งสูงกว่าช่วงก่อนเกิดโควิด

"สุพัฒนพงษ์" ปลื้มยอดขอส่งเสริมการลงทุนปี 64 ไทยครึ่งปีแรกสูงกว่าปี 63 ทั้งปี หวังปีนี้ยอดขอส่งเสริมสูงกว่าปี 62 ช่วงก่อนเกิดโควิด คาด FDI ไทยเป็นบวกได้ ภาคเอกชนเห็นโอกาสการลงทุนหลังมีวัคซีนและฉีดวัคซีนเพิ่มขึ้น ดึงต่างชาติอาศัยไทยจับจ่ายได้ 2แสนล้าน

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน เปิดเผยระหว่างการปาฐกถาพิเศษภายในงาน "Restart เศรษฐกิจไทยฝ่าภัยโควิด" จัดโดยกรุงเทพธุรกิจ ร่วมกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ว่าในปี 2564 แม้จะมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 เพิ่มขึ้น แต่เมื่อรัฐบาลมีการจัดหาวัคซีนได้เพิ่มขึ้นและฉีดวัคซีนได้มากขึ้นเรื่อยๆ ภาคเอกชนก็มีความเชื่อมมั่นมากขึ้นโดยเฉพาะในเรื่องของภาคการลงทุนของภาคเอกชนนั้นมีการเติบโตมากขึ้นอย่างชัดเจน

ทั้งนี้จากข้อมูลที่ได้รับจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ระบุว่ายอดขอส่งเสริมการลงทุนในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2564 สูงกว่ายอดขอส่งเสริมการลงทุนทั้งปีในปี 2563 และจำนวนนี้เป็นการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายอย่างดิจิทัล ยานยนต์ไฟฟ้า (EV)  ซึ่งในปีนี้เชื่อว่าตัวเลขการลงทุนทางตรงจากต่างประเทศ (FDI) จะมีการลงทุนเป็นบวกได้ในรอบหลายปี ซึ่งสะท้อนความเชื่อมั่นที่นักลงทุนมีต่อประเทศไทยมากขึ้น และมีความเป็นไปได้ที่ในปีนี้ยอดการขอส่งเสริมการลงทุนทั้งปีจะสูงกว่าในปี 2562 ซึ่งเป็นช่วงก่อนที่มีการเกิดสถานการณ์โควิด-19 ด้วยซ้ำ 

"ในขณะนี้ต้องบอกว่าเวลาอยู่ข้างเรา เพราะประเทศไทยมีวัคซีนทุกเทคโนโลยี เมื่อมีการกระจายการฉีดมากขึ้น ในที่สุดเราก็จะชนะ ภาคธุรกิจก็เห็นว่าโควิด-19 ในที่สุดก็จะต้องมีการจบลง จึงมีความเชื่อมั่นในการลงทุนมากขึ้น ในปีนี้เห็นตัวเลขการขอส่งเสริมการลงทุนแล้วว่ามีตัวเลขที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก" นายสุพัฒนพษ์ กล่าว 

ทั้งนี้แนวโน้มการลงทุนที่เพิ่มขึ้นของภาคเอกชนนั้นเพิ่มขึ้นมาตั้งแต่ในไตรมาสที่ 1/64 ซึ่งขณะนั้นแม้เศรษฐกิจไตรมาสแรกจะหดตัว 2.6% เมื่อเทียบกับไตรมาส 4/256 แต่เรื่องของการลงทุนของภาคเอกชนขยายตัวได้ในรอบ 5 ไตรมาส ซึ่งทำให้เห็นว่าการลงทุนในปีนี้มีทิศทางที่เป็นบวก  1626335364100

รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พลังงานกล่าวด้วยว่าแนวทางการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยหลังโควิด-19 ยังอยู่บนแนวทาง "4D" ได้แก่ 

1.Digitalization คือการส่งเสริมเรื่องของโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล การลดกฎระเบียบ การพัฒนาศูนย์กลางข้อมูล (Data center) ให้มีความพร้อมรับเศรษฐกิจดิจิทัลที่จะเป็นหัวใจในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจมากขึ้นเรื่อยๆ 

 2.Decarbonization หรือการมุ่งเน้นการส่งเสริมการผลิตที่ลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์และมลภาวะ เช่น การส่งเสริมการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ ซึ่งล่าสุดได้มีการประกาศแผนการส่งเสริมการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าของประเทศไทยให้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศได้ 100 % ของการผลิตรถยนต์ทั้งหมดของประเทศในปี 2035 หรือปี 2578 ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณที่ชัดเจนมากขึ้นของรัฐบาลที่จะไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำ

3.Decentralization คือโมเดลเศรษฐกิจที่ใช้ประโยชน์จากการกระจายฐานการผลิตของบริษัท และอุตสาหกรรมชั้นนำที่ต้องการลดความเสี่ยงจากการมีฐานการผลิตอยู่ในประเทศใดประเทศหนึ่งซึ่งจะทำให้เกิดคลื่นของการย้ายฐานการผลิต หรือกระจายฐานการลงทุนเข้ามายังประเทศไทยมากขึ้น 

และ 4.D-risk คือใช้ประโยชน์จากแนวโน้มการลดความเสี่ยงในเรื่องของการซื้อที่อยู่อาศัยในต่างประเทศ โดยต้องทำอย่างไรให้จุดแข็งของไทยในเรื่องการควบคุมโควิด-19 ได้ดี ระบบสาธารณสุขที่ดีมีอาหารที่ดีราคาไม่แพงเป็นจุดแข็งที่จะดึงดูให้ผู้มีรายได้สูงมาอยู่ในไทยในระยะยาวและมาซื้ออสังหาริมทรัพย์อยู่ในไทยเพื่อเป็นบ้านหลังที่ 2  โดยตั้งเป้ามีต่างชาติมาอาศัยในไทยเพิ่มอีก 1 ล้านคน ใช้จ่ายเพิ่มประมาณ 2 แสนล้านบาท