‘หมอริท เรืองฤทธิ์’ ตั้งคำถาม 'ผสมสูตร' วัคซีนทำไม ทั้งที่มีวัคซีนประสิทธิภาพสูงทั่วโลกใช้อยู่

‘หมอริท เรืองฤทธิ์’ ตั้งคำถาม 'ผสมสูตร' วัคซีนทำไม ทั้งที่มีวัคซีนประสิทธิภาพสูงทั่วโลกใช้อยู่

"หมอริท เรืองฤทธิ์" ตั้งคำถาม "ผสมสูตร" วัคซีนทำไม ในขณะที่มีวัคซีนประสิทธิภาพสูงกว่าอยู่ในท้องตลาด และทั่วโลกใช้อยู่ ทำไมไม่เอาวัคซีนนั้นมาใช้เลย?!

สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งพบสายพันธุ์เดลต้า ที่นับวันรุนแรงมากขึ้น และอยู่ในประเทศไทยเป็นสัดส่วนมากกว่าครึ่ง ขณะเดียวกัน หลายประเทศต่างหาวิธีรับมือกับโควิดและหนึ่งในนั้นคือ “วัคซีน” ซึ่งมีอยู่อย่างจำกัด ทำให้ไทยจำเป็นต้องปรับแนวทางการฉีดวัคซีนให้ทันปัญหา ซึ่งการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ เมื่อวันที่ 12 ก.ค.2564 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข แถลงมติคณะกรรมการเห็นชอบให้มีการฉีดวัคซีนสลับชนิดคือ

เข็มที่ 1 ซิโนแวค เข็มที่ 2 แอสตร้าเซนเนก้า ระยะเวลาห่างกัน 3-4 สัปดาห์ โดยให้โรงพยาบาลเริ่มดำเนินการทันที เกิดเป็นกระแสข่าวร้อนแรง เนื่องจากเรื่องความเป็นความตายกระทบทั้งคนที่ฉีดแล้วและยังไม่ฉีดวัคซีน

ล่าสุด เมื่อวันที่ 14 ก.ค.64 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ริท เรืองฤทธิ์ ศิริพานิช หรือ "หมอริท เรืองฤทธิ์" ก็ได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการ "ผสมสูตร" ฉีดวัคซีนผ่านทวิตเตอร์ Ritz Rueangritz S.โดยระบุว่า

ท่านจะ "ผสมสูตร" ไหน? ก็เป็นเรื่องของนักวิชาการระดับประเทศ เราไม่มีสิทธิไปกำหนดตรงส่วนนี้ แต่ คำถามที่เกิดขึ้นคือ ท่านพยายามผสมวัคซีนให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุด ทำงานวิจัยขึ้นมาเอง ในขณะที่มีวัคซีนประสิทธิภาพสูงกว่าอยู่ในท้องตลาด และทั่วโลกใช้อยู่ ทำไมไม่เอาวัคซีนนั้นมาใช้เลย?!

และว่ากันว่า ราคาถูกกว่าด้วย

ของดีกว่า + ถูกกว่า = ไม่ใช้

ของแพงกว่า + คุณภาพต่ำกว่า + ต้องมาปรุงเอง = เลือกใช้

คิดยังไงก็หาเหตุผลไม่เจอครับ

162626450469

ด้าน นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มีนโยบายเน้นการจัดหาและฉีดวัคซีนให้ประชาชนโดยเร็วที่สุด ในขณะเดียวกันก็ได้มีการเก็บสถิติในการฉีดวัคซีนโดยคณะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าการฉีดวัคซีนแม้ไม่ป้องกันการติดเชื้อได้ 100% แต่สามารถลดความรุนแรงและลดการเสียชีวิตได้เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มผู้สูงอายุ และผู้ป่วยโรคเรื้อรัง

สำหรับการใช้วัคซีน “ผสมสูตร” สิ่งสำคัญในช่วงเวลานี้คือการเร่งฉีดให้ได้มากที่สุดและเร็วที่สุด เพราะสายพันธุ์เดลตามีการระบาดที่รุนแรง และติดต่อได้ง่ายกว่าที่ผ่านมา และกำลังเป็นปัญหาทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทยที่พบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

ซึ่งวัคซีนทุกชนิดสามารถลดความรุนแรงและลดความเสี่ยงเสียชีวิต ส่วนการวิจัยในไทยนั้นก็เป็นอีกแนวทางแก้ปัญหาหนึ่ง ที่แสดงถึงความพยายามของคณะแพทย์ของไทยที่ไม่หยุดคิด ไม่ยอมแพ้กับปัญหา ครั้งนี้ก็พยายามเอาชนะสายพันธุ์เดลตา ซึ่งก็ต้องพยายามหาทุกวิถีทางที่ดีที่สุด และทำอย่างเป็นระบบ หวังว่าจะประสบความสำเร็จ จนเป็นที่ยอมรับ น่าเชื่อถือ

แล้วนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในที่สุด โดยรัฐบาลเปิดกว้างและส่งเสริมให้มีการแสวงหาทางแก้ปัญหาที่ดีที่สุด สิ่งสำคัญคือรัฐบาลจะต้องให้ความรู้อย่างรอบด้านแก่ประชาชน ดังนั้น นายกรัฐมนตรีไม่มีนโยบายที่จะระงับการใช้วัคซีน “ผสมสูตร” แต่อย่างใด และขอให้ทุกฝ่ายรับฟังความเห็นของคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติในกรณี “วัคซีนผสมสูตร สลับสูตร” เพื่อนำมาพิจารณาอย่างถี่ถ้วนด้วย

ทั้งนี้ มีข้อเท็จจริงเพิ่มเติมที่สำคัญคือ องค์การอนามัยโลก (WHO) โดยหัวหน้านักวิทยาศาสตร์, Soumya Swaminathan ได้ให้ข้อสังเกตไว้ว่า “ประชาชนไม่ควรตัดสินใจเองในเรื่องนี้  แต่ควรเป็นการตัดสินใจของหน่วยงานของรัฐด้านสาธารณสุข บนพื้นฐานของข้อมูลที่มีอยู่ ทั้งในส่วนของภูมิคุ้มกันและความปลอดภัยเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องนำมาพิจารณา”