ปัญหาการบริโภค’ปลาวัยอ่อน’ เรื่องบางมุมที่คนไทยควรรู้

ปัญหาการบริโภค’ปลาวัยอ่อน’ เรื่องบางมุมที่คนไทยควรรู้

ปลาเล็กจิ๋วชนิดไหนที่เราบริโภคอยู่ทุกวี่ทุกวัน แล้วไม่รู้ว่านี่คือ"ปลาวัยอ่อน" หากปลาเหล่านี้ถูกจับ ถูกกินเยอะๆ แล้วอะไรจะเกิดขึ้นกับทะเลไทย

เราทุกคนเคยบริโภค...ปลาข้าวสาร(ปลากะตัก) ,ปลาทูแก้ว,หมึกกะตอย(หมึกกล้วย),ปูกะตอย(ปูม้า) สัตว์น้ำทั้งหมดที่กล่าวมา วิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย บอกว่า เป็นสัตว์น้ำวัยอ่อน แต่ผู้บริโภคอาจเข้าใจว่าเป็นสัตว์น้ำสายพันธุ์ใหม่หรือเป็นชื่อสัตว์น้ำสายพันธุ์เล็ก ซึ่งจริงๆ แล้วไม่ใช่

“ถ้าสัตว์น้ำยังไม่โตเต็มวัย ถูกจับไปจนหมด ก็ไม่เหลือสัตว์น้ำให้ขยายพันธุ์ เพราะที่ผ่านมาผู้บริโภคถูกทำให้เข้าใจว่า ปลาที่บริโภคอยู่เป็นปลาสายพันธุ์เล็ก ไม่ใช่ปลาวัยอ่อน”

ด้วยเหตุผลดังกล่าว องค์การอ็อกแฟมในประเทศไทย และสหภาพยุโรป จึงจัดเสวนาออนไลน์ "ปัญหาปลาเด็ก เรื่องไม่เล็กของทะเลไทย" เพื่อรณรงค์ให้ซูเปอร์มาร์เก็ตหยุดขายสัตว์น้ำวัยอ่อน และอยากให้คนบริโภคไตร่ตรองสักนิดว่า ถ้าเรายังบริโภคสัตว์น้ำวัยอ่อน ในอนาคตอาหารทะเลกำลังจะ #หมดแล้วจริงๆ

 ปัญหา”ปลาวัยอ่อน”

ถ้าให้แก้ปัญหาที่ชาวประมง เน้นไม่ให้จับสัตว์น้ำวัยอ่อน จิรศักดิ์ มีฤทธิ์ ชาวประมงพื้นบ้าน จ.ประจวบคีรีขันธ์ กล่าวว่า การทำประมงแบ่งออกเป็นสองกลุ่ม

กลุ่มแรกคือ ประมงพื้นบ้านออกเรือวันละครั้ง จับสัตว์น้ำแบบแยกประเภท ทำให้การออกเรือแต่ละครั้งต้องนำอุปกรณ์จับสัตว์น้ำเฉพาะชนิดไป ทำให้ไม่สามารถจับสัตว์น้ำได้คราวละมากๆ

ขณะที่กลุ่มที่สอง ประมงขนาดใหญ่มีเครื่องมือพร้อม ถ้าเป็นอวนล้อมจับคืนหนึ่งจับได้ 3-5 ครั้ง จับสัตว์น้ำได้ปริมาณมาก

“มีช่วงหนึ่งผมเคยจับปลาผิดประเภท โดยใช้อวนตาถี่จับลูกปลา วันหนึ่งหลายพันกิโลกรัม ทำให้เมื่อปี 2551 ไม่มีปลาให้จับ  จนสมาคมรักษ์ทะเลไทยลงพื้นที่ถอดบทเรียน ออกมาว่า สาเหตุที่ไม่มีปลาให้จับ เพราะเราเคยจับลูกปลาไปหมดไม่มีปลาขยายพันธุ์เลย

พวกเราจึงเลิกใช้อวนปลาขนาด 2.5 และ เป็นข้อตกลงในชุมชนว่าจะไม่ใช้อวนขนาดเล็กจับปลาอีก ถ้าเราปล่อยให้มันโต ค่อยจับ เราก็มีโอกาสรอด"

162624383259

 ส่วนหนึ่งของปลาวัยอ่อน 

รณรงค์หยุดจับ"สัตว์น้ำวัยอ่อน"

ว่ากันว่า การที่สัตว์น้ำวัยอ่อนหายไปจากทะเลนั้น ส่งปัญหาโดยตรงต่อระบบนิเวศ ดังที่วิโชคศักดิ์ อธิบายว่า

ปลาที่ถูกมนุษย์จับมาวางขายมากที่สุดคือ ปลากะตัก ซึ่งเป็นปลาขนาดเล็กโดยธรรมชาติ ไม่ว่าจะวัยเด็กหรือวัยโต พวกมันเป็นอาหารหลักของปลาทุกชนิดในระบบนิเวศ ถ้าจับปลาเหล่านั้นมาขาย จะทำให้ห่วงโซ่อาหารหายไป และทำให้ปลาโตกว่าหันมากินลูกตัวเอง  

" ต่อมาคือตัวปลาอย่างอื่นก็เริ่มลดน้อยลง ปลาทูแทบจะหายไปจากทะเลไทย เมื่อจับปลาได้น้อ คนก็พยายามจับมากขึ้น ประมงพื้นบ้านที่มีรายได้น้อยก็ได้รับผลกระทบ ส่วนประมงพาณิชย์ก็ต้องออกเรือจับให้มากขึ้น ใช้เวลา อวนและน้ำมันเรือมากขึ้นกระทบต่อเศรษฐกิจทั้งระบบ เพราะต้องจับสัตว์น้ำวัยอ่อนจำนวนมาก จึงจะมีน้ำหนักครบหนึ่งกิโลกรัม

162624390999

(ปล่อยให้โตเต็มที่ แล้วจับขายก็จะได้ราคามากกว่า)

แต่ถ้าเรารอให้สัตว์น้ำโตเต็มวัย แล้วขายก็ไม่จำเป็นต้องใช้ปริมาณขนาดนั้น ถ้ารอเพียงหกเดือน ปลาส่วนใหญ่ก็โตเต็มวัยและทำให้ราคาในตลาดเปลี่ยนเป็นราคาถูกลง หากไม่จัดการเรื่องนี้ต่อไปคนไทยจะกินปลาที่แพงมากขึ้น หาปลาที่มีคุณภาพมาบริโภคได้ยากมากขึ้น" วิโชคศักดิ์กล่าว

 

เลิกขายปลาวัยอ่อน

ธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการองค์กร Greenpeace กล่าวว่า หากดูประมงโลกจะพบว่า จีนเป็นมหาอำนาจของประมงทะเล เข้าใจว่ากองเรือประมงออกหาปลามีจำนวนมาก จีนจับปลา 15 เปอร์เซ็นต์ของประมงโลก โดยนิยมจับปลาเป็ดจนส่งผลกระทบวงกว้างต่อระบบนิเวศทางทะเลของจีน 80 เปอร์เซ็นต์เป็นปลาวัยอ่อน

ปริมาณของปลาเป็ดเหล่านี้มากกว่าปลาทั้งหมดที่จับได้ในประเทศไทย ทั้งนี้ก็มีข้อเรียกร้องเช่นกัน เพราะนโยบายการประมงของจีนนั้นท้าทายมาก และได้มีการคุยกันว่าพยายามลดการทำประมงทะเลให้เหลือ 10 ล้านตันต่อปีจาก 12-13 ล้านตัน และลดจำนวนกองเรือประมงลง จะช่วยให้ทะเลฟื้นฟูกลับมาได้ระดับหนึ่ง

"กรีนพีซในตุรกีมีงานรณรงค์เรื่องการจับสัตว์น้ำวัยอ่อนเมื่อราว 10 ปีก่อน และมีคนร่วมลงชื่อให้รัฐบาลออกกฎหมายห้ามจับปลาวัยอ่อน 8 ชนิด กว่า 5-6 แสนคน ทั้งยังมีการกดดันในหลายๆ ทางจนเกิดการเปลี่ยนแปลงกฎหมายประมงในตุรกีตามมา"

162624340631  

ปลาเล็กปลาน้อยที่ผู้บริโภคเข้าใจว่า เป็นปลาสายพันธุ์เล็ก

วิโชคศักดิ์เสริมว่า รายงานวิจัยล่าสุดเรื่อง  การสำรวจรูปแบบการจัดจำหน่ายสัตว์น้ำเศรษฐกิจที่โตไม่ได้ขนาดในประเทศไทยเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน พบว่า กลุ่มที่มีการซื้อขายสัตว์น้ำเศรษฐกิจวัยอ่อนมากที่สุดไล่ตามลำดับคือ

1.ห้างโมเดิร์นเทรด หรือตลาดค้าปลีก

  1. กลุ่มตลาดขายของฝาก
  2. ตลาดสด
  3. ตลาดออนไลน์ต่างๆ

“ผลจากการสำรวจใน 15 จังหวัดพบว่าความนิยมของการบริโภคในผู้คนในจังหวัดชลบุรีมาเป็นอันดับหนึ่ง รองลงมาคือนครราชสีมา ต่อมาคือกรุงเทพ แปลว่ากลุ่มเมืองใหญ่ที่มีผู้คนเยอะ มีชนชั้นกลางที่มีกำลังซื้อเยอะ เป็นกลุ่มลูกค้าหลักในการบริโภคสัตว์น้ำวัยอ่อนในไทย"วิโชคกล่าว

ทั้งนี้ปัจจุบันได้มีแคมเปญ "ซูเปอร์มาร์เก็ต: เลิกขายสัตว์น้ำที่ยังไม่โตเต็มวัย เพราะอาหารทะเลกำลังจะ #หมดแล้วจริงๆ"  ซึ่ง ธันวา เทศแย้ม ชาวประมงรุ่นใหม่ ได้สร้างแคมเปญนี้ เพื่อรณรงค์เลิกกินปลาเล็กผ่านเว็บไซต์ Change.org/BabySeafood