‘ซีทัช’ ฟิล์มสมาร์ทนาโนไอออน นวัตกรรมฆ่าเชื้อไร้เสี่ยงโรคอุบัติใหม่

‘ซีทัช’ ฟิล์มสมาร์ทนาโนไอออน นวัตกรรมฆ่าเชื้อไร้เสี่ยงโรคอุบัติใหม่

จากการรวมตัวกันของสามวิศวกรที่มีความรู้และความเชี่ยวชาญเรื่องเทคโนโลยีการฆ่าเชื้อ ร่วมกันคิดค้นและผลิตเครื่องฉายแสงฆ่าเชื้อโรคยูวีซีที่ถูกนำไปใช้ในสถานที่ต่างๆ พร้อมกับส่งออกไปยังหลายประเทศ หนึ่งในนั้นคือ “เกาหลีใต้”

ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้และร่วมมือต่อยอดสู่การพัฒนา “ซีทัช” (Z-Touch) สติกเกอร์ฆ่าเชื้อโควิดที่ติดตาม “จุดสัมผัสร่วม” โดยมีเป้าหมายคือการยกระดับความปลอดภัยและสุขอนามัยของผู้คน

162617895878

วิษณุ จินตนาศิริกุล ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ลีฟคลีน เทคโนโลยี จำกัด กล่าวว่า จากการศึกษาวิจัยพบว่า เชื้อไวรัสและแบคทีเรียจะแพ้ทาง “นาโนไอออน” ซึ่งจะเข้าไปทำลายโปรตีนของไวรัสรวมถึงผนังเซลล์ของแบคทีเรีย จึงเป็นจุดเริ่มต้นพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่จะนำไอออนไปบรรจุไว้เพื่อให้มีประจุมากขึ้น และทำลายเชื้อได้เร็วขึ้นเรียกว่า “สมาร์ทนาโนไอออน” จากนั้นทำการทดสอบสินค้าตั้งแต่เดือน เม.ย.2563

สมาร์ทนาโนไอออนฆ่าไวรัส

สมาร์ทนาโนไอออนที่อยู่ในรูปแบบสติกเกอร์หรือแผ่นฆ่าเชื้อแบบแห้งนี้ เมื่อมีเชื้อโรคตกลงบนแผ่นจะถูกดูดลงสู่ชั้นล่างทันทีด้วยเทคโนโลยีไมโครพอรัสเลเยอร์ ซึ่งทำหน้าที่เสมือนหลุมดำ ทำให้เชื้อไม่คาบนพื้นผิว ลดการส่งต่อของเชื้อไวรัส ทำให้พื้นผิวของแผ่นซีทัชสะอาดตลอดเวลา ขณะที่กลไกการทำงานของสมาร์ทนาโนไอออนจะทำปฏิกิริยากับแอคทีฟอ๊อกซิเจน ทำลายโครงสร้างเชื้อโรคโดยสมบูรณ์ในระดับอาร์เอ็นเอและดีเอ็นเอ ทั้งนี้ ซีทัชมีอายุการใช้งาน 10,000 touches หรือเทียบเท่า 90 วัน

162617898824

ทั้งนี้ ซีทัชมีผลรับรองการฆ่าเชื้อ Human Coronavirus และผลการทดสอบจาก ALG LAB Group สหรัฐที่ยืนยันประสิทธิภาพฆ่าเชื้อโควิด-19 ได้มากถึง 99.9% ภายใน 5 นาที นอกจากนั้นได้ผ่านการรับรองมาตรฐานจากสถาบันต่างๆ อาทิ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา สหรัฐ, CE-Mark ยุโรป, SIAA ญี่ปุ่น รวมทั้งมีผลการทดลองในไทย โดยภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี

162617902733

“บริษัทได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ให้อยู่ใน 4 รูปแบบคือ แผ่นฆ่าเชื้อสำหรับติดมือถือ แผ่นฆ่าเชื้อสำหรับติดประตู แผ่นฆ่าเชื้อสำหรับติดเคาน์เตอร์และแผ่นฆ่าเชื้อแบบอเนกประสงค์สำหรับตัดใช้ตามจุดสัมผัสร่วมทั้งหมด เหตุที่ต้องเป็นแผ่นแปะแบบสติกเกอร์เพราะมองในเรื่องความเป็นมิตรกับผู้ใช้คือใช้สะดวก ง่ายและปลอดภัย จึงออกแบบให้เป็นแผ่นแปะ นอกจากจะฆ่าเชื้อบนพื้นผิวแล้วยังฆ่าเชื้อบนพื้นผิวของมือที่ไปสัมผัสมากถึง 68%”

ส่วนแผนการตลาดและการจัดจำหน่ายในประเทศไทยนั้น มีบริษัท มาซูม่า (ประเทศไทย) จำกัดเป็นตัวแทนจำหน่าย รวมทั้งจำหน่ายผ่านโชว์รูมเอสซีจีทั่วประเทศ โฮมโปร บุญถาวรและห้างโมเดิร์นเทรดอย่าง ดิเอ็มโพเรียม สยามพารากอน เดอะมอลล์และร้านค้าต่างๆ นอกจากนี้ยังมีช่องทางออนไลน์บนเว็บไซต์

วิษณุ กล่าวต่อไปว่า การวิจัยและพัฒนายังไม่หยุดเพียงเท่านี้ เนื่องจากต้องการเป็น “ผู้นำ” ด้านการฆ่าเชื้อพร้อมกับพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ ให้กับคนไทย จึงได้ต่อยอดสู่การพัฒนา “ฟิล์มใส” ติดตั้งบนหน้าจอโทรศัพท์มือถือ โดยได้รับผลการรับรองการฆ่าเชื้อโควิดจากแล็บฟอนเดเรฟาร์ ฝรั่งเศส รวมทั้งฟิลเตอร์เส้นใยสังเคราะห์กรองฆ่าเชื้อในอากาศสำหรับเครื่องปรับอากาศ ที่สามารถติดกับฟิลเตอร์เดิมได้เลย ทำให้เพิ่มฟังก์ชั่นที่ไม่ได้กรองแค่ฝุ่นแต่สามารถกรองไวรัสโควิดได้ด้วย ทั้งหมดนี้เตรียมออกสู่ตลาดภายในสิ้น ส.ค.นี้​​​

ความท้าทายคือ “เวลา”

สำหรับความแตกต่างกับแผ่นสติกเกอร์ในตลาดนั้น ส่วนประกอบแผ่นแปะฆ่าเชื้อทั่วไปมีความเร็วในการออกฤทธิ์ไม่ทันกับยุคปัจจุบัน และส่วนใหญ่จะเป็นฟิล์มทองแดง แต่ซีทัชเป็นนาโนไอออนที่ดักจับเชื้อไวรัสได้อย่างรวดเร็วและฆ่าเชื้อได้อย่างทันท่วงที

“ความท้าทายในมุมมองของการพัฒนานวัตกรรมคือ “เวลา” เพราะทุกวันจำนวนผู้ป่วยเยอะขึ้นทุกวัน และส่งผลแล็บทดสอบที่พัฒนากว่าจะได้ผลโควิดต้องแข่งกับเวลาว่าสินค้าจะถูกส่งสู่ตลาดทันการณ์หรือไม่ ส่วนความยากคือ การส่งทดสอบแล็บมีค่าใช้จ่ายสำหรับสตาร์ทอัพค่อนข้างสูง อีกทั้งการ Educate ผู้บริโภคให้เข้าใจว่ามีนวัตกรรมที่ช่วยป้องกันการส่งต่อของเชื้อโควิด-19 รวมถึงทำให้คนที่สัมผัสมั่นใจ ถือเป็นความท้าทายของสินค้าใหม่ เนื่องจากยังไม่เป็นที่รู้จัก ดังนั้น ต้องเน้นการตลาดเพื่อให้เข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคมากที่สุด ซึ่งปัจจุบันได้รับเสียงตอบรับดีขึ้นมากจากวันแรกๆ แม้จะใช้เวลาในการให้ความรู้มากเช่นกัน”

162617904484

ทางด้านกลุ่มเป้าหมายจะเป็นเจ้าของธุรกิจที่ต้องการสร้างความเชื่อมั่นให้กับแบรนด์ อาทิ เอสเอ็มอี โรงแรม โรงเรียน รวมถึงสถานที่อาคารต่างๆ ที่ต้องการลดการส่งต่อเชื้อโควิดในจุดสัมผัสร่วมทั้งหมด

รุกตลาดเมดิคัลไทย-อินเตอร์

สำหรับกลยุทธ์ทางการตลาด วิษณุ ตั้งเป้ารายได้ทั้งในและต่างประเทศในปีแรก 300 ล้านบาท สามารถขยายตัวและเติบโตต่อเนื่องได้อย่างน้อยปีละประมาณ 30-50% เนื่องจากมีการพันธมิตรกับต่างชาติด้วย (Fly Contact) และมีการส่งออกมากกว่า 25 ประเทศ อาทิ กลุ่มประเทศเออีซี ฮังการี สวีเดน อิตาลี (สัดส่วนไทย 80% ต่างชาติ 20% จากเดิม 50:50) ตอนนี้จะเน้นตลาดคนไทย เพราะจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่และผู้ป่วยโควิดสูงขึ้นทุกวัน และ “จุดสัมผัสร่วม” เป็นเพนพ้อยต์มากในปัจจุบัน แต่อย่างไรก็ตามมีแผนที่จะตกลงสัญญากับต่างประเทศเพื่อทำการส่งออกภายในไตรมาส 3 ปีนี้ ดังนั้น บิซิเนสโมเดลจึงมีทั้ง B2B และ B2C

สุดท้ายนี้ วิษณุ มองว่า อุตสาหกรรมฆ่าเชื้อนี้จะเป็น “นิวนอร์มอล” ผู้คนจะให้ความสำคัญกับสุขภาพสุขอนามัยมากขึ้น เชื่อว่าธุรกิจเพื่อสุขภาพจะเติบโตสูงจากเดิม 3-4 เท่า จึงทำให้มีคู่แข่งจำนวนมาก บริษัทจึงต้องพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่อย่างต่อเนื่อง แต่จะอยู่ในเซกเตอร์การฆ่าเชื้อแบบแห้ง เพื่อผลักดันแบรนด์ของคนไทยให้สามารถเทียบเท่าแบรนด์ระดับโลกได้ ซึ่งปัจจุบันยอดกำลังการผลิตสูงขึ้นเกือบ 20 เท่า