‘ติดโควิด’ อย่าตระหนก! รู้ขั้นตอนหาเตียงผ่าน ‘isickineedbed’

‘ติดโควิด’ อย่าตระหนก! รู้ขั้นตอนหาเตียงผ่าน ‘isickineedbed’

หาก "ติดโควิด" อย่าตื่นตระหนก ต้องมีสติ และรู้วิธีจัดการตนเอง พร้อมติดต่อเจ้าหน้าที่ ขอความช่วยเหลือจากอาสาสมัครต่างๆ ล่าสุด.. กลุ่มอาสาได้จัดทำเว็บไซต์ "isickineedbed" ช่วยผู้ป่วยหาเตียงอีกช่องทาง

เมื่อสถานการณ์ "โควิด-19" สายพันธุ์เดลตา แพร่ระบาดรุนแรงในกรุงเทพฯ ปริมณฑล เราจึงเห็นยอดผู้ติดเชื้อพุ่งสูงทะลุ 8-9 พันราย ติดต่อกันหลายวัน ไม่แน่ว่าวันพรุ่งนี้คุณอาจเป็นหนึ่งในจำนวนผู้ที่ "ติดโควิด" ก็เป็นได้

หากคุณได้เข้ารับการ "ตรวจโควิด" แล้วพบผล "บวก" สิ่งแรกที่ต้องทำคือ อย่าตื่นตระหนก เพราะนั่นไม่ช่วยให้อะไรดีขึ้น พยายามตั้งสติให้มากที่สุด จากนั้นมาดูวิธีจัดการตัวเองในฐานะผู้ป่วยโควิด ว่าต้องทำอย่างไรบ้าง?  กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ สรุปเป็นคู่มือฉบับเร่งด่วนมาให้ ดังนี้

เพจ "Nana Bhumirat" ซึ่งเป็นอาสาสมัครประสานหาเตียง แชร์ข้อมูลสำหรับผู้ติดเชื้อว่า "หากรู้ผลว่าติดเชื้อ Covid-19 แล้ว อย่าตระหนก ควรมีสติ คุณไม่ได้รอความตาย โรคนี้หายได้ ถ้ารู้ขั้นตอนการดูแลและประเมินอาการอย่างถูกต้อง ต้องแยกกักตัวอย่างเคร่งครัด พร้อมประเมินอาการตนเองเบื้องต้นว่าอยู่ระดับใด (เขียว/เหลือง/แดง)" โดยให้ทำตามนี้

1. ประเมินระดับอาการป่วย

ขั้นตอนแรกให้คุณแยกกักตัวเอง สวมหน้ากาก พร้อมประเมินอาการเบื้องต้นว่าอยู่ระดับใด (เขียว/เหลือง/แดง)

  • เขียว: มีไข้เล็กน้อย เจ็บคอ หายใจไม่เต็มปอด หรือไม่มีอาการ
  • เหลือง: เหนื่อยหอบ ร่วมกับมีไข้ พูดไม่เป็นคำ มีอาการสับสน มีโรคประจำตัว เช่น โรคปอด โรคหัวใจ ร่วมด้วย
  • แดง: พูดได้ประโยคสั้นๆ หายใจเสียงดัง แรง เร็วและลึก นอนราบไม่ได้ ต้องนั่งหายใจเท่านั้น ค่าออกซิเจนต่ำกว่า 95

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : 

2. สิ่งที่ควรหาซื้อติดไว้ (ถ้าทำได้)

  • หาซื้อเครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว
  • หาซื้อสมุนไพรฟ้าทะลายโจร กระชายขาวสกัดแบบเม็ด
  • ขอความช่วยเหลือ "ถังออกซิเจน"

3. เตรียมข้อมูลเพื่อประสานหาเตียง/ขอความช่วยเหลือ

  • แจ้งชื่อ-สกุล อายุ โรคประจำตัว ที่อยู่ เบอร์โทรติดต่อ ของผู้ป่วยและของญาติ วันที่ได้รับผลการตรวจ Covid-19 (หรือแนบเอกสาร) อาการป่วยล่าสุด
  • ถ่ายรูปบัตรประชาชน และเอกสารยืนยันผลตรวจ Covid-19 Real-time RT-PCR เท่านั้น
  • กรอกข้อมูลลง google form เพื่อเก็บข้อมูล เตรียมประสานงานต่อ คลิกกรอกข้อมูลที่นี่  

จากนั้นติดต่อเจ้าหน้าที่ โทร. 1330, 1668 โทรจนกว่าจะมีผู้รับสายหรือมีเจ้าหน้าที่รับเรื่อง ห้ามวางสายไปก่อน แนะนำว่าถ้าเคสแดง ด่วน วิกฤติแล้ว ให้โทร. 1669 แจ้งขอเตียงภายใน 24 ชม. หรือติดต่อเพจอาสาสมัครอื่นๆ เท่าที่ทำได้

4. ล่าสุดมีเว็บ "isickineedbed" ช่วยอีกทาง

ล่าสุด.. กลุ่มอาสาสมัครได้จัดทำเว็บไซต์ isickineedbed ขึ้นมาเพื่อช่วยผู้ป่วยโควิดหาเตียงอีกช่องทางหนึ่ง สามารถเข้าไปขอความช่วยเหลือได้ที่ isickineedbed โดยให้ผู้ป่วยลงทะเบียนพร้อมระบุรายละเอียด ดังนี้

  • ระบุชื่อ นามสกุล อายุ จังหวัด เบอร์ติดต่อ
  • ระบุโรคประจำตัว และวันที่พบเชื้อ
  • ระบุสิ่งของที่ผู้ป่วยต้องการ (อาหาร ยา ถังออกซิเจน)
  • อัพเดทอาการป่วยแบบเรียลไทม์
  • อัพเดทสถานะ (ได้รับการช่วยเหลือแล้วหรือไม่)
  • คลิกปุ่มขอความช่วยเหลือจากเพจอาสาอื่นๆ ได้ (หมอแล็บแพนด้า/เส้นด้าย/เราต้อรอด/WEVOLUNTEER)

162618342277

5. ผู้ป่วยสีเขียว เข้าระบบ Home Isolation

อีกทั้งมีข้อมูลบจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ระบุไว้ก่อนหน้านี้ว่า สปสช. 1330 ได้เร่งประสานงานหาเตียงแก่ผู้ติดเชื้อโควิด-19 แต่ยังไม่มีเตียงรองรับ ดังนั้น สปสช.จึงได้ปรับแนวทางการดูแล โดยผู้ติดเชื้อกลุ่มสีเขียวจะต้องเข้าระบบ Home Isolation หรือ Community Isolation ทั้งหมด ภายใต้การดูแลของคลินิกชุมชนอบอุ่น

โดยคลินิกชุมชนอบอุ่นในพื้นที่จะติดต่อไปหาผู้ป่วยภายใน 48 ชั่วโมง จากนั้นจะส่งเครื่องวัดไข้และเครื่องวัดระดับออกซิเจนในเลือดไปให้ที่บ้าน รวมถึงยาฟ้าทะลายโจร และมีบุคลากรทางการแพทย์ของคลินิกนั้นๆ ดูแล แพทย์จะวิดีโอคอลหาทุกวันเพื่อติดตามประเมินอาการ พร้อมจัดส่งอาหารให้วันละ 3 มื้อ

162618448431

ส่วนของผู้ป่วยกลุ่มสีเหลืองและสีแดง (อาการรุนแรงปานกลางและรุนแรงมาก) จะไม่ใช้การดูแลแบบ Home Isolation แต่จะรับตัวเข้ารักษาในโรงพยาบาล รวมทั้งกรณีผู้ป่วยที่รักษาตัวที่บ้านแล้ว อาการมีแนวโน้มแย่ลง คลินิกชุมชนอบอุ่นที่ดูแลผู้ป่วยรายนั้น จะประสานกับโรงพยาบาลรับส่งต่อผู้ป่วยไปรักษายังโรงพยาบาลที่อยู่ในเครือข่าย

ในกรณีที่โรงพยาบาลรับส่งต่อก็เตียงเต็มอีก ก็จะประสานสายด่วน 1330 ของ สปสช. หรือสายด่วน 1668 ของกรมการแพทย์ เพื่อหาเตียงให้ ซึ่งระหว่างที่รอเตียงอยู่ ก็จะส่งยาฟาวิพิราเวียร์ไปให้ที่บ้าน เพื่อประคองอาการ จนกว่าจะได้เตียง

อ่านเพิ่ม : 'สปสช.' แนะผู้ป่วยโควิดรอเตียง เข้าระบบรักษาที่บ้าน ภายใต้การดูแลคลินิกชุมชน

--------------------------

อ้างอิง : 

isickineedbed.web.app

สปสช.

Nana Bhumirat (อาสาสมัครประสานหาเตียง)