'พนันกับโควิด ภัยร้ายใต้ภูเขาน้ำแข็ง' บทเรียน 'นักพนันวัยเก๋า' ที่เจ็บต้องจำ

'พนันกับโควิด ภัยร้ายใต้ภูเขาน้ำแข็ง' บทเรียน 'นักพนันวัยเก๋า' ที่เจ็บต้องจำ

"พนันกับโควิด ภัยร้ายใต้ภูเขาน้ำแข็ง" สะท้อนมุมมองของผู้ได้รับผลกระทบ สถานการณ์พนันช่วง "โควิด 19"

ศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน ร่วมกับ มูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) นำบทเรียนของป้าจัน นักพนันวัยเก๋า 65 ปี มาเตือนสติให้ฉุกคิด ผ่านงานเสวนาในหัวข้อ พนันกับโควิด ภัยร้ายใต้ภูเขาน้ำแข็ง สะท้อนมุมมองของผู้ได้รับผลกระทบ สถานการณ์พนันช่วงโควิด-19 และแนวทางแก้ไขทางจิตวิทยาเกี่ยวกับนักพนัน 

ป้าจัน เป็นอีกคนที่ติดโควิด 19 จากเพื่อนนักพนัน แค่เพียงพูดคุย ชักชวน นัดหมาย โดยไม่ใส่หน้ากากอนามัย ไม่เว้นระยะห่าง เมื่อติดโควิด 19 มีอาการป่วย ก็ต้องผจญกับปัญหาไร้เตียงนาน 5 วัน ทั้งไข้สูง ปวดตัว ซ้ำพาลให้คนในบ้านติดโควิด 19 แบบยกครัว จนร้องขอให้ประธานชุมชนช่วยเหลือประสานภาครัฐจัดหาเตียงให้

ป้าจัน บอกเล่าประสบการณ์ว่า เริ่มเล่นพนัน ตั้งแต่อายุ 30 ปี สลับเข้าออกในบ่อน เหตุเพราะชอบและเพลิน แต่มีกฎเหล็กก่อนไปเล่นคือต้องดูแลครอบครัวให้ดี ซึ่งการเล่นมีได้มีเสีย มากสุดนับหมื่นบาท แต่เมื่อได้ก็เพลินอยากอยู่นาน เพราะหวังได้เพิ่ม โดยกลับไปเล่นอีกครั้ง ตั้งแต่มีโควิดระลอกแรกจนมาระลอก 3 ผลจากการติดโควิดครั้งนี้ ส่งผลให้ตนและครอบครัวถูกรังเกียจ และลูกสาวยังตกงาน จึงอยากให้เรื่องนี้เป็นอุทาหรณ์ 

รศ.นวลน้อย ตรีรัตน์ ผู้อ้านวยการศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน กล่าวว่า จากข้อมูลของศูนย์ศึกษาฯ ที่ได้ทำการสำรวจ และเปรียบเทียบการเล่นพนันในช่วงวิกฤตโควิด ในกลุ่มเด็กอายุ 15 ปี ขึ้นไปใน 24 จังหวัด จำนวน 7,000 คน ตั้งแต่ 28 .. – 8 เม.. 2564 พบว่า ผู้เล่นการพนันทุกชนิดในรอบ 12 เดือน มี 32.3 ล้านคน เพิ่มจากปี 2562 ประมาณ 1.9 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้น 6.3% พบผู้หญิงเล่นพนันเพิ่มขึ้นมากกว่าชาย ส่วนอายุของผู้เล่น พบในกลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปี มากขึ้น ทั้งนี้สิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงโควิด พบว่า รายได้ของผู้คนส่วนใหญ่ลดลง แต่เวลามีมากขึ้น จึงเป็นเหตุปัจจัย ให้เกิดนักพนันหน้าใหม่มากขึ้น และ พบว่า สัดส่วนของการซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาลและหวยใต้ดินเพิ่มขึ้น 8% และหวยอื่นๆ หรือหวยต่างประเทศ 7.3%

162615590650

รศ.นวลน้อย กล่าวว่า ส่วนเหตุผลของการเล่นพนัน ส่วนใหญ่ระบุเพื่อการเสี่ยงโชค ตื่นเต้น เพลิดเพลิน และชื่นชอบเป็นการส่วนตัว และเมื่อสอบถาม ผลกระทบจากการพนัน มีถึง 15% หรือ ราว 4.8 ล้านคน ระบุได้รับผลกระทบ โดยเป็นเรื่อง ขาดเงินใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน 60.7% เพราะรายได้จากโควิดน้อยอยู่แล้ว ยิ่งมาเล่นพนัน รายได้ยิ่งหดหาย และยังมีปัญหาความเครียด เกิดหนี้สิน ทั้งนี้ จากการสำรวจเรื่องภาระหนี้สินจากการพนัน เมื่อเปรียบเทียบระหว่างปี 62 กับ ปี 64 พบว่า เพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 20 โดยในช่วงสถานการณ์โควิดรอบแรก คนส่วนใหญ่ไม่เล่นพนันเพราะกลัวโควิด แต่ตอนหลังพบว่า มีการหันมาเล่นพนันออนไลน์มากขึ้น 2% เพราะสามารถเล่นได้บ่อย

รศ.นวลน้อย กล่าวว่า หากจำแนกชนิดของการพนันแต่ละประเภท จะพบว่า เล่นพนันออนไลน์มีสัดส่วนเพิ่มขึ้น 24.4% แต่การเล่นพนันแบบเข้าบ่อนกลับลดลง 16% แต่ก็มีพนันหน้าใหม่เข้าบ่อนถึง 50,000 คน ส่วนวงเงินพนันในบ่อนลดลง 11.2% ส่วนการเล่น คาสิโนออนไลน์ หรือบ่อนออนไลน์ มีผู้เล่นเพิ่มขึ้นกว่าปี 62 ถึง 135% หรือ เกือบ 2,000,000 คน จากเดิมมีคนเล่น 800,000 คน โดยเป็นนักพนันหน้าใหม่ 400,000 คน มีวงเงินหมุนเวียน 431% หรือคิดเป็นเงิน 107,707 ล้านบาท มากกว่าปี 62

ทั้งนี้ จากปัญหาโควิดที่มาจากคลัสเตอร์ในบ่อนพนันในภาคตะวันออก ทำให้สังคมจับจ้องจนเกิดรูปแบบของบ่อนพนันเปลี่ยนไป เป็นการเล่นในบ่อนชุมชน บ่อนวิ่ง บ่อนงานศพ เป็นการเล่นพนันแบบใกล้ตัวมากขึ้นคิดเป็น 98% ส่วนรูปแบบการเล่น ไพ่ ไฮโล โปปั่น ส่วนในออนไลน์มีหลากหลายรูปแบบ แต่ที่นิยมมากคือ บาคาร่า ป็อกเด้ง และมีระบบการเงินที่สะดวกง่าย เล่นได้ทุกที่ แทงฝากถอนได้เร็ว ช่องทางการเล่นแค่ผ่านโทรศัพท์มือถือ

พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ความเสี่ยงการติดเชื้อโควิด 19 ไม่เปลี่ยนวิธีการ ยังมาจากการสัมผัสใกล้ชิดผู้ติดเชื้อ การอยู่ใกล้กัน 1-2 เมตร การไม่ได้ระมัดระวังตัว ไม่ได้สวมหน้ากากตลอดเวลา ซึ่งเข้าได้กับธรรมชาติของการเล่นพนัน ทั้งใกล้ชิด ไม่ระวังตัว ขณะนี้พบปัญหาการติดโควิดแบบยกครัว และพบอัตราการเสียชีวิตสูงขึ้นในการระบาดระลอกนี้ และเริ่มพบปัญหาสุขภาพจิตมากขึ้นจากความเครียด กังวล และรู้สึกผิด ที่ทำให้คนใกล้ชิด คนในชุมชนติดโควิด

พญ.พรรณพิมล กล่าวว่า เมื่อรูปแบบการเล่นพนันที่เปลี่ยนไป มาเป็นการเล่นพนันในชุมชน ดังนั้น ต้องสร้างความรู้สึกปลอดภัยในชุมชน สร้างความตระหนักถึงความเสี่ยงร่วมกันหากมีการติดโควิดในชุมชน แต่ทั้งนี้แบ่งนักพนักออกเป็น 3 กลุ่ม

  1. ติดพนันไม่สนวิธีการพาตัวไปเล่นเสมอ
  2. ติดพนันแต่พอหยุดได้ โดยใช้กลไกครอบครัว ชุมชน
  3. คนที่เหนื่อยล้า ไม่สนเหตุผล ก็อาจเข้าไปเล่นพนัน เพื่อผ่อนคลาย

ดังนั้นกรมสุขภาพจิต และชุมชนต้องร่วมกันดูแล ประคับประคอง พร้อมย้ำ พลังใจในครอบครัว มีส่วนสำคัญในการผลักดันชีวิต เช่นเดียวกันกับชุมชนก็ต้องเอื้อเฟื้อ และให้กำลังใจกัน

162615638483

นายธนากร คมกฤส เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน กล่าวว่า การแพร่ระบาดของโควิด ไม่ได้ทำให้นักพนันหายไป เพียงหยุดช็อกเป็นบางช่วง แต่จะเห็นว่าคลัสเตอร์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น มีการเชื่อมกับการพนันและบ่อน ทั้งเวทีมวย บ่อนชายแดน และบ่อนชุมชนแบบดาวกระจาย จนเป็นที่มาของการเกิดช่องทางร้องเรียนเรื่องพนัน บางเดือนมีตัวเลขการร้องเรียนมากถึง 200 เรื่อง โดยรูปแบบการเล่นพนันที่อยู่ในวงสังคมไทยมี สลากกินแบ่ง หวยใต้ดิน ไพ่ พนันฟุตบอล และบ่อนต่างๆ ซึ่งรูปแบบการพนันที่น่าห่วงที่สุดคือ การเล่นไพ่และพนันในบ่อน เพราะเป็นการพนันที่ใช้เนื้อที่ อยู่นานหลายชม. ผิดกับรูปแบบการเล่นพนันอื่นที่ไม่ใช้เนื้อที่ เป็นเพียงการซื้อขายผ่านคนกลาง หรือเป็นเล่นตามฤดูกาล และสิ่งสำคัญที่น่ากลัวที่สุดคือ นักพนันไม่กลัวโดนจับ และไม่กลัวการติดโควิด ทั้งนี้ อยากเรียกร้องให้ ภาครัฐเข้าไปช่วยเหลือผู้นำชุมชน ให้ชุมชนเข้มแข็งอยู่ได้

162615657912

162615659777