มาตรการเยียวยา ยังไม่ใช่ครั้งสุดท้าย

มาตรการเยียวยา  ยังไม่ใช่ครั้งสุดท้าย

การตัดสินใจประกาศล็อกดาวน์ช้ากว่าครั้งที่ผ่านมา วัคซีนที่นำมาใช้อาจไม่ตอบโจทย์รัฐบาลจึงต้องเตรียมการเยียวยาไว้เพิ่มเติม

การระบาดของโรคโควิด-19 นับตั้งแต่พบผู้ติดเชื้อในประเทศไทยครั้งนี้เมื่อเดือน ม.ค.2564 มีการออกมาตรการจากรัฐบาลมาต่อเนื่อง ทั้งมาตรการควบคุมการระบาด เช่น การล็อกดาวน์ทั้งในแบบทั่วประเทศและการล็อกดาวน์เฉพาะพื้นที่ ในขณะที่การออกมาตรการเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบได้ใช้เงินจำนวนมากจนรัฐบาลต้องออก พ.ร.ก.เพื่อให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินถึง 2 ฉบับ รวมวงเงินที่ใช้ในการกู้ 1.5 ล้านล้านบาท และรัฐบาลกำลังทยอยทำสัญญากู้เงินตามความต้องการที่เพิ่มขึ้น

วงเงินกู้ที่รัฐบาลจัดหามามีการคาดการณ์ว่าจะไม่เพียงพอเมื่อสถานการณ์การระบาดระลอกที่ 3 ในเดือน เม.ย.-ก.ค.2564 รุนแรงมีผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตต่อวันสูงอย่างต่อเนื่อง และสูงที่สุดเมื่อเทียบกับการระบาดระลอกที่ 1 และระลอกที่ 2 ในขณะที่รัฐบาลประกาศล็อกดาวน์แคมป์คนงานในพื้นที่ 6 จังหวัด เมื่อวันที่ 28 มิ.ย.2564 ถัดมาอีกเกือบ 2 สัปดาห์ สถานการณ์การระบาดเลวร้ายมากยิ่งขึ้นทำให้รัฐบาลตัดสินใจประกาศล็อกดาวน์เต็มพื้นที่ 10 จังหวัดที่มีการระบาดอย่างรุนแรง

การประกาศล็อกดาวน์ครั้งนี้เห็นได้ชัดว่ารัฐบาลตัดสินใจช้าเมื่อเทียบกับการระบาดระลอกที่ 1 ที่ประกาศล็อกดาวน์เมื่อวันที่ 25 มี.ค.2563 มีจำนวนผู้ติดเชื้อสะสมก่อนประกาศล็อกดาวน์เพียง 934 ราย ในขณะที่จำนวนผู้ติดเชื้อสะสมก่อนประกาศล็อกดาวน์ครั้งล่าสุด 10 จังหวัด อยู่ที่ 308,230 ราย (นับเฉพาะยอดผู้ติดเชื้อสะสมระลอกที่ 3) ถือเป็นสถานการณ์ก่อนการประกาศล็อกดาวน์ที่แตกต่างกันมาก ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะการประกาศล็อกดาวน์ต้องใช้งบประมาณในการเยียวยา

ในขณะที่การเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 และได้รับผลกระทบจากมาตรการยกระดับควบคุมการระบาดเป็นเรื่องจำเป็นที่รัฐบาลหลายประเทศดำเนินการ โดยมาตรการของแต่ละประเทศขึ้นอยู่กับสถานะทางการคลังของแต่ละรัฐบาล ซึ่งประเทศไทยใช้วิธีการกู้เงินเพื่อนำมาใช้ควบคุมการระบาด เยียวยากลุ่มผู้ได้รับผลกระทบ และใช้สำหรับการฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงอย่างรุนแรง แต่มีการโยกงบประมาณฟื้นฟูไปใช้เยียวยาอย่างต่อเนื่อง

สถานการณ์การระบาดที่มีเชื้อกลายพันธุ์ทำให้การควบคุมการระบาดยากขึ้น โดยเฉพาะวัคซีนที่นำมาใช้อาจไม่ตอบโจทย์ในการป้องกันเชื้อไวรัสทุกประเภท และมีความเป็นไปได้สูงที่การออกมาตรการเยียวยาการล็อกดาวน์ครั้งล่าสุดอาจไม่ใช่การเยียวยาครั้งสุดท้าย นั่นหมายความว่ารัฐบาลต้องเตรียมการเยียวยาไว้เพิ่มเติมตราบใดที่การฉีดวัคซีนยังไม่มีจำนวนเพียงพอกับการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ได้ และจนกว่าคนไทยจะได้ฉีดวัคซีนที่ป้องกันเชื้อไวรัสได้ทุกสายพันธุ์