‘ไทย - ฝรั่งเศส’ จัดทำโรดแมพ ยกระดับหุ้นส่วนรอบด้าน หลังโควิด

‘ไทย - ฝรั่งเศส’ จัดทำโรดแมพ ยกระดับหุ้นส่วนรอบด้าน หลังโควิด

‘ไทย - ฝรั่งเศส’ ประชุมออนไลน์ ตกลงจัดทำโรดแมพปี 2564 - 2567 ยกระดับความเป็นหุ้นรอบด้าน ตั้งแต่วัคซีน สาธารณสุข ท่องเที่ยว การค้าการลงทุน เศรษฐกิจ หลังโควิด-19

กระทรวงการต่างประเทศไทย และกระทรวงกิจการยุโรปและการต่างประเทศฝรั่งเศส ร่วมผลักดันความร่วมมือรูปธรรมในด้านต่าง ๆ อาทิ เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green - BCG Economy) เทคโนโลยีและนวัตกรรม สาธารณสุข การท่องเที่ยว และสิ่งแวดล้อม พร้อมเร่งรัดให้มีการจัดทำโรดแมพ  เพื่อยกระดับความสัมพันธ์ไปสู่ความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ ระหว่างการประชุม Political Consultations

นายดุสิต เมนะพันธุ์ รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ เป็นประธานกล่าวเปิดการประชุม Political Consultations ระหว่าง ไทย-ฝรั่งเศส ครั้งที่ 3 ผ่านระบบการประชุมทางไกล ร่วมกับนางอานน์ เกเกว็น (Mrs. Anne Gueguen) รองปลัดกระทรวงกิจการยุโรปและการต่างประเทศฝรั่งเศส โดยมีนางจุฬามณี ชาติสุวรรณ อธิบดีกรมยุโรป เป็นผู้ดำเนินการประชุมร่วมกับฝ่ายฝรั่งเศส และมีนายศรัณย์ เจริญสุวรรณ เอกอัครราชทูต ณ กรุงปารีส และนายตีแยรี มาตู (Mr. Thierry Mathou) เอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย เข้าร่วม

ทั้งสองฝ่ายได้หารือสาขาความร่วมมือทวิภาคี อาทิ ความร่วมมือด้านวัคซีนโควิด-19 ประเด็นสาธารณสุข ความมั่นคง การป้องกันประเทศ ความปลอดภัยทางถนน เศรษฐกิจการค้าและการลงทุน โดยเฉพาะสาขาระบบโครงสร้างพื้นฐานทางคมนาคม การท่องเที่ยว รวมถึงการเปิดประเทศ อาทิโครงการภูเก็ตซนด์บ็อกซ์ ตลอดจนความร่วมมือด้านวิชาการ วิทยาศาสตร์ วิจัยและเทคโนโลยี อาชีวศึกษา และเทคโนโลยีอวกาศ 

ที่ประชุมเห็นพ้องกันในการจัดทำโรดแมพความสัมพันธ์ไทย-ฝรั่งเศส ปี 2564 - 2567 ที่มีความทะเยอทะยาน เป็นรูปธรรม และสามารถปฏิบัติได้จริง เพื่อยกระดับความสัมพันธ์ไปสู่ความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ภายในปี 2566

162608909080

ที่ประชุมแลกเปลี่ยนข้อมูลพัฒนาการล่าสุดด้านการเมืองและเศรษฐกิจในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทัศนะต่อโอกาสและความท้าทายในยุคหลังโควิด-19 ของทั้งสองประเทศ รวมถึงบทเรียนจากสถานการณ์โควิด-19 โดยฝ่ายฝรั่งเศสเสนอแนวคิด One Health Initiative เพื่อผลักดันความร่วมมือด้านสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งได้หารือความหลากหลายทางชีวภาพ ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาและความร่วมมือไตรภาคี โดยเฉพาะการขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจใหม่ Bio-Circular-Green (BCG) ของไทย เพื่อให้เกิดการฟื้นฟูที่ยั่งยืนและมีความเข้มแข็งในโลกยุคหลังโควิด-19

นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายยังแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นต่อประเด็นภูมิภาคและพหุภาคี อาทิ บทบาทของไทยและอาเซียน ในสถานการณ์เมียนมา แนวคิดอินโด-แปซิฟิก ซึ่งฝรั่งเศสเป็นประเทศแรกในอียูที่ได้เผยแพร่ยุทธศาสตร์ต่อภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก ความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ความเท่าเทียมทางเพศ การฟื้นฟูการเจรจาการค้าเสรีระหว่างไทยและอียู และการเจรจากรอบความตกลงว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือรอบด้านระหว่างไทยและอียู

อย่างไรก็ตาม ฝ่ายไทยได้แสดงความพร้อมที่จะต้อนรับคณะฝ่ายฝรั่งเศสในการประชุม Political Consultations ระหว่างไทย-ฝรั่งเศส ครั้งที่ 4 ในปี 2565 ที่ประเทศไทย