‘โควิด’ ติดได้ทาง‘อากาศ’ (Airborne) แล้วจะป้องกันอย่างไร

‘โควิด’ ติดได้ทาง‘อากาศ’ (Airborne) แล้วจะป้องกันอย่างไร

อัพเดทงานวิจัยล่าสุดเปิดเผยว่า โควิด ติด ผ่านอากาศ ได้ ในสถานการณ์และสถานที่ที่เราคาดไม่ถึง คงต้องเปลี่ยนความคิดระวังให้มากขึ้น มีวิธีใดช่วยลดความเสี่ยงหรือป้องกันตัวเองได้บ้าง

"จากกรณีศึกษาอพาร์ทเมนท์ในฮ่องกง มีผู้ติดเชื้อโควิด 100 คน เขาได้สืบหาการแพร่กระจายหรือต้นตอของไวรัสนี้พบว่า เริ่มจากคน 2 คน คุณตาอายุ 75 ปี ป่วยเป็นโควิด กับ คุณยายอายุ 62 ปีที่ติดเชื้อในสัปดาห์ถัดมา

สองคนนี้ไม่เคยพบหน้ากัน ไม่เคยออกไปสัมผัสผู้คน ต่างคนต่างอยู่ อาศัยห่างกัน 10 ชั้น แต่เกิดการแพร่เชื้อระหว่างกัน สันนิษฐานว่าละอองลอย แพร่กระจายผ่านท่อน้ำเสีย จากห้อง 1502 ขึ้นไปสิบชั้นตรงกับห้อง 2502 พอดี เชื้อโรคที่เป็นละอองลอยขึ้นไปทางท่อน้ำ ไปโผล่ที่ปลายทาง ทำให้คุณยายติดโควิด (fecal aerosol transmission)"

ม.ล.รังษิธร ภาณุพันธ์ จากองค์กรอิสระ ZERO COVID THAILAND กล่าวถึงผลการศึกษาวิจัยสาเหตุของการติดโควิดที่ไม่มีใครคาดคิดมาก่อนให้ฟัง ซึ่งงานวิจัยช่วงหลังหลายชิ้นบ่งชี้มาที่ ละอองลอย (aerosol) ว่าเป็นสาเหตุของการแพร่ระบาดโควิด ในรายการ WiTcast หัวข้อ การแพร่กระจายทางอากาศของเชื้อโควิด ผ่านความอบอวลของละอองลอย (aerosol transmission) ที่ดำเนินรายการโดย แทนไท ประเสริฐกุล เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2564 (ขณะที่ประเทศไทยมียอดผู้ติดเชื้อโควิดและเสียชีวิตสูงขึ้นเรื่อยๆ) 

162606914610

กรณีศึกษาเคสในอพาร์ทเมนท์ฮ่องกง 

ในต่างประเทศ มีการรวมกลุ่มกันของนักวิชาการหลายสาขาอาชีพ อาทิ แพทย์, วิศวกร, นักเคมี, นักวิจัย ฯลฯ เพื่อช่วยกันรณรงค์กำจัดโควิดให้หมดไปจากโลก ในชื่อกลุ่มว่า End Corona virus และเชื่อว่า การกำจัดโควิดไม่ใช่แค่การฉีดวัคซีนหรือการตรวจหาโควิด แต่ต้องเปลี่ยนพฤติกรรม, การปฏิบัติตัว, ระวังตัว ร่วมด้วย ต่อมาเปลี่ยนชื่อกลุ่มเป็น ZERO COVID (ต่อด้วยชื่อประเทศ)

ละอองลอย คืออะไร

"ละอองลอย (Aerosol) คืออนุภาคที่ออกมาจากปาก เริ่มจากละอองฝอยขนาดใหญ่ (Large Droplets) แล้วมีบางส่วนกระจายเป็นละอองลอยอยู่ในอากาศได้นานถึง 3 ชั่วโมง ถ้าเราเดินเข้าไปในห้องๆ หนึ่ง ที่ไม่มีคนอยู่เลย แต่เมื่อชั่วโมงที่แล้วมีคนเป็นโควิดมาหายใจอยู่ในห้องนั้น อากาศยังไม่ได้ถ่ายเท เราก็สามารถติดโควิดได้ ทั้งที่เราไม่ได้ไปจับหรือสัมผัสโดนอะไรเลย" ม.ล.รังษิธร อธิบายต่อว่า คนมักเข้าใจผิดว่า ละอองลอยมีขนาดเล็กๆ

"คนส่วนใหญ่คิดว่า 1)ละอองลอย (Aerosol) คือละอองฝอย (Droplets) ที่เล็กกว่า 5 ไมครอน แต่จริงๆ มันใหญ่ได้ถึง 100 ไมครอน 2) ทุกสิ่งที่มีขนาดใหญ่กว่า 5 ไมครอน จะตกลงพื้น มันสามารถไปไกลได้หลายร้อยเมตร 3) การแพร่กระจายระยะใกล้เกือบทั้งหมดคือ ละอองลอย 4) ไวรัสที่เล็กว่า 0.01ไมครอน ไม่สามารถป้องกันได้ด้วยหน้ากาก ไวรัสเดินทางโดยอาศัยอยู่ในละอองลอยขนาดใหญ่กว่า 0.1 ไมครอน 5) คนมักห่วงระวังการแพร่เชื้อจากผู้ป่วยที่ใส่ท่อหายใจ, ทำหัตถการ, ทำทันตกรรม แต่จริงๆ แล้วมันแพร่เชื้อได้ง่ายๆ ด้วยการพูดคุย ไอ จาม"

เคสในต่างประเทศ

ม.ล.รังษิธร ได้รวบรวมงานวิจัยต่างๆ มาเล่าให้ฟัง แล้วบอกว่า การร้องเพลง เป็นการแพร่กระจายเชื้อที่น่ากลัวมาก

"เคสในโบสถ์ เกิดขึ้นเมื่อปี กรกฏาคม 2020 มีคนเป็นโควิด มาร้องเพลง เล่นเปียโน ในโบสถ์ แล้วมีคนมาโบสถ์ในวันที่ 15 กับ 16 ทั้งสองกลุ่มไม่เคยเจอกัน แต่ติดเชื้อผ่านละอองลอยทั้งหมด ระยะไกลที่สุด 14 เมตร ละอองลอยก็ยังไปถึงได้ คนร้องเพลงจะสร้างละอองลอยขนาด 250 ไมครอน (ส่วนการพูด,กระซิบ มีขนาด 50 ไมครอน) ลองนึกดูว่าถ้าเป็นห้องเล็กๆ ที่คนอยู่รวมกันเยอะๆ แล้วร้องคาราโอเกะกันนี่จะแพร่เชื้อได้ขนาดไหน"

162606937941

กรณีศึกษาเคสในโบสถ์  

สำหรับคนที่อยากจัดคอนเสิร์ต ม.ล.รังษิธร แนะนำว่า ควรจัดกลางแจ้ง แล้วมีพัดลมใหญ่ๆ ช่วยสลายละอองลอย จะสามารถช่วยลดความเสี่ยงได้

"ในประเทศญี่ปุ่นมีการวิจัยเอาพัดลมมาสองตัว ตัวหนึ่งหันออกจากห้อง อีกตัวหนึ่งหันเข้าห้อง แล้วมีอินฟราเรดปล่อยควันเข้าไป พบว่ามันดูดควันจากห้องออกมาได้อย่างชัดเจน พัดลมสามารถระบายอากาศลดเชื้อได้ แนะนำว่าที่ใดมีความอบอวลควรติดตั้งพัดลมระบายอากาศ

ออฟฟิศ, คอนโดมีเนียม, อพาร์ทเมนท์ มีความเสี่ยงไหม ขึ้นอยู่กับจำนวนคนและการระบายอากาศว่าเป็นอย่างไร เปิดหน้าต่างเป็นประจำหรือมีพัดลมระบายอากาศบ้างไหม บางจุดระบายอากาศไม่ดี มีการแชร์อากาศกันอยู่ หรือเราได้กลิ่นอะไรจากเพื่อนบ้านก็บอกได้ว่านั่นคือละอองลอย มีวิธีป้องกันคือ การระบายอากาศ เปิดหน้าต่าง เปิดประตู"

ส่วนการขึ้นลงลิฟท์ มีความเสี่ยงไม่มาก เพราะระยะเวลาน้อยไม่นานพอให้เราติด และลิฟท์ก็มีระบบถ่ายเทอากาศ

เคสในเมืองไทย

เมื่อไม่นานมานี้ ในเมืองไทยมีเคสคนติดโควิดเยอะมาก หลายคนมองว่ามาจากการสัมผัส ซึ่งม.ล.รังษิธรบอกว่าอาจจะไม่ใช่ก็ได้

"เคสตลาดสี่มุมเมือง มีคนติดเชื้อโควิด 867 คน เพราะสัมผัสที่กั้นเข้าห้องน้ำแบบหยอดเหรียญ แต่จริงๆ แล้วแม้ไม่ได้สัมผัสก็สามารถติดเชื้อได้ ถ้าห้องน้ำแออัด ระบบการระบายอากาศไม่ดี พอมีคนป่วยโควิด ไปถ่ายอุจจาระ อนุภาคของละอองลอยก็จะฟุ้งกระจายขึ้นมา ส่วนใหญ่ห้องน้ำจะไม่มีหลังคาปิด ละอองลอยก็ลอยข้ามไปอีกห้องหนึ่งได้

การเข้าห้องน้ำสาธารณะที่มีคนเยอะๆ จึงมีความเสี่ยงไม่ใช่แค่เรื่องสัมผัสอย่างเดียว เพราะละอองลอยมันมาทางอากาศ ถ้าเลี่ยงได้ให้เลี่ยง แนะนำว่า ก่อนกดชักโครกให้ปิดฝา มันจะไม่ฟุ้งกระจายขึ้นมา

162607017128

ส่วนอีกเคสหนึ่ง นักวอลเล่ย์บอลทีมชาติไทยติดโควิด ฝ่ายควบคุมโรคกล่าวหาว่านักกีฬาซ้อมแล้วไม่ระวังเรื่องเหงื่อ ซึ่งยังหาสาเหตุไม่ได้ สิ่งที่น่าห่วงมากที่สุดคือ ห้องล็อกเกอร์ คนมักคิดว่าติดกันระหว่างเล่นกีฬา อย่างนักกีฬาเตะบอลมา 45 นาที ช่วงพักครึ่ง เดินเข้าไปในห้อง การหอบ การพูด การหายใจ อากาศที่ออกมาจากจมูก

ความอบอวล ที่ออกมาจากปาก การวิจารณ์เกม โค้ชก็เข้ามาด่า ถ้ามีอินเฟราเรดเราจะเห็นการฟุ้งกระจายไปทั่วห้องเล็กๆ นั้น หรือถ้ามีผู้ติดเชื้อในนั้นก็สามารถแพร่กระจายได้เลย แล้วส่วนใหญ่ห้องพักนักกีฬาตามสนามต่างๆ ก็ไม่มีการระบายอากาศที่ดี เวลาเดินเข้าไปทั้งทีม หรือในยิม ในฟิตเนส หรือเข้าห้องน้ำพร้อมกัน นั่นก็เป็นจุดเสี่ยง

ในคุก หรือ แคมป์คนงาน ก็เช่นเดียวกัน มีความแออัดสูง จำนวนคนเยอะ มีกิจกรรมที่นำไปสู่การหายใจที่มากขึ้น วิธีแก้คือ ต้องหาทางระบายอากาศ ใช้พัดลม หรือ HEPA Filter ช่วยกรอง เราสามารถวัดความแออัดของอากาศได้จากเครื่องวัดค่าคาร์บอนไดออกไซด์ เพื่อบอกว่า สถานที่นั้นมี CO2 ออกมาจากปากคนเยอะแค่ไหน

  162607009070

เครื่องวัดคาร์บอนไดออกไซด์ 

นั่งเครื่องบินเสี่ยงไหม

คนทั่วไปคิดว่าในเครื่องบินเป็นที่คับแคบและมีอากาศปิดย่อมมีความเสี่ยง ม.ล.รังษิธร บอกว่า ยังมีจุดที่เสี่ยงมากกว่านั้นอีก

"มีงานวิจัยพบว่าในเครื่องบินมีการติดตั้ง HEPA Filter ระบบระบายอากาศที่หมุนวนค่อนข้างถี่ อากาศเปลี่ยนตลอดเวลา เอาอากาศข้างนอกเข้ามาข้างใน เอาอากาศข้างในออกไปข้างนอก แล้วดูดอากาศลงไปตรงเท้า ความเสี่ยงระหว่างอยู่ในเครื่องบินจึงน้อย แต่ที่ห้องน้ำ สถานที่คับแคบ ถ้าคนเป็นโควิดเข้าไปแล้วอ้าปาก อากาศก็อยู่ตรงนั้น คนที่เข้าต่อก็สามารถติดได้เลย

ที่สำคัญ ความเสี่ยงอยู่ที่อุโมงค์เข้าออกเครื่องบิน และในรถที่มารับคนไปขึ้นเครื่องบินมากกว่า บางคันมารับแต่อยู่กันอัดแน่นเต็มเลย เพียงแค่พูด ไม่ต้องไอจาม ก็เกิดละอองลอย หรือบางคนกรนก็ติดเชื้อได้แล้ว" 

ม.ล.รังษิธร จึงแนะนำว่า เครื่องบินยังมีความเสี่ยง ถ้าไม่จำเป็นจริงๆ ก็อย่าบินดีกว่า 

"ส่วนรถไฟฟ้า MRT กับ BTS ผมได้เอาเครื่องวัด CO2 ไปทดลองแล้ว พบว่ามีระบบการระบายอากาศกรองอากาศที่ค่อนข้างดี ถ้าโบกี้นั้นมีคนไม่เยอะ แต่ถ้ามีคนแน่นแออัด ก็อย่าเข้าไป ให้เปลี่ยนไปเดินทางแบบอื่นแทน หรือใส่หน้ากาก N95 ก็ช่วยได้บ้าง"

162607218450

รถยนต์ แท็กซี่ เสี่ยงไหม

แทนไท ผู้ดำเนินรายการ บอกว่า ได้ทดลองวัดค่า CO2 ในรถขณะนั่งคนเดียวพบว่าสูงมาก เพราะการหายใจทำให้มี CO2 ออกมาอบอวล โก้ บอกว่าในรถยนต์มีความเสี่ยงมาก

"แท็กซี่ แกร็บ รถยนต์ มีความเสี่ยงสูง วิธีแก้ไข คนขับต้องกดให้ลมเข้าออก แลกเปลี่ยนอากาศจากข้างนอกไปข้างในๆ ไปข้างนอก แล้วลดกระจกลง เพื่อระบายอากาศ รับอากาศข้างนอกเข้ามาลดความแออัดในตัวรถ เพราะถ้ามีคนขึ้นมา 4 คนแล้วคุยกันไม่หยุดนี่จะเป็นที่สุดของการแพร่เชื้อเลย งานวิจัยทุกตัวกรณีของรถยนต์บอกว่าการแลกเปลี่ยนอากาศข้างนอกข้างในเป็นสิ่งสำคัญ การเปิดหน้าต่าง ถ้าเปิดได้ก็จะมีความปลอดภัย"

ร้านอาหาร เสี่ยงไหม

เนื่องจากช่วงนี้ร้านอาหารอยู่ในสภาวะยากลำบาก ค้าขายได้ไม่เหมือนเดิม ม.ล.รังษิธร บอกว่าจำเป็นจะต้องบอกความจริง

"ร้านชาบู ที่มีแผ่นกั้นใสๆ มีความเสี่ยงมากขึ้นเพราะมันกั้นอากาศไม่ให้ไหลเวียน เพิ่มความอบอวล เอาไว้กันละอองฝอย แต่ไม่กันละอองลอย ถ้าร้านชาบู เปิดหน้าต่างได้ก็เปิด ใช้พัดลม หรือเปิดร้านอาหารให้มีลมทะลุปรุโปร่งแล้วก็กินข้างนอกได้ 

หรืออย่างกรณี กินก๋วยเตี๋ยวในร้านเปิดโล่งมีพัดลมส่ายไปส่ายมาแล้วมีคนไอจามจะเสี่ยงไหม บอกได้ว่าไม่ได้เสี่ยงสูง เพราะมันสลายละอองลอยได้ เหมือนคนสูบบุหรี่แล้วมีพัดลมเป่า กลิ่นบุหรี่ก็จางไป

สำหรับสวนสาธารณะ มีพื้นที่กว้าง เปิดโล่ง ไม่ค่อยเสี่ยง แต่จะเสี่ยงก็ตรงที่วิ่งตามกันมาเยอะๆ ละอองลอยจากคนข้างหน้าก็ลอยมาติดคนข้างหลังได้ ไม่สนับสนุนให้วิ่งติดๆ กัน ให้เดินห่างๆ กัน แล้วก็ใส่หน้ากากจะดีกว่า"

162606962765

การดูแลตัวเอง

จากการศึกษางานวิจัยมามากมายหลายชิ้น ม.ล.รังษิธร มีคำแนะนำว่า

อันดับแรก ให้อัพเกรดหน้ากากมาเป็นแบบ PM 2.5 ถ้าเรามีกำลังมากพอ แล้วใส่ให้ฟิตพอดี แนบสนิท หรือใช้หน้ากากธรรมดาก็ได้แต่ต้องใส่ให้ฟิตพอดีแนบสนิท แค่วินาทีที่หลุดหรือปรับหน้ากาก ถ้าเราเจอความอบอวลของเชื้อโควิดพอดีก็มีความเสี่ยงสูง ส่วนหน้ากาก N95 N99 FFP3 น่าจะเหมาะกับแพทย์ด่านหน้าที่ต่อสู้กับโควิดอยู่

อันดับสอง การระบายอากาศ เป็นสิ่งที่ทำง่ายแต่คนมักมองข้าม สูตรของผมคือ เปิดหน้าต่างใหญ่ แล้วมีพัดลมหนึ่งตัว ถ้าใครมีแอร์อย่างเดียวแนะนำให้ซื้อพัดลมมาไว้ในห้อง จังหวะที่ระบายอากาศ เปิดประตูใหญ่ เอาพัดลมหันออก ระบายอากาศออกไป”

10 หลักฐานที่บอกว่า โควิดแพร่ผ่านละอองลอย

เคท โคล ประธานสถาบันอาชีวอนามัยแห่งประเทศออสเตรเลีย กล่าวไว้ว่า “หากรู้ว่าโควิดแพร่กระจายทางอากาศแล้ว แต่ยังเพิกเฉย เราก็จะล้มเหลวเรื่อยๆ" ส่วนในวารสารการแพทย์ The Lancet ก็ได้ตีพิมพ์ 10 เหตุผลทางวิทยาศาสตร์ที่บ่งชี้ว่าไวรัส SARS-CoV-2 แพร่ทางอากาศ มีดังนี้

162606971888

Cr.ZERO COVID THAILAND 

1) การติดเชื้อจำนวนมาก (Super-spreading event) มาจากที่ที่คนมารวมกันเยอะๆ เช่น คอนเสิร์ต, บ้านพักคนชรา, คุก การแพร่เชื้อสัมพันธ์กับการกระจายทางอากาศ อย่างในบาร์ ที่เราเดินเข้าไปแล้วได้กลิ่นบุหรี่ ทั้งที่ไม่มีคนสูบบุหรี่ เรากำลังสูดลมหายใจคนอื่น

2) ไวรัสแพร่กระจายในหมู่ผู้คนที่พักอาศัยในสถานที่เดียวกันแต่ไม่เคยพบหน้ากัน เช่น ภายในโรงแรม ที่ใช้เป็นสถานกักกันโรค มีเคสในต่างประเทศ ต่างคนต่างอยู่คนละห้องไม่เคยเจอกัน แต่แพร่กระจายติดกัน เกิดจากการเปิดประตู เมื่อมีคนมาส่งอาหาร ถ้าคนติดเชื้อ พูดหรือปล่อยลมหายใจออกไป มันจะลอยอยู่ตรงทางเดิน พอห้องหนึ่งเปิดประตูก็สูดอนุภาคละอองลอยนี้เข้าไป เพราะทางเดินไม่มีการระบายอากาศ

3) การแพร่กระจายของไวรัสทั่วโลก 2 ใน 3 เกิดจากการประชาชนที่ไม่แสดงอาการ แค่หายใจก็ติดโควิดได้ แสดงว่าการพูดก่อให้เกิดละอองลอย (aerosol) หลายพันอนุภาคแพร่กระจายผ่านอากาศ

4) การแพร่กระจายส่วนใหญ่เกิดขึ้นในอาคารสูงกว่ากลางแจ้ง และลดลงอย่างมากเมื่อมีการระบายอากาศภายในอาคาร

5) พบเชื้อในสถานพยาบาลที่มีการป้องกันละอองฝอยอย่างเข้มงวด ทั้งชุด PPE และหน้ากาก แต่ไม่ได้ป้องกันละอองลอย เป็นหนึ่งสาเหตุว่าทำไมบุคลากรทางการแพทย์ถึงติดโควิดในหอผู้ป่วยที่แออัด (การใส่หน้ากาก N95 N99 FFP อาจจะพอช่วยได้บ้าง)

 6) มีการตรวจพบไวรัสที่ยังมีชีวิตอยู่ในอากาศ สามารถแพร่เชื้อได้หลังอยู่ในอากาศได้นานถึง 3 ชั่วโมง มีค่าครึ่งชีวิตอยู่ที่ 1.1 ชั่วโมง

7) พบไวรัสในไส้กรองอากาศและท่อภายในโรงพยาบาล ที่มีผู้ป่วยโควิด ซึ่งมีเพียงละอองลอยเท่านั้นที่เข้าไปถึงสถานที่เหล่านี้ได้

8) การศึกษาในสัตว์ติดเชื้อที่ถูกขังไว้ในกรงซึ่งเชื่อมต่อกับกรงสัตว์ที่ไม่ติดเชื้อผ่านทางท่ออากาศ แสดงให้เห็นการแพร่กระจายของไวรัสผ่านละอองลอย ทำให้ตัวไม่ติดเชื้อก็ติดเชื้อได้

9) ยังไม่มีการศึกษาใดหักล้างสมมติฐานว่าไวรัสแพร่กระจายผ่านอากาศได้ โดยเฉพาะบุคคลที่ขับเชื้อไวรัสจำนวนมากภายในอาคาร สถานที่แออัด มีการระบายอากาศที่ไม่ดี เป็นต้นเหตุของการติดเชื้อในผู้ป่วยชั้นถัดๆ มา

10) หลักฐานการแพร่กระจายของไวรัส ติดเชื้อทางละอองลอยเป็นตัวหลัก ไม่ใช่ตัวเสริมและการวิจัยใหม่ๆ ที่ออกมาก็ชี้ไปในทิศทางนี้ ซึ่งเราจะต้องเพิ่มการป้องกันเพิ่มขึ้น

................................

รับฟังและดูภาพประกอบได้ที่ https://www.witcastthailand.com/witcast-100/

ข้อมูลเพิ่มเติม www.zerocovidthai.org และhttps://www.facebook.com/zerocovidthailand/