ส.อ.ท.-สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย แนะปูพรมตรวจโควิดเชิงรุกช่วงล็อกดาวร์ ลดการระบาดรุนแรง

ส.อ.ท.-สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย แนะปูพรมตรวจโควิดเชิงรุกช่วงล็อกดาวร์ ลดการระบาดรุนแรง

สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย – ส.อ.ท. แนะรัฐใช้ช่วงล็อกดาวน์ 14 วัน เร่งตรวจโควิดเชิช่วงงรุก จะช่วยลดการติดเชื้อได้มาก พร้อมวางมาตรการฉุกเฉินรองรับหากล็อกดาวน์ไม่ประสบผลสำเร็จ เพื่อลดอัตราการตาย ลดปัญหาเศรษฐกิจและสังคม เผยปิด 6 จังหวัดกระทบจีดีพีกว่า 50%

นายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย เปิดเผยว่า สมาพันธ์ฯ เห็นด้วยกับการประกาศล็อกดาวน์ของรัฐบาล เพราะตัวเลขการติดเชื้อเพิ่มสูงมากจึงจำเป็นต้องจัดการอย่างจริงจัง แต่ทั้งนี้ในช่วงของล็อกดาวน์ รัฐบาลควรจะเร่งปูพรมตรวจโควิด-19 เชิงรุกทั่วประเทศ และเร่งฉีดสัคซีนในพื้นที่เสี่ยงสูง เพื่อแยกผู้ติดเชื้อออกจากคนปกติก็จะช่วยลดการระบาดได้มาก ซึ่งใน 14 วันจะต้องมีแผนชัดเจนจะลงตรวจโควิดในพื้นที่ใดบ้าง เพื่อให้การดำเนินงานมีประสิทธิภาพสูงสุด

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลควรจะวางแผนฉุกเฉนรองรับหากการล็อกดาวน์ 14 วันไม่ประสบผลสำเร็จ จะดำเนินการอะไรบ้าง ทั้งเรื่องการจัดเตรียมเครื่องมือแพทย์รองรับผู้ป่วยอาการหนัก การจัดเตรียมโรงพยาบาลสนามให้เพียงพอ การออกมาตรการช่วยเหลือเอสเอ็มอี และประชาชนในด้านต่าง ๆ เป็นต้น เพื่อพยุงเศรษฐกิจและสังคมให้เดินหน้าต่อไปได้

ส่วนผลกระทบต่อเอสเอ็มอีในช่วงล็อกดาวน์ จากการประเมินของศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าจะกระทบต่อเศรษฐกิจของไทยประมาณ 1 แสนล้านบาทต่อเดือน และในช่วงก่อนหน้านี้ที่เป็นมาตรการกึ่งล็อกดาวน์ ก็สร้างความสูญเสียต่อระบบเศรษฐกิจ 4.7 หมื่นล้านบาทต่อเดือน โดยการล็อกดาวน์ใน 6 จังหวัดที่ประกาศออกมานี้ มีสัดส่วนต่อจีดีพีทั้งประเทศกว่า 50% เพราะเป็นจังหวัดที่มีโรงงาน และธุรกิจต่าง ๆ หนาแน่น หากการล็อกดาวน์ใช้เวลามากกว่าที่ประกาศไว้ หรือไม่สามารถลดการระบาดของโควิด-19 ได้ ก็จะกระทบต่อจีดีพีของประเทศอย่างรุนแรง

นอกจากนี้ การระบาดที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบต่อโรงงานต่าง ๆ อย่างมาก ทำให้ทั้งธุรกิจขนาดใหญ่ กลาง และเล็ก มีปัญหาในการผลิต เพราะเมื่อมีแรงงานติดโควิด-19 ก็ต้องปิดสายการผลิตในบางส่วน หากเป็นโรงงานขนาดเล็กก็ต้องหยุดดำเนินการทั้งหมด รวมทั้งวัคซีนตาม ม.33 ที่ต้องฉีดให้กับแรงงานที่มีประกันสังคมยังกระจายไม่ทั่วถึง และมีวัคซันไม่เพียงพอ ก็ยิ่งกระทบต่อการผลิตของประเทศ

“ผลกระทบจากโควิดในปี 2563 ทำให้จีดีพีของเอสเอ็มอีลดลงไปมาก จากเดิมในช่วงก่อนโควิดปี 2562 เอสเอ็มอีมีมูลค่าจีดีพีอยู่ 6 ล้านล้านบาท จากจีดีพีทั้งประเทศ 16.9 ล้านล้านบาท ในปี 2563 จีดีพีเอสเอ็มอีลดลงเหลือ 5.4 ล้านล้านบาท และจีดีพีประเทศลดลงมาอยู่ที่ 15.7 ล้านล้านบาท ซึ่งการระบาดของโควิดในรอบที่ 3 รุนแรงกว่าในปีก่อนมาก หากรัฐไม่สามารถควบคุมได้ ก็จะกระทบต่อตัวเลขจีดีพีของเอสเอ็มอีทำให้ลดลงไปอีก สร้างความเสียภายต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ”

โดยมาตรการรองรับด้านเศรษฐกิจที่สำคัญ ก็คือการเร่งออกมาตรการพักชำระหนี้ทั้งต้น และดอกเบี้ยอย่างแท้จริง 3-6 เดือน ทั้งผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และแรงงานที่ธุรกิจได้รับผลกระทบ  เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ที่ผู้ประกอบการแบกภาระต้องจ่ายธนาคารทุกเดือน และลูกจ้าที่ล้วนมีหนี้บัตรเครดิต สินเชื่อซื้อสินค้า ค่าผ่อนบ้าน ผ่อนรถยนต์ หากหยุดจ่ายหนี้ในส่วนนี้ได้ 3-6 เดือน ก็เท่ากับมีรายได้เพิ่ม รวมทั้งภาครัฐก็มีงบประมาณที่จำกัดในการนำเงินมาอุดหนุนผู้ประกอบการและแรงงาน  หากออกมาตรการนี้ก็จะช่วยลดภาระภาครัฐ และหันไปออกมาตรการช่วยเหลือธนาคารที่เข้ามาช่วยพักต้นพักดอก ก็จะช่วยเหลือเอสเอ็มอีและแรงงานเป็นจำนวนมากได้อย่างตรงจุด

“ธนาคารต่าง ๆ ล้วนแต่มีผลประกอบการกำไรเป็นจำนวนมากทุกปี บยื่งหากรัฐเข้ามาช่วยเหลือธนาคารที่ช่วยพักต้นพักดอกให้กับเอสเอ็มอีและผู้ใช้แรงงาน ธนาคารก็ยังคงดำเนินกิจการต่อไปได้ด้วยดี ซึ่งหากพ้นวิกฤตครั้งนี้ไปได้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีอยู่รอด ธนาคารก็ไม่เสียลูกค้า แต่หากไม่เข้ามาช่วยก็จะเกิดหนี้เอ็นพีแอลอีกมาก ธนาคารก็จะเสียลูกค้ากลุ่มนี้ไปและทุกฝ่ายก็ไม่ได้ประโยชน์”

นอกจากนี้ ภาครัฐควรจะเข้าธุรกิจร้านอาหารที่ได้รับผลกระทบจากการล็อกดาวน์มากที่สุด โดยการเข้าไปเจรจาและอุดหนุนให้กับแพลตฟอร์มเดลิเวอรี่ส่งอาหารต่าง ๆ ที่ในปัจจุบันคิดค่าใช้จ่ายถึง 30% ของราคาอาหาร ซึ่งจะช่วยลดภาระให้กับผู้ประกอบการร้านอาหารและประชาชนในช่วงที่มีการระบาดอย่างรุนแรง รวมทั้งการช่วยเหลือลดค่าเช่าสถานที่ให้กับธุรกิจบริการที่ไม่สามารถดำเนินธุรกิจได้ในสัดส่วนที่เหมาะสม เพราะไม่มีรายได้เข้ามาแต่ยังต้องจ่ายค่าเช่าที่ และช่วยลดค่าเช่าให้กับกิจการที่ยังพอเปิดกิจการได้ประมาณ 50% และช่วยลดค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า 1-3 เดือน ก็จะช่วยบรรเทาผลกระทบให้กับธุรกิจเหล่านี้ได้

รวมไปถึงการช่วยธุรกิจโรงแรม และรีสอร์ท ที่ไม่มีผู้มาใช้บริการ หรือมีผู้เข้ามาใช้บริหารน้อย โดยการเข้าไปเช่าพื้นที่เพื่อจัดทำโรงพยาบาลสนามรองรับผู้ป่วยในจังหวัดที่มีผู้ป่วยเป็นจำนวนมาก ซึ่งนอกจะช่วยลดภาระให้กับโรวพยาบาลแล้ว ยังช่วยพยุงให้ธุรกิจเหล่านี้อยู่รอดต่อไปได้

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า จากที่ประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือศบค. ได้ประกาศยกระดับมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ขั้นสูงสุดล็อคดาวน์พื้นที่กรุเทพฯ และปริมณฑล ได้แก่ คือ กรุงเทพฯ นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร เป็นระยะเวลาอย่างน้อย 2 สัปดาห์ หรือ 14 วัน เริ่มวันที่ 10 ก.ค. 2564 เป็นต้นไป

โดยรัฐบาลควรที่จะใช้ช่วงจังหวะนี้ ในการเร่งตรวจเชิงรุกเพื่อตรวจหาคนที่ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในพื้นที่อย่างเร่งด่วนและรวดเร็ว เพื่อคัดกรอง คัดแยกกลุ่มเสี่ยงออกมาจากกลุ่มคนที่ยังไม่ติดเชื้อ เพราะถ้าปล่อยไว้นานจำนวนผู้ติดเชื้อก็ยิ่งจะเพิ่มยิ่งขึ้น และส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจหนักมากขึ้น อีกทั้งการแพร่ระบาดรอบสามนี้ผลกระทบหนักกว่ารอบที่ผ่านๆ มา และภาคเอกชนต้องการให้รัฐบาลจัดการควบคุมการแพร่ระบาดให้จบโดยไว

อย่างไรก็ตาม ส.อ.ท. มีความเป็นห่วงเกี่ยวกับภาพข่าวที่เผยแพร่ออกไปที่มีกลุ่มคนที่ไปรอรับการตรวจหาเชื้อตามจุดต่างๆ ของ กทม. หลายๆ แห่งมีผู้คนไปนอนรอรับการตรวจแบบข้ามวันข้ามคืน ซึ่งห่วงว่าจะยิ่งเป็นการแพร่เชื้อไวรัสได้ง่ายขึ้น ดังนั้น ส.อ.ท. จึงอยากเสนอให้รัฐบาลอนุมัติ หรืออนุญาต ให้มีการนำชุดตรวจหาเชื้อไวรัสโควิดแบบเร่งด่วน หรือ Rapid Antigen Test เข้ามาใช้ เพื่อลดความแออัดของคนที่ไปรอรับการตรวจ และจะทำให้การตรวจเข้าถึง ทั่วถึง ทุกกลุ่มทุกคนมากขึ้น

นอกจากนี้ รัฐบาลจะต้องวางมาตรการรองรับผลกระทบอย่างรอบคอบ เช่น เพิ่มระยะเวลาการเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบ เพิ่มมาตรการเยียวยาผู้ประกอบการมากขึ้น เพื่อให้กลุ่มนี้สามารถรักษาอัตราการจ้างงานไว้ได้ ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบต่อเนื่องได้อีกมาก เพราะหากให้อัตราการว่างงารเพิ่มขึ้น ปัญหาสังคม และด้านต่าง ๆ ก็จะเพิ่มขึ้น ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบจากมาตรการล็อกดาวน์รอบนี้ได้ในระดับหนึ่ง

ส.อ.ท. ยังอยู่ระหว่างการหารือถึงมาตรการเพิ่มเติมเพื่อช่วยเหลือกลุ่มบริษัทขนาดเล็ก ซึ่งจะต้องขอความร่วมมือจากกลุ่มบริษัทรายใหญ่ๆ เพื่อให้ภาคธุรกิจทั้งหมดทุกขนาดธุรกิจรอดไปด้วยกันในภาวะที่โควิดยังส่งผลกระทบรุนแรง ที่สำคัญรัฐบาลต้องเร่งจัดหาวัคซีนและระดมฉีดวัคซีนให้ได้มากที่สุดเพราะเป็นทางรอดและทางเดียวของประเทศที่จะฟื้นเศรษฐกิจ ซึ่งขณะนี้รัฐบาลยังฉีดวัคซีนเพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกันหมู่ยังไม่ถึงครึ่งทาง จึงต้องเร่งทำให้ได้ตามเป้าหมายโดยไว”

ในส่วนผลกระทบจากมาตรการล็อกดาวน์ที่มีต่อภาคอุตสาหกรรมนั้น ขณะนี้ยังไม่กังวลว่าจะส่งกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมและซัพพลายเชน เพราะกลุ่มนี้สามารถปรับเวลาในการขนส่งสินค้า และการล็อกดาวน์ที่ผ่านมาก็ไม่ได้จำกัดกลุ่มโลจิสติกส์แต่อย่างใด