EIC ชี้'หนี้ครัวเรือนไทย' ไตรมาสแรกปี64พุ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์แตะ 90.5%

EIC ชี้'หนี้ครัวเรือนไทย' ไตรมาสแรกปี64พุ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์แตะ 90.5%

EIC เผยหนี้ครัวเรือนไทย ไตรมาส 1 ปี 64  แตะระดับ 90.5% ต่อจีดีพี สูงสุดเป็นประวัติการณ์ และสูงสุดในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาด้วยกัน และอัตราการขยายตัวสูงสุดในรอบ 5 ไตรมาส ตามการเติบโตแบบเร่งตัวของการให้กู้ยืมจากสถาบันการเงินภาครัฐ ฉุดการฟื้นตัวเศรษฐกิจ

ศูนย์วิจัยอีไอซี (EIC หรือ Economic Intelligence Center) ของ ธนาคารไทยพาณิชย์  เปิดเผยว่า  หนี้ครัวเรือนไทย ณ ไตรมาส 1 ปี 2564  แตะระดับ 90.5% ต่อจีดีพี สูงสุดเป็นประวัติการณ์ และสูงสุดในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาด้วยกัน

ทั้งนี้ สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพี ที่เพิ่มขึ้นเป็นผลมาจากหนี้ครัวเรือนที่ยังขยายตัวต่อเนื่อง ขณะที่เศรษฐกิจโดยเฉพาะรายได้ภาคครัวเรือนที่เผชิญภาวะวิกฤตโควิดมีการฟื้นตัวได้ช้า

โดยสถานการณ์หนี้ครัวเรือนไทย ณ ไตรมาส 1 ปี2564 เพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ 14.1 ล้านล้านบาท หรือขยายตัวที่ 4.6% (YOY ) ซึ่งเป็นการขยายตัวเร่งขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า  และยังนับเป็นอัตราการขยายตัวสูงสุดในรอบ 5 ไตรมาส ตามการเติบโตแบบเร่งตัวของการให้กู้ยืมจาก 2 ผู้ให้กู้หลัก ได้แก่ ธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจที่รับฝากเงิน (SFI)ที่เติบโตที่ 4.9% และ 5.5%  โดยเฉพาะอัตราการเติบโตจาก SFI ที่อยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 5 ปี

ขณะที่การปล่อยสินเชื่อให้แก่ภาคครัวเรือนจาก สหกรณ์ออมทรัพย์ หรือบริษัทบัตรเครดิต-ลิสซิ่ง-และสินเชื่อส่วนบุคคล มีการเติบโตแบบชะลอตัวลง ส่วนหนี้ครัวเรือนที่กู้ยืมจากโรงรับจำนำยังคงหดตัวต่อเนื่องจากปีก่อนหน้า

162573179968

EIC ประเมินว่า สถานการณ์หนี้ของภาคครัวเรือนที่เกิดขึ้นจริงอาจแย่กว่าที่สัดส่วนหนี้ต่อจีดีพีบ่งชี้ จากสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อรายได้ครัวเรือน (จากข้อมูลการสำรวจโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ) ที่มีแนวโน้มสูงกว่าสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ จีดีพี

สาเหตุมาจากการที่รายได้ภาคครัวเรือนโตช้ากว่า จีดีพีโดยเฉลี่ย และในช่วงโควิดแนวโน้มดังกล่าวนี้ก็น่าจะยังมีต่อเนื่อง จากผลกระทบต่อภาคครัวเรือนที่รุนแรงสะท้อนจากการตกงานและสูญเสียรายได้ของคนทำงานจำนวนมากเป็นประวัติการณ์ โดยรายได้ของแรงงานที่ได้รับค่าจ้างในไตรมาสที่ 1 ปี 2564 ลดลงถึง -8.8%YOY ขณะที่ nominal GDP ลดลงเพียง -2.1%YOY ในช่วงเดียวกัน

นอกจากนี้ แม้ในปีนี้เศรษฐกิจไทยยังสามารถได้รับแรงหนุนจากการส่งออกที่ขยายตัวดี แต่ภาคการส่งออกโดยเฉพาะการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมมีการใช้แรงงานไม่มากนักเมื่อเทียบกับการจ้างงานในภาคบริการ อีกทั้ง รายได้จากการส่งออกยังกระจุกตัวอยู่ในบริษัทขนาดใหญ่จำนวนไม่มาก

ดังนั้น ข้อมูลจากเครื่องชี้เร็วสะท้อนว่า ครัวเรือนยังมีความต้องการสินเชื่อสูง เพื่อนำมาใช้จ่ายในชีวิตประจำวันทดแทนสภาพคล่องที่ลดลงในภาวะวิกฤต บางส่วนอาจต้องพึ่งพาหนี้นอกระบบ ซึ่งเสี่ยงจะทำให้ปัญหาหนี้มีมากขึ้นในระยะข้างหน้า

ด้วยเหตุนี้ การให้ความช่วยเหลือจากภาครัฐแก่ภาคครัวเรือนทั้งในรูปแบบของมาตรการเยียวยาเศรษฐกิจและการเพิ่มศักยภาพในการหารายได้โดยการปรับและเพิ่มทักษะแรงงาน ยังเป็นสิ่งจำเป็นในภาวะที่เศรษฐกิจภาคครัวเรือนยังคงมีความเปราะบางสูง

EIC มองว่า ไทยมีแนวโน้มประสบภาวะ Debt Overhang หรือการมีหนี้สูงในภาคครัวเรือนจนเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของการใช้จ่ายและเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า