"สุริยะ" ยันอากาศรอบโรงงานหมิงตี้เข้าสู่ภาวะปกติ ต้้งโต๊ะ 3 จุด รับแจ้งเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ

"สุริยะ" ยันอากาศรอบโรงงานหมิงตี้เข้าสู่ภาวะปกติ ต้้งโต๊ะ 3 จุด รับแจ้งเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ

“สุริยะ”แถลงภาพรวมการดำเนินการของกระทรวงอุตสาหกรรมและแนวทางเยียวยาประชาชน กรณี “เกิดเหตุเพลิงไหม้บริษัท หมิงตี้ เคมีคอล จำกัด ยืนยันสถานการณ์เริ่มคลี่คลายและกลับเข้าสู่ภาวะปกติ คุณภาพอากาศ-คุณภาพน้ำ อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ประชาชนกลับเข้าพื้นที่ได้แล้ว

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า  ตามที่ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มี 2 เหตุการณ์ที่สร้างความตื่นตระหนกให้กับพี่น้องประชาชนอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นกรณีไฟไหม้โรงงานบริษัท หมิงตี้เคมีคอล จำกัด ซึ่งเป็นโรงงานผลิตโฟมและเม็ดพลาสติก ภายในซอยกิ่งแก้ว 21 ถนนกิ่งแก้ว ตำบลบางพลีใหญ่ อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ เมื่อเช้ามืดของวันที่ 5 กรกฎาคม 256  2564  และเหตุการณ์ไฟไหม้ ณ บริษัท ฟลอรอลแมนูแฟคเจอริ่งกรุ๊ป ย่านลาดกระบัง เมื่อช่วงค่ำของวันที่ 6 กรกฎาคม 2564 ที่ผ่านมานั้น

ในส่วนของ กรณีไฟไหม้โรงงานบริษัท หมิงตี้เคมีคอล จำกัด ที่มีผู้บาดเจ็บ 30 ราย และเสียชีวิต 1 ราย ซึ่งแรงระเบิดทำให้บ้านเรือนเสียหายเป็นวงกว้าง และได้มีการอพยพประชาชนไปในที่ปลอดภัยในรัศมี 5 กิโลเมตร โดยตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ได้สั่งการให้กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง และตรวจสอบคุณภาพอากาศ คุณภาพน้ำ และสารเคมี ที่ตกค้างในพื้นที่อย่างเร่งด่วน ซึ่ง นายกรัฐมนตรี (พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา) มีความเป็นห่วงอย่างมาก และได้กำชับให้กระทรวงอุตสาหกรรมเร่งดำเนินการตรวจสอบ และดูแลคุณภาพชีวิตของชุมชน และผู้ประกอบการโรงงานอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะเรื่องความปลอดภัยของชุมชนในพื้นที่ ซึ่งล่าสุดจากการลงพื้นที่ของกรมโรงงานอุตสาหกรรม พบว่า คุณภาพอากาศอยู่ในระดับที่ปลอดภัยต่อระบบทางเดินหายใจของประชาชนโดยรอบ แต่เพื่อเป็นการป้องกันความปลอดภัยของประชาชนในพื้นที่เสี่ยงบริเวณโดยรอบโรงงาน เนื่องจากยังมีสารเคมีตกค้างในโรงงาน ซึ่งอาจเกิดปฏิกิริยาเคมีและเกิดระเบิดได้ ขณะนี้จึงได้ทำการฉีดน้ำเพื่อรักษาอุณหภูมิไว้ไม่ให้เกิดปฏิกิริยาเคมี

จากการตรวจสอบด้านมลพิษในช่วง3 วันที่ผ่านมา พบว่า พื้นที่บริเวณโดยรอบในระยะ 0 – 8 KM จำนวน 14 จุด มีค่าสารสไตรีนที่เกิดเผาไหม้ในอุบัติเหตุอยู่ในช่วง 0.42 – 0.83 ppm (ส่วนในล้านส่วน) ซึ่งไม่เกินมาตรฐานบรรยากาศตามที่กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กำหนด (20 ppm) โดยค่าขีดจำกัดการรับสัมผัสสารเคมีทางการหายใจแบบเฉียบพลันของสารสไตรีนไว้ 3 ระดับ ได้แก่  ระดับที่ 1 มีค่า 20 ppm  (ระดับความเข้มข้นสูงสุดของสารเคมีในบรรยากาศ ที่ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน) ระดับที่ 2 มีค่า 130 ppm (ระดับความเข้มข้นสูงสุดของสารเคมีในบรรยากาศ ที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพอย่างไม่ร้ายแรง) ระดับที่ 3 มีค่า 1,100 ppm (ระดับความเข้มข้นสูงสุดของสารเคมีในบรรยากาศ ที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพอย่างร้ายแรง แต่ไม่ถึงขั้นเสียชีวิต) 

ขณะที่คุณภาพน้ำ มีการตรวจสอบการปนเปื้อนของสารสไตรีน โดยพบสารสไตรีนในน้ำจากการดับเพลิงที่อยู่ในบริเวณโรงงาน แต่ไม่พบสารสไตรีนปนเปื้อนในคลองปากน้ำและคลองประเวศบุรีรมย์หน้าวัดสังฆราช  ซึ่งจากข้อมูลด้านมลพิษสิ่งแวดล้อมจากเหตุไฟไหม้ครั้งนี้ ประชาชนโดยรอบสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติ สถานการณ์สารมลพิษไม่อยู่ในระดับก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ แต่ควรงดใช้น้ำคลองเพื่อการอุปโภคบริโภคในช่วงเวลานี้เป็นการชั่วคราว

ทั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรม จะเร่งดำเนินการรื้อถอนปรับปรุงสภาพพื้นที่ ตลอดจนนำกากของเสียที่เกิดจากอุบัติภัยออกไปกำจัดตามหลักวิชาการและความปลอดภัย โดยได้รับความร่วมมือจากบริษัท ดาว เคมิคอล ประเทศไทย จำกัด และ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ที่ส่งผู้เชี่ยวชาญเข้ามาช่วยปรับสารเคมีให้เสถียรก่อนนำไปจัดการเพื่อให้ปลอดภัยก่อนทำการขนย้ายออกไปจากพื้นที่เกิดเหตุ เพื่อนำไปกำจัดอย่างถูกต้องต่อไป

นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวต่อว่า ในส่วนของการเยียวยาประชาชน กระทรวงฯ ได้สั่งให้โรงงานดำเนินการตาม พ.ร.บ.โรงงาน มาตรา 39 (1) เพื่อให้มีการชดใช้ค่าเสียหายที่ประชาชนจะต้องได้รับอย่างเร่งด่วน และร่วมเป็นหน่วยงานกลางในการรับคำร้องเรียนเพื่อส่งต่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อประโยชน์ในการชดใช้ค่าเสียหายต่อไป ทั้งนี้ กระทรวงฯได้กำหนดมาตรการป้องกันโรงงานที่มีความเสี่ยง ใน 2  ระยะ ทั้งระยะสั้นและระยะยาว โดยระยะสั้นให้  กรอ.จัดทำหนังสือแจ้งให้โรงงานปฏิบัติตามแผนบริหารความเสี่ยงอย่างเคร่งครัด โดยให้ประสานกับสำนักอุตสาหกรรมจังหวัด ตรวจสอบโรงงานที่มีความเสี่ยงสูงอย่างเร่งด่วน และประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรู้ในทุกช่องทางของกระทรวงฯ และ กรอ. และระยะยาว ได้กำชับให้ กรอ.และสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด จัดลำดับโรงงานที่มีความเสี่ยงและตรวจสอบอย่างเป็นระบบ โดย กรอ.ได้นำระบบอิเล็กทรอนิกส์มาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และพัฒนาแอพพลิเคชั่นที่เรียกว่า Safety Application เพื่อใช้สำหรับโรงงานที่มีความเสี่ยงสูง เช่น มีการใช้สารเคมีอันตราย เพื่อเป็นการป้องกันการรั่วไหลของสารเคมี หรือ วิธีปฏิบัติการดำเนินการต่างๆ ที่อาจก่อให้เกิดอันตรายได้

โดย กระทรวงฯ ได้สั่งให้โรงงานดำเนินการตาม พ.ร.บ.โรงงาน มาตรา 39 วรรค 1 เพื่อให้มีมาตรการแก้ไขปัญหาที่ประชาชนจะต้องได้รับอย่างเร่งด่วน โดยได้สั่งการให้ตั้งจุดรับเรื่องร้องทุกข์ 3 แห่ง  คือ 1.หน้าโรงงานหมิงตี้ 2.สถานีตำรวจบางแก้ว และ 3.สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรปราการ

ทั้งนี้ขอให้ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนสามารถไปติดได้ตามจุดที่เปิดบริการดังกล่าว ทั้งนี้กระทรวงอุตสาหกรรม จะร่วมเป็นหน่วยงานกลางในการประสานเพื่อเยียวยาประชาชนต่อไป เพื่อประโยชน์ในการชดใช้ค่าเสียหายต่อไป

ด้านนายประกอบ วิวิธจินดา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม  กล่าวว่า กรอ.ได้ตรวจสอบเบื้องต้นแล้วได้ข้อมูลว่ามีสารสไตรีนโมโนเมอร์ ตกค้างอยู่ภายในถังเก็บ ประมาณ 1,000 ตัน และมีอุณหภูมิเกินกว่า 70 องศาเซลเซียส ซึ่งไม่ปลอดภัยในการเข้าใกล้ถัง เนื่องจากอาจเกิดปฏิกิริยา self poltmerization ซึ่งจะคายความร้อนออกมาจำนวนมาก อาจเป็นเหตุให้เกิดการระเบิดหรือเพลิงไหม้ได้อีก จึงประสานผู้เชี่ยวชาญให้ขจัดสิ่งกีดขวางรอบๆ ถังเก็บ และให้เจ้าหน้าที่ฉีดน้ำไปที่ถังเก็บสารสไตรีน พร้อมทั้งใส่สารเคมีรอบๆ ถังเพื่อควบคุมสถานการณ์ โดยต้องการลดอุณหภูมิลงให้ได้ต่ำกว่า 40 องศาเซลเซียส ดังนั้นจึงต้องเฝ้าระวังต่อเนื่องอีก 24 ชั่วโมง จนแน่ใจว่าสามารถควบคุมอุณหภูมิได้คงที่ไม่เกิน 40 องศาเซลเซียส หลังจากนั้นจะพยายามสอดท่อ (pipe) ลงไปทางด้านบนเพื่อใส่สาร DEHA ลงไปเพื่อยับยั้งปฏิกิริยา (วิธีการจัดเก็บสไตรีนโมโนเมอร์ในถังจัดเก็บด้วยวิธีการ Short Stop) มีรายละเอียดดังแผนภาพ ทั้งนี้ หลังจากปรับสภาพได้ตามข้อกำหนดแล้วจะส่งสารสไตรีนไปกำจัด ณ โรงงานบำบัด/กำจัดของเสียอันตรายที่ได้รับอนุญาตจาก กรอ.ต่อไป

ส่วนกรณีไฟไหม้โกดังเก็บสินค้าของ บริษัท ฟลอรอลแมนูแฟคเจอริ่งกรุ๊ป ภายในนิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง โซน 3 ถนนฉลองกรุง เขตลาดกระบัง นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ชี้แจงว่า เหตุเพลิงไหม้ได้ยุติลงในเวลาอันรวดเร็วโดยไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการประเมินมูลค่าความเสียหาย โดยภายหลังกองพิสูจน์หลักฐานรวบรวมข้อมูลแล้วเสร็จน่าจะทราบตัวเลขความเสียหายที่ชัดเจน ได้แก่ ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับโกดัง 1 หลัง อุปกรณ์สำนักงานทั้งหมดประมาณ 3 ล้านบาท และสารเคมีที่อยู่ในโรงงาน คือ แอลกอฮอล์ประมาณ 7 หมื่นลิตร รวมถึงทรัพย์สินอื่นๆ อีก 28 ล้านบาท นอกจากนี้บริษัทยังมีเงินทุนหมุนเวียนอีกประมาณ 20 ล้านบาท คาดว่าหลังจากนี้จะมีเติร์ดปาร์ตี้เข้าร่วมตรวจสอบโรงงานด้ว ทั้งนี้ กนอ.มีแผนรวบรวมข้อมูลรายงานหลังจากนี้ ทั้งมูลค่าความเสียหายที่ชัดเจน ปริมาณสารเคมี ประเภท และระยะเวลาในการทำหนังสือขอต่ออนุญาตการใช้สารเคมีในโรงงาน เพื่อพิจารณาผลการดำเนินงานของโรงงานว่าเป็นไปตามกฎระเบียบข้อบังคับหรือไม่ ขณะเดียวกันจะได้วางมาตรการระยะสั้นและระยะยาวเพื่อรับมือกับเหตุการณ์ฉุกเฉินและบริหารจัดการความเสี่ยงในการประกอบกิจการในนิคมฯ