'โรม' รับเจองานยาก ผลักดันแก้ ระบบเลือกตั้งที่เป็นธรรม ผ่านการคำนวณแบบMMP

'โรม' รับเจองานยาก ผลักดันแก้ ระบบเลือกตั้งที่เป็นธรรม ผ่านการคำนวณแบบMMP

กมธ.แก้รธน. ฟากก้าวไกล รับเจองานยาก ดันเนื้อหาแก้รธน. ใช้สูตรคำนวณแบบเอ็มเอ็มพี เหตุเนื้อหาของพรรคประชาธิปัตย์ ไม่สมบูรณ์-ปิดทางแก้ไข

       นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ฐานะกรรมาธิการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่...) พ.ศ... แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 83 และมาตรา 91 รัฐสภา เปิดเผยถึงการหารือของกมธ. ในประเด็นการปรับแก้เนื้อหา ว่า เจ้าหน้าที่ได้จัดทำร่างแก้ไขประเด็นระบบเลือกตั้งให้กมธ.พิจารณา โดยพบว่าได้นำเนื้อหาของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับพรรคพลังปะชารัฐ และฉบับของพรรคเพื่อไทย ที่รัฐสภาไม่ได้รับหลักการ ปรับเพิ่มเติม ซึ่งตนมองว่าการกระทำดังกล่าวอาจจะขัดกับหลักการที่รัฐสภาลงมติรับหลักการวาระแรก อย่างไรก็ดีในกมธ. ยอมรับว่าร่างแก้ไขเรื่องระบบเลือกตั้งของพรรคประชาธิปัตย์นั้นขาดความสมบูรณ์ และตนมองว่าผิดวิสัยของพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งเป็นพรรคการเมืองเก่าแก่ ที่เสนอร่างกฎหมาย 

       “ผมมองว่าร่างแก้ไขฉบับร่าง ที่ปรับแก้มาตราอื่นเพื่อให้สอดคล้องกับ 2 มาตราที่รัฐสภารับหลักการนั้น อาจจะขัดกับหลักการ และอาจจะทำลายระบบรัฐสภา ทั้งนี้ที่ประชุมได้ยกประเด็นดังกล่าวหารือ พร้อมกับข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ข้อ 124 คุยในรายละเอียด แต่ยังไม่เป็นข้อยุติ” นายรังสิมันต์ กล่าว
       นายรังสิมันต์ ยังกล่าวการเสนอคำแปรญัตติเพื่อขอปรับระบบนับคะแนนเพื่อสร้างความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ด้วยระบบเอ็มเอ็มพี ว่า ต้องยอมรับว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคประชาธิปัตย์ที่ไม่สมบูรณ์ทำให้ไปต่อลำบาก ดังนั้นการปรับเนื้อหามีช่องทางที่แคบมาก ดังนั้นการผลักดันประเด็นดังกล่าวในวาระสองนั้นเป็นไปได้ยากมาก อย่างไรก้ดีจุดยืนของพรรคก้าวไกลยังเห็นว่าการปรับแก้ระบบเลือกตั้งที่สมบูรณ์และไม่ให้ถูกมองว่าเอื้อประโยชน์กับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ควรให้ ประชาชนหรือตัวแทนประชาชน เช่น สภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) เป็นผู้ดำเนินการออกแบบ

       เมื่อถามว่ามองว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญประเด็นดังกล่าวจะผ่านรัฐสภาหรือไม่ นายรังสิมันต์ กล่าวโดยเชื่อว่าคงจะผ่าน แม้ก่อนหน้านี้คาดหวังว่าการลงมติวาระสาม ที่มีเกณฑ์ออกคะแนนของส.ส.พรรคฝ่ายค้าน 20%  จะเป็นจุดเปลี่ยน แต่ขณะนี้มีพรรคการเมืองฝ่ายค้านที่เห็นด้วย อย่างไรก็ดีทราบว่าในประเด็นการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ที่เกินหลักการ อาจมีบุคคลภายนอกสภาฯ ยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้.