'วิจัยเอกชน' ดันไอเอ็มดีไทยขยับขึ้น

'วิจัยเอกชน' ดันไอเอ็มดีไทยขยับขึ้น

ผลสำรวจ "วิจัยเอกชน" ดันไอเอ็มดีไทยขยับขึ้น

เป็นเรื่องน่ายินดีที่อันดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย (IMD) ในภาพรวมดีขึ้น 1 อันดับ โดยขยับจากอันดับที่ 29 ขึ้นมาอยู่อันดับที่ 28 จาก 64 เขตเศรษฐกิจ ส่วน 3 อันดับแรกยังคงเป็น สวิตเซอร์แลนด์ สวีเดนและเดนมาร์ก ตามลำดับ

ทั้งนี้ “กิติพงค์ พร้อมวงค์” ผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) วิเคราะห์ปัจจัยต่างๆ ที่ทำให้ขีดความสามารถฯ ดีขึ้น พบว่า ปัจจัยสำคัญมาจากค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนาของทั้งประเทศที่เพิ่มจากร้อยละ 1.11 ของจีดีพีในปี 2561 เป็นร้อยละ 1.14 ของจีดีพีในปี 2562

ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนวิจัยและพัฒนาจากภาคเอกชน เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ หรือปรับปรุงผลิตภัณฑ์และกระบวนการเดิมเพื่อเพิ่มผลผลิต ลดค่าใช้จ่ายหรือสร้างผลลัพธ์อื่นๆ มีการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์เพิ่มความสามารถในการแข่งขัน รักษาและขยายส่วนแบ่งของผลิตภัณฑ์ในตลาด

การลงทุนของภาคเอกชนจึงเกิดผลกับเศรษฐกิจเป็นหลัก นับเป็นสัญญาณที่บ่งบอกว่าภาคเอกชนไทยมีความพร้อม และจะยิ่งพัฒนาขึ้นไปได้อีกหากได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐอย่างต่อเนื่อง ส่วนในด้านผลงานตีพิมพ์ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพิ่มขึ้นจากปีก่อนมากกว่า 1,000 รายการ

162563011950