‘ช้อปปี้’ ขยายอาณาจักรครบวงจร ดัน‘ช้อปปี้ฟู้ด’ ชิงสมรภูมิดิลิเวอรี่

‘ช้อปปี้’ ขยายอาณาจักรครบวงจร ดัน‘ช้อปปี้ฟู้ด’ ชิงสมรภูมิดิลิเวอรี่

ช้อปปี้ แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซในเครือ Sea กรุ๊ป เร่งขยายอาณาจักรชิงส่วนแบ่งตลาดอีคอมเมิร์ซ โลจิสติกส์ ดิลิเวอรี่ในไทย จ่อเปิดบริการใหม่ “ช้อปปี้ฟู้ด” ครึ่งปีหลังปีนี้ ประกาศรับไรเดอร์ในเฟซบุ๊คแฟนเพจ Shopee Food Rider

162558033243

ทั้งนี้ มีรายงานว่า ช้อปปี้จะมีการเปิดตัวบริการช้อปปี้ฟู้ด อย่างเป็นทางการราวครึ่งปีหลังของปีนี้ พร้อมเปิดตัวผู้บริหารที่จะเข้ามาคุมธุรกิจดังกล่าว โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อมในทุกส่วน รวมถึงเริ่มรับสมัครไรเดอร์มาตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.ที่ผ่านมา 

นับเป็นการขยายอาณาจักรของช้อปปี้ที่ครอบคลุมบริการอย่างครบวงจร ตั้งแต่ แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ บริการช้อปปี้เพย์ ช้อปปี้เอ็กซ์เพรส (Shopee Express) จากข้อมูลของ Credendata ระบุผลประกอบการปี 2563 ที่ผ่านมาของ ช้อปปี่้ ประเทศไทย มีรายได้ราว  5.8 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 62 ที่มีรายได้ราว 1.9 พันล้านบาท ขณะที่ ช้อปปี้ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) จำกัด มีรายได้ในปี 63 ราว 1.8 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 62 ที่มีรายได้ราว 500 ล้านบาท  

ขณะที่ ช้อปปี้เพย์ ซึ่งได้มีการรีแบรนด์จาก แอร์เพย์ (AirPay) ไม่นานได้มีการปรับภาพลักแบรนด์ใหม่ ยกระดับแพลตฟอร์มการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ เน้นตอบทุกไลฟ์สไตล์การใช้จ่าย สามารถใช้บริการเติมเงินมือถือ ชำระบิล ซื้อตั๋วหนัง ช้อปปิ้งออนไลน์ บริการโอน/ถอนเงิน และอื่นๆ รวมไปถึงการชำระเงินในช่องทางออฟไลน์ด้วยคิวอาร์โค้ด

ปัจจุบันธุรกิจของ Sea กรุ๊ป บริษัทแม่ของช้อปปี้ แบ่งออกได้เป็น 3 ส่วนหลัก ได้แก่ ธุรกิจสื่อบันเทิงดิจิทัล (Digital Entertainment) มีเรือธงอย่างเกมการีน่า (Garena) ที่ให้บริการกว่าใน 130 ตลาดทั่วโลก รวมถึงเกมออนไลน์ชื่อดังทั้งบนมือถือและพีซี เช่น PUBG, League of Legends, ROV ,Free Fire และส่วนธุรกิจอีคอมเมิร์ซ คือ ช้อปปี้ ที่มีบริการที่ครบวงจรตั้งแต่ อีคอมเมิร์ซ ดิจิทัลเพย์เม้นท์ ขนส่งพัสดุ และล่าสุดฟู้ดดิลิเวอรี่

แหล่งข่าวในวงการดิจิทัล กล่าวว่า การขยับตัวของช้อปปี้ครั้งนี้เป็นการเปิดเกมรุกครั้งสำคัญ ด้วยอีโคซิสเต็มส์ที่ครบวงจร และจะสร้างแต้มต่อในสมรภูมิออนไลน์ ที่ยังมีการแข่งขันกันอย่างรุนแรงในช่วงโควิด ที่ประชาชนส่วนใหญ่งดออกนอกบ้าน ขณะที่รัฐบาลมีคำสั่งร้านอาหารให้บริการได้เพียงซื้อกลับบ้านเท่านั้น ทำให้บริการส่งอาหารผ่านแอพฟู้ดดิลิเวอรี่ มียอดสั่งซื้อสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดด

“โควิดระลอกใหม่ ร้านค้าหรือบริการต่างๆ ที่ปรับตัวจากออฟไลน์ มาสู่ออนไลน์แล้วก่อนหน้านี้ จะมีมีโมเดลธุรกิจ การให้บริการที่ลงตัวมากขึ้น”

ขณะที่ โควิดรอบนี้ บริการออนไลน์ต่างๆ จะมีตัวเลือกที่หลากหลายให้ผู้บริโภค จากผู้ให้บริการที่เพิ่มขึ้น มีการแข่งขันกันสูง จะเป็นผลดีต่อผู้บริโภคทำให้ยอดจับจ่ายสินค้าต่างๆ หรือเม็ดเงินของอีคอมเมิร์ซจะกระจายไปตามตัวเลือกที่มีมากขึ้น

ข้อมูลจากยูโร มอนิเตอร์ ระบุว่า มูลค่าตลาดฟู้ดดิลิเวอรี่ปี 2563 อยู่ที่ 68,000 ล้านบาท ส่วนปี 2564 คาดว่ามูลค่าตลาดฟู้ดดิลิเวอรี่จะเติบโตขึ้นมาอยู่ 74,000 ล้านบาท และในปี 2567 ตลาดจะมีมูลค่า 99,000 ล้านบาท