‘ซังฟอร์’ ชูแม่เหล็กดูดลูกค้า ส่ง 'โซลูชั่น' หนุนทรานส์ฟอร์ม

‘ซังฟอร์’ ชูแม่เหล็กดูดลูกค้า ส่ง 'โซลูชั่น' หนุนทรานส์ฟอร์ม

ผู้ให้บริการซอฟต์แวร์โซลูชั่นสัญชาติจีนมองเห็นศักยภาพและความต้องการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อตอบโจทย์การทำธุรกิจในกลุ่มประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงประเทศไทย จึงไม่รีรอที่จะปักหมุดรุกตลาดในไทย ปัจจุบันมีการเติบโตทุกปีแบบก้าวกระโดด

และในอนาคตยังมีการวางแผนพัฒนาโซลูชั่นใหม่ๆ ด้านโครงสร้างพื้นฐานไอที หนุนการทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์ม ระบุเป็นแม่เหล็กยึดลูกค้าไว้แน่น

162557748541

รัตสกานต์ ศรีสวัสดิ์ ผู้จัดการผลิตภัณฑ์บริษัท ซังฟอร์ เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ให้บริการด้านเทคโนโลยีความปลอดภัยเครือข่ายและคลาวด์คอมพิวติ้งสัญชาติจีน กล่าวว่า ซังฟอร์ฯ อยู่ในอุตสาหกรรมเทคโนโลยี ก่อตั้งขึ้นในปี 2543 ปัจจุบันมีพนักงานรวมกว่า 7,500 คน ให้บริการลูกค้ามากกว่า 100,000 รายทั่วโลก มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่ประเทศจีนและสำนักงานสาขามากกว่า 60 แห่งทั่วโลก ซึ่งรวมถึงประเทศไทย

ในไทยได้เปิดให้บริการประมาณ 11 ปีและมีมากกว่า 800 หน่วยงานที่ใช้บริการเทคโนโลยีของซังฟอร์ ถือว่าค่อนข้างหลากหลายกลุ่มอุตสาหกรรม ตั้งแต่สถาบันการเงิน โรงพยาบาล หน่วยงานราชการ โรงงานอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัย โดยแบ่งสัดส่วนเป็นบริษัทเอกชน 50% โรงพยาบาล 30% และหน่วยงานราชการ 20% และมากกว่า 40% ของลูกค้าใช้งานโซลูชั่นมากกว่า 1 ผลิตภัณฑ์

ตามข้อมูลการวิจัยของ IDC ปัจจุบันซังฟอร์ติดอันดับท็อป 1-3 ในทุกกลุ่มผลิตภัณฑ์ อาทิ Secured Web Gateway ระบบไซเบอร์ซีเคียวริตี้ ป้องกันไวรัสหรือการโจมตีจากแฮกเกอร์ ทั้งนี้ หนึ่งในพันธกิจของบริษัทคือ การให้บริการที่ช่วยให้องค์กรลูกค้าสามารถทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์ม ลดค่าใช้จ่ายและปกป้องข้อมูลสำคัญ

ธุรกิจดิจิทัลอัตราโต 150% ต่อปี

162557761020

ซังฟอร์ฯ มีอัตราการเติบโตเฉลี่ย 150% ต่อปี แสดงให้เห็นว่าอุตสาหกรรมด้านไอทีในประเทศไทยเติบโตอย่างรวดเร็ว แม้ในวิกฤติโควิด หลายๆ องค์กรนำเทคโนโลยีไอทีมาช่วยสนับสนุนการทำงาน เช่น Work from Home และเสริมสร้างระบบรักษาความปลอดภัยทางเครือข่ายให้กับองค์กร ทำให้เม็ดเงินสะพัดต่อเนื่อง คาดว่าปีนี้มูลค่าใช้จ่ายไอทีเติบโตราว 5% คิดเป็นมูลค่า 6.68 แสนล้านบาท

“อานิสงส์ของโควิด-19 ทำให้ทั่วโลกมุ่งหาไอทีและบริการดิจิทัลตอบโจทย์การใช้ชีวิตและการทำงาน ขณะที่ภาคธุรกิจต่างเร่งลงทุนในระบบไอทีอย่างเข้มข้น เพื่อรองรับแผนระยะยาวเมื่อโลกก้าวสู่ยุคหลังโควิดเช่นกัน”

รัตสกานต์ มองว่า ความท้าทายในการพัฒนาโซลูชั่นของซังฟอร์ฯ คือ “ความต้องการของลูกค้า” ที่หลากหลายมากขึ้นในแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรม จึงถือเป็นเป้าหมายสำคัญที่จะต้องมีการวางแนวทางการดำเนินงานเพื่อให้บรรลุเป้าหมายนั้นๆ ผ่านการพัฒนาเทคโนโลยีและฟีเจอร์ใหม่ๆตลอดเวลา

ยกตัวอย่างลูกค้าโรงพยาบาลจะมีแอพพลิเคชั่นสำคัญคือ ระบบเวชระเบียน ปัญหาหลักคือ เวลาคนไข้ใช้งานเยอะ ระบบจะช้า ดังนั้นโซลูชั่นนี้จะเข้าไปทดแทนเซิร์ฟเวอร์รูปแบบเดิมๆ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพมากขึ้น หรือแม้กระทั่งการป้องกันแรนซัมแวร์หรือมัลแวร์รูปแบบใหม่ๆ ที่จะต้องใช้เวลากู้ข้อมูลนาน ด้วยโซลูชั่นนี้จะกู้ระบบกลับคืนมาได้ภายในเวลาไม่กี่นาที และสามารถทำการอัพเกรดโครงสร้างพื้นฐานทางไอทีได้ในอนาคต

ส่งซอฟต์แวร์ช่วย รพ.รับมือโควิด

เมื่อโลกกำลังเข้าสู่สภาวะวิกฤติ ทุกประเทศเจอทางตัน สิ่งที่จะช่วยได้ ณ เวลานี้มีไม่กี่ปัจจัย ไม่ว่าจะเป็น วัคซีน ที่จะมาช่วยบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้น แต่ภายใต้ปัจจัยสำคัญเหล่านั้นกลับมีตัวแปรสำคัญในการช่วยโรงพยาบาลสู้รบกับวิกฤติในครั้งนี้เช่นกัน นั่นคือ ข้อมูลทางด้านไอที เมื่อข้อมูลยิ่งมาก แน่นอนว่าข้อผิดพลาดหรือดาวน์ไทม์ย่อมเป็นของคู่กัน จึงจำเป็นที่จะต้องมีตัวช่วยที่จะสามารถหนุนกลไกการทำงานให้ดำเนินไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ

162557764067

บริษัทจึงได้จัดทำโครงการ “ซังฟอร์ช่วยชาติหยุดโควิด-19 บริการโซลูชั่นช่วยเหลือโรงพยาบาลและหน่วยงานด้านการแพทย์” โดยมอบซอฟต์แวร์โซลูชั่น Hyper-converged ช่วยงานด้านบริการให้ดำเนินการได้อย่างต่อเนื่องและเรียลไทม์ โดยไม่มีค่าใช้จ่ายเป็นระยะเวลา 2-3 เดือน หลังจากเล็งเห็นว่าหน่วยงานด้านการแพทย์กำลังประสบปัญหาโครงสร้างพื้นที่ฐานด้านการให้บริการรับจองวัคซีนและงานด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

โครงการฯ จะดำเนินการไปจนสิ้นปี หรือจนกว่าสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทยจะคลี่คลาย ส่วนเกณฑ์การคัดเลือกโรงพยาบาลนั้นเปิดกว้างทั้งหมดสำหรับโรงพยาบาลที่มีความจำเป็น ซึ่งได้ส่งมอบให้แล้ว 4 โรงทั้งในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล จากการให้บริการในช่วงที่ผ่านมาพบว่า โรงพยาบาลภาครัฐจะมีความต้องการมากกว่าเอกชน 

รับมือจองฉีดวัคซีนไม่สะดุด

ทั้งนี้ Hyper-converged เป็นเทคโนโลยีเซิร์ฟเวอร์/ดาต้าเซ็นเตอร์ ที่ช่วยให้องค์กรสามารถสร้างระบบคลาวด์ภายในองค์กรได้อย่างง่าย ขณะเดียวกันยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานทั้งเครื่องแม่ข่ายและเครื่องลูกข่ายเสมือน (Virtual Desktop Infrastructure หรือ VDI) ให้ทำงานได้อย่างรวดเร็ว ลดโอกาสหรือความเสี่ยงที่จะเกิดดาวน์ไทม์ อีกทั้งเพิ่มประสิทธิภาพระบบแอพพลิเคชั่นให้สามารถสเกลอัพเพื่อรองรับจำนวนผู้ใช้งานที่เพิ่มมากขึ้น

ตัวอย่างเช่นโรงพยาบาล เมื่อผู้มารับบริการฉีดวัคซีนมีจำนวนมาก ระบบจะเกิดปัญหาทำให้ไม่สามารถให้บริการได้อย่างต่อเนื่อง เทคโนโลยีนี้จะเข้ามาแก้ปัญหาและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ทั้งยังมีการสำรองข้อมูลระบบไว้อย่างปลอดภัย ขณะที่ VDI จะเข้ามาช่วยผู้บริการระบบไอทีให้สามารถดูแลและจัดการเครื่อง Desktop Client ที่ต้องนำมาติดตั้งที่โรงพยาบาลสนามได้อย่างรวดเร็วและคล่องตัว เพื่อให้โรงพยาบาลดำเนินงานได้อย่างต่อเนื่องและสามารถจัดการจากส่วนกลางได้ทันที อีกทั้งลดค่าใช้จ่ายในการติดตั้งอุปกรณ์เซิร์ฟเวอร์แบบดั้งเดิม