“สุริยะ”ตรวจเข้มสารพิษตกค้าง สั่งปิดหมิงตี้สอบเอาผิดตามกม.

“สุริยะ”ตรวจเข้มสารพิษตกค้าง สั่งปิดหมิงตี้สอบเอาผิดตามกม.

“สุริยะ” ส่งเจ้าหน้าที่รุดลงพื้นที่ตรวจสอบคุณภาพอากาศ คุณภาพน้ำ การกำจัดของเสียปนเปื้อนพื้นที่โรงงานไฟไหม้ พร้อมวางแผนควบคุมความเสี่ยง ด้าน กรอ. สั่งปิดโรงงานตรวจสอบเอาผิดตามกฎหมาย

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยความคืบหน้าสถานการณ์ ไฟไหม้โรงงานบริษัท หมิงตี้เคมีคอล จำกัด ซึ่งเป็นโรงงานผลิตโฟม และเม็ดพลาสติก ภายในซอยกิ่งแก้ว 21 ถนนกิ่งแก้ว ต.บางพลีใหญ่ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการไฟไหม้ ว่า ได้สั่งการให้กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ส่งเจ้าหน้าที่กรมโรงงานฯ ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง คุณภาพอากาศ และคุณภาพน้ำ และสารเคมีที่ตกค้างในพื้นที่อย่างเร่งด่วน ซึ่งเรื่องดังกล่าวทางนายกรัฐมนตรี (พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา) ได้กำชับให้ทางกระทรวงฯเร่งดำเนินการตรวจสอบ และดูแลในเรื่องของคุณภาพชีวิตของชุมชน และผู้ประกอบการโรงงาน โดยนายกรัฐมนตรีมีความเป็นห่วงอย่างมาก และยังคงติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะในเรื่องความปลอดภัยของชุมชนในพื้นที่

นายประกอบ วิวิธจินดา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) กล่าวเสริมว่า ขณะนี้กรอ.ได้ใช้อำนาจตามพ.ร.บ.โรงงานอุตสาหกรรม สั่งปิดโรงงานบริษัท หมิงตี้ เคมีคอล จำกัด เรียบร้อยแล้ว หลังจากนี้จะเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบในรายละเอียดตามกระบวนการทางกฎหมายอีกครั้ง  และได้ตั้งทีมเฉพาะกิจในการติดตามสถานการณ์ดังกล่าวแล้วอย่างใกล้ชิด โดยได้นำรถตรวจวัดคุณภาพอากาศเคลื่อนที่ (รถโมบาย) ไปตรวจวัดคุณภาพอากาศบริเวณโรงงานฯ และบริเวณใกล้เคียงโรงงาน มาตั้งแต่วันที่ 5 ก.ค.ที่ผ่านมา โดยจะเร่งประมวลผลและแจ้งผลการตรวจวัดคุณภาพอากาศผ่านเว็บไซต์ของกรอ. www.diw.go.th แบบ Real Time เพื่อให้ประชาชนเข้าไปตรวจสอบคุณภาพอากาศได้ 

นายวีระกิตติ์  รันทกิจธนวัชร์ รองอธิบดี กรอ. ได้นำคณะเจ้าที่ที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง เพื่อแก้ไขปัญหาและจัดทำแผนในการป้องกันเหตุ ซึ่งจากการตรวจสอบพื้นที่เบื้องต้น พบว่า โรงงานเครื่องจักรเสียหายทั้งหมด และมีสารเคมีตกค้างอยู่ประมาณ 4 -5 ถัง ที่คาดว่าน่าจะเป็นสารเบนเทน ซึ่งองค์ประกอบทางสารเคมีน่าจะเสียหายหมดแล้ว โดยสารเคมีดังกล่าวจะต้องส่งไปทำลายทั้งหมดตามวิธีการที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ  ขณะที่ซากปรักหักพัง ทั้งในส่วนของโครงสร้างอาคาร เหล็ก อิฐ ปูนต่างๆ ทางโรงงานฯ ต้องดำเนินการแจ้งมายัง กรอ.เพื่อให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.วัตถุอันตราย ในเรื่องของการจัดการกากอุตสาหกรรม เนื่องจากว่าอาจมีการปนเปื้อนด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ สารตกค้างที่ยังอยู่ในพื้นที่สังเกตได้จากความร้อนใต้พื้นดินที่รู้สึกได้ แสดงว่ายังมีโอกาสที่จะปะทุได้อีก ดังนั้น ยังคงต้องฉีดน้ำเลี้ยงไปยังถังที่หลงเหลืออยู่เพื่อเลี้ยงอุณหภูมิไว้ ขณะเดียวกันทางโรงงานฯ กำลังดำเนินการนำสารเคมีบางชนิดมาจับเพื่อให้สามารถขนย้ายได้ง่าย และนำไปกำจัด โดย กรอ.ได้สั่งการให้โรงงานขนออกไปกำจัดได้อย่างถูกวิธี โดยคาดว่าสารที่เหลืออยู่ตอนนี้มีสไตรีนน่าจะมีประมาณ 1600 ตัน

ในส่วนของการเก็บตัวอย่างน้ำในคลองชวดลาดข้าว อยู่ทิศตะวันออกของโรงงาน จุดเก็บก่อนไหลผ่านและหลังไหลผ่านโรงงาน ซึ่งจะไหลลงคลองประเวศและเก็บตัวอย่างน้ำในคลองอาจารย์พร ด้านทิศเหนือของโรงงาน และคลองประเวศ รวมทั้งหมด 6 จุดตรวจวัด ซึ่งจะนำเข้าห้องปฏิบัติการเพื่อวิเคราะห์การปนเปื้อนของสารอินทรีย์ระเหยง่ายในน้ำ รวมทั้งเก็บตัวอย่างน้ำภายในโรงงานซึ่งเกิดจากการดับเพลิง จำนวน 2 จุด ตรวจวัด รวมทั้งหมด 8 จุดตรวจวัด

และการตรวจวัดสภาพอากาศ จุดที่ 1 จุดฉีดวัคซีน นิคมอุตสาหกรรมธัญธานี (เหนือลม ห่างจาก 2 กม) พบสารสไตรีน 0.42 ppm  เบนซีน 0.55 ppm จุดที่ 2 จุด ware house (ใต้ลม ห่างจาก 1 กม) พบสาร สไตรีน 0.83 ppm  เบนซีน 0.81 ppm ทั้งนี้ ขีดจำกัดการรับสัมผัสสารเคมีทางการหายใจแบบเฉียบพลัน กำหนดค่าขีดจำกัดการรับสัมผัสสารเคมีทางการหายใจแบบเฉียบพลันของสารสไตรีนไว้ 3 ระดับ ได้แก่  ระดับที่ 1 มีค่า 20 ppm  (ระดับความเข้มข้นสูงสุดของสารเคมีในบรรยากาศ ที่ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน) ระดับที่ 2 มีค่า 130 ppm ( ระดับความเข้มข้นสูงสุดของสารเคมีในบรรยากาศ ที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพอย่างไม่ร้ายแรง) ระดับที่ 3 มีค่า 1,100 ppm (ระดับความเข้มข้นสูงสุดของสารเคมีในบรรยากาศ ที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพอย่างร้ายแรง แต่ไม่ถึงขั้นเสียชีวิต)

สำหรับโรงงานหมิงตี้ เป็นโรงงานอุตสาหกรรม จำพวก 3(โรงงานที่ขนาดเครื่องจักรเกิน 75 แรงม้า หรือคนงานเกิน 75 คน) โดยโรงงานได้มีการประเมินความเสี่ยงตั้งแต่การตั้งโรงงาน โดยเจ้าหน้าที่ได้ทำการตรวจสอบ โดยอยู่ภายในกำกับดูแลของทางจังหวัดในส่วนของการตรวจสอบทั่วไป โดยเฉพาะในเรื่องของการประเมินความเสี่ยงที่จะต้องตรวจสอบทุก ๆ 5  ปี