ธุรกิจจี้รัฐเขย่าแผน‘เปิดประเทศ’ เร่งฉีดวัคซีนแก้วิกฤติเชื่อมั่น!

ธุรกิจจี้รัฐเขย่าแผน‘เปิดประเทศ’ เร่งฉีดวัคซีนแก้วิกฤติเชื่อมั่น!

มีทั้งเสียง “เห็นด้วย” และ “ไม่เห็นด้วย” ต่อแผนเปิดประเทศภายใน 120 วันของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม โดยเฉพาะห้วงเวลานี้ที่ดูเหมือนเสียงไม่เห็นด้วย! จะกระหึ่มขึ้นท่ามกลางจำนวนผู้ติดเชื้อที่ทำ “นิวไฮ” ทุกวัน

ขณะที่แผนบริหารจัดการวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้ได้ 10 ล้านโดสต่อเดือน เพื่อให้ครอบคลุมประชากรที่ได้รับวัคซีนเข็มที่ 1 อย่างน้อย 50 ล้านคนภายในเดือน ต.ค.นี้ ยังเป็นคำถามของทุกๆ ภาคส่วน จะบรรลุเป้าหมายได้อย่างไร? 

โดย ณ วันที่ 4 ก.ค.2564 ประชาชนชาวไทยได้รับการจัดสรรวัคซีนแล้วราว 10.6 ล้านโดส เป็นเข็มแรก 7.7 ล้านโดส  หรือ 11.7% ของประชากร และเข็มสอง 2.9 ล้านโดส อยู่ที่ 4.5% ของประชากร ส่วน ภูเก็ต” โมเดลนำร่องเปิดประเทศภายใต้โครงการ ภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์” ประชากรในพื้นที่ฉีดวัคซีนแล้วมากกว่า 70% จะนำสู่เป้าใหญ่ "เปิดประเทศทั้งประเทศ” ภายในเดือน ต.ค.นี้ได้หรือไม่ อย่างไร? 

วิชา พูลวรลักษณ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับนโยบายการเปิดประเทศภายใน 120 วัน เสี่ยงเกินไป! และอาจทำไม่ได้ เนื่องจากโครงสร้างและวัฒนธรรมของไทยยังไม่พร้อม 

แต่เห็นด้วยและจำเป็นอย่างยิ่งในการเปิดจังหวัดท่องเที่ยวสำคัญ ที่สร้างรายได้ให้กับประเทศควบคู่การควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เพราะเศรษฐกิจไทยต้องพึ่งพารายได้จากการท่องเที่ยวเป็นสำคัญ เป็นอุตสาหกรรมที่มีผู้คนเกี่ยวข้องจำนวนมากกว่า 5 ล้านคน ดังนั้นรัฐต้องดำเนินนโยบายเชิงรุก การจะรอรับให้สถานการณ์ดีขึ้นเองคงไม่ได้ เพราะโรคระบาดยังอยู่ไปอีกนาน”

ในฐานะภาคธุรกิจขอเสนอ 3 แนวทางแก้วิกฤติประเทศ ได้แก่ 1.ด้านเศรษฐกิจ รัฐต้องจัดลำดับความสำคัญก่อนและหลังของแต่ละอุตสาหกรรม เพราะปัญหาแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง แล้วกำหนดยุทธศาสตร์ เช่น เปิดเมืองท่องเที่ยว ซึ่งกว่า 18 เดือนที่ปิดประเทศ ไทยขาดรายได้มหาศาล เศรษฐกิจทรุดลงอย่างรวดเร็ว ผู้คนจำนวนมากตกงาน

รัฐต้องจัดลำดับความสำคัญให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเป็นลำดับแรก เพื่อดึงรายได้เข้าประเทศ!

โดยทยอยเปิดจังหวัดท่องเที่ยวที่มีความพร้อมสามารถควบคุมได้ ไม่ว่าจะเป็นภูเก็ต สมุย พัทยา เชียงใหม่ กระบี่ พังงา ฯลฯ  และรัฐต้องกล้าที่จะปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์อย่างรวดเร็ว ก่อนปัญหาจะลุกลาม ต้องกล้าที่จะสู้ ตั้งรับอย่างเดียวไม่ได้ ถ้าเราจำกัดพื้นที่สู้ ก็จะสามารถควบคุมได้ ต้องอยู่กับโควิดให้เป็น ตัวอย่างเช่น  มัลดีฟส์ เปิดประเทศตั้งแต่เดือน ส.ค. 2563 ก่อนประเทศไทย 12 เดือน พิสูจน์ให้เห็นว่ามีรายได้จากการท่องเที่ยวแทบจะเป็นปกติเหมือนปี 2562 เศรษฐกิจฟื้นตัวกลับมาดี มีการบริหารจัดการโควิดได้ดีอย่างไม่มีปัญหา อาจมีผู้ติดเชื้อมากบ้าง น้อยบ้างในแต่ละวัน ซึ่งขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการ

2.ด้านสาธารณสุข ณ ขณะนี้ไม่มีทางอื่นนอกจากเร่งฉีดวัคซีนให้ได้มากที่สุด เร็วที่สุด ครอบคลุมมากที่สุด เหมือนในยุโรป แล้วค่อยมาพิจารณาควรออกมาตรการอะไรเพิ่มเติม และ 3.ด้านทีมงาน รัฐต้องจัดทีมงานที่เก่งเรื่องคิด การสื่อสาร มีความสามารถทำความเข้าใจ และสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน 

ที่ผ่านมาเห็นชัดว่าการมองปัญหา แก้ปัญหานำมา ซึ่ง ปัญหา เข้าตำรา “ยิ่งแก้ยิ่งยุ่ง” ประชาชนเดือนร้อน สับสน มีคำถามมากมาย รัฐตอบไม่ชัด ทำไม่ได้ จึงยากที่จะได้รับความร่วมมือจากประชาชน

รัฐต้องให้ความสำคัญกับการสื่อสาร ทำความเข้าใจ และสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน ทุกคนก็พร้อมจะให้ความร่วมมือ รัฐต้องทำในสิ่งที่จำเป็นต้องทำ ประชาชนก็ต้องดูแลป้องกันตัวเองให้เป็น ไม่ต้องออกกฏมาควบคุมอะไรมากมาย เพราะใช้วิธีออกกฏแล้วก็ไม่เวิร์ค”

ไม่ต่างจาก วัลลภ ตรีฤกษ์งาม กรรมการบริหารด้านการขายและการตลาด บริษัท ซูซูกิ มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า สิ่งสำคัญที่สุดในเวลานี้ คือ การสร้างความเชื่อมั่น และลดความกังวลให้กับประชาชน ด้วยการทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อลดลง ไม่มีปัญหาด้านวัคซีน เช่น การถูกเลื่อนนัดฉีด และมีการมีไทม์ไลน์ที่ชัดเจนของแผนเปิดประเทศใน 120 วัน

คงจะเปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้ แผนการเปิดประเทศก็ต้องเดินหน้าต่อไป บางคนอาจกังวล แต่บางธุรกิจอย่างท่องเที่ยวและบริการก็จะได้รับผลดี แต่หากกลุ่มนี้มีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น ก็จะวนไปยังธุรกิจอื่นต่อไป”

รัฐบาลต้องทำให้ประชาชนเห็นภาพที่ชัดเจนว่าจะไปถึงจุดนั้นได้อย่างไร? และจำนวนผู้ติดเชื้อจะสัมพันธ์กับระยะวลาดังกล่าวอย่างไร

การมีไทม์ไลน์ที่ชัดเจน จะมีผลต่อภาคธุรกิจ สามารถวางแผนงานที่เป็นรูปธรรมได้ เช่น กำหนดได้ว่าจะจัดกิจกรรมอะไร ในช่วงเวลาไหน และเตรียมงบประมาณได้ถูกต้อง

ส่วนแนวทางการลดผู้ติดเชื้อซึ่งเป็นสิ่งสำคัญ สิ่งประชาชนอยากรู้เช่น จะใช้มาตรการอะไร เช่น ล็อกหรือไม่ล็อกดาวน์ หรือ กึ่งล็อกดาวน์ และควรจะมีภาพชัดเจนว่าแต่ละมาตรการจะมีผลอย่างไร

การใช้แนวทางใดก็ตามแต่ สิ่งสำคัญ คือ ความเข้มข้น เช่น มาตรการรักษาระยะห่าง หรือ การรวมกลุ่มทางสังคมที่ปัจจุบันยังพบเห็นอยู่

ด้านวัคซีน ก็ควรมีกำหนดการที่ชัดเจน ว่าจะมาเมื่อไร อย่างไร และจะฉีดให้ประชาชนได้เท่าไร และแก้ปัญหาการติดขัดในการบริการ เช่น การกระจายวัคซีน

ช่วงนี้จะต้องทำอะไรหลายอย่าง เราก็เอาใจช่วยรัฐ เพียงแต่อยากเห็นภาพ หรือแนวทางที่ชัดเจน ซึ่งจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชนได้ แล้วทุกอย่างจะดีขึ้น แม้ว่าจะต้องเหนื่อยกันไปอีกสักพักก็ตาม”

บุญเกียรติ โชควัฒนา ประธานกรรมการ บริษัท ไอ.ซี.ซี. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด(มหาชน) ในเครือสหพัฒน์ กล่าวว่า ทางออกในการแก้วิกฤติประเทศ ที่ต้องทำเร่งด่วนคือการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนอย่างรวดเร็วและทั่วถีง และรัฐต้องเข้มงวดกับผู้ที่ทำผิดกฏกติกาบ้านเมืองให้มากขึ้น แม้ที่ผ่านมาคนส่วนใหญ่จะอยู่ในกรอบ แต่ยังมีช่องโหว่ให้คนดื้อดึงทำสิ่งต่างๆ

ส่วนนโยบายเปิดประเทศใน 120 วันเป็นการแก้ปัญหาเศรษฐกิจที่เชื่อว่ามาถูกทาง โดยมี "ภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์" เป็นต้นแบบฟื้นฟูอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเป็นลำดับแรก เพราะมีความสำคัญต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ(จีดีพี) แต่ผลลัพธ์จะเห็นช้าหรือเร็วขึ้นอยู่กับสถานการณ์ ขณะที่การสื่อสารทำความเข้าใจกับประชาชนเกี่ยวกับเรื่องต่างๆ อาจไม่ถูกใจบางกลุ่ม และรัฐถูกตำหนิมองเป็นเรื่องธรรมดาของมนุษย์ แต่เห็นด้วยที่รัฐต้องดำเนินการแก้ไขจุดอ่อนด้านการสื่อสารสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องแก่คนหมู่มากให้ได้โดยเร็วสุด

ปิยะ ประยงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พฤกษา เรียลเอสเตท จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า วันนี้การฉีดวัคซีนทำได้เพียง 10 ล้านโดส หรือ 5 ล้านคน หรืออัตราการฉีด 3 แสนโดสต่อวัน หากจะเปิดประเทศในอีก 3 เดือนข้างหน้าตามแผน 120 วัน ต้องฉีดวัคซีนให้ได้วันละ 1 ล้านโดส เพื่อบรรลุเป้าหมายบ 50 ล้านโดส ซึ่งเป็นไปไม่ได้!!

ถึงสิ้นปีต้องเร่งฉีดให้ได้ 100 ล้านโดส ซึ่งต้องฉีดวันละ 5 แสนโดส ปัจจุบันก็ยังไม่ถึง เวลานี้เป็นทั้งวิกฤติวัคซีนที่มาล่าช้า โควิดสายพันธุ์เดลต้าจากอินเดียที่ระบาดวัคซีนซิโนแวคเอาไม่อยู่ ควรต้องเป็นแอสตร้าเซนเนก้า โมเดอร์นา จึงเป็นเรื่องน่ากังวล”

ภารกิจแรกและเป็นเรื่องใหญ่ คือ การบริหารจัดการวัคซีน ที่รัฐบาลต้องเร่งนำเข้ามารวมถึงการจัดหาวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า โมเดอร์นา ไฟเซอร์ เพื่อสกัดโควิดสายพันธุ์อินเดีย เรื่องที่สอง จัดลำดับความสำคัญในการฉีดวัคซีนให้เหมาะสมกับแต่ละกลุ่ม เช่น โรงงานอุตสาหกรรมอาหาร มิเช่นนั้นอาจเกิดคลัสเตอร์ เช่นเดียวกับอสังหาริมทรัพย์ แคมป์ก่อสร้าง ต้องเร่งฉีด

แผนเปิดประเทศ 120 วัน อาจต้องปรับใหม่!

โดยเปลี่ยนมาเป็นเฉพาะจังหวัดท่องเที่ยวหลักอย่าง “ภูเก็ต” เพื่อระดมฉีดในพื้นที่นั้นๆ ซึ่งจะมีโอกาสความเป็นไปได้มากกว่าเปิดทั้งประเทศ

แนะถอดบทเรียน‘ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์’สกัดความเสี่ยง

การคิกออฟ “ภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์” เป็นโครงการต้นแบบที่สามารถนำทั้งผลดีและปัจจัยเสี่ยงเป็นโจทย์ตั้งในการเดินหน้าเปิดเมืองในลำดับถัดไป ปิดจุดอ่อนก่อนเปิดประเทศเต็มรูปแบบ

ศุภจี สุธรรมพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ก่อนหน้าที่จะเริ่มต้นโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ เมื่อ1 ก.ค. ทีมงานดุสิตธานีได้ลงพื้นที่“ภูเก็ต”ร่วมหารือกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเปิดประเทศ แน่นอนว่าจนถึงขณะนี้ก็ยังมีคำถามและมีความเป็นห่วงมากมาย!

อย่างไรก็ตาม สิ่งหนึ่งที่สัมผัสได้คือความมุ่งมั่นที่จะทำให้การเปิดประเทศใน “กล่องทราย” หรือ “แซนด์บ็อกซ์” ครั้งนี้ เป็นการนำร่องและนำไปสู่การเรียนรู้ เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการเปิดประเทศภายในเดือน ต.ค. ซึ่งมีการเตรียมขั้นตอนและกฎเกณฑ์ที่เข้มงวดเพื่อป้องกันความเสี่ยงอย่างเต็มที่ และได้ระดมฉีดวัคซีนกัน 70% แล้ว โดยมีเป้าหมายจะเพิ่มอัตราการฉีดวัคซีนขึ้นอีก

“แม้ไตรมาส 3 นี้จะเป็นช่วงโลว์ซีซั่น เพราะเป็นฤดูฝน การที่จะหวังตัวเลขนักท่องเที่ยวในจำนวนมากคงเป็นไปได้ยาก แต่ชาวภูเก็ตก็ยอมจะเริ่มในช่วงเวลานี้ เพื่อที่เราจะได้เรียนรู้และเตรียมความพร้อมสำหรับช่วงไฮซีซั่นตอนปลายปี รวมถึงยังเป็นโมเดลขยายต่อไปยังพื้นที่อื่นๆ ด้วย”

วิชิต ประกอบโกศล ประธานกลุ่มบริษัท ซี.ซี.ที.กรุ๊ปผู้ประกอบการทัวร์รายใหญ่ตลาดจีนเที่ยวไทย กล่าวว่าสิ่งที่กังวลในขณะนี้คือการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ภายในประเทศซึ่งพุ่งสูงต่อเนื่อง โจทย์ใหญ่! จะเร่งกระจายฉีดวัคซีนแก่คนไทย ทั้งวัคซีนหลักและวัคซีนทางเลือก และมีวัคซีนเพียงพอตามเป้าหมาย ขณะเดียวกันปัญหาแรงงานเถื่อนที่ลักลอบเข้าไทยตามชายแดนจะจัดการอย่างไรเพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่ระบาด

“การเปิดประเทศภายใน 120 วันนั้นถือว่ามาถูกทาง เพราะเป็นนโยบายที่ระบุชัดว่าให้พิจารณาเปิดพื้นที่นำร่องเฉพาะเมืองที่มีความพร้อม ปลอดภัยด้านสาธารณสุข ควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 ได้ดี ประชาชนในพื้นที่ได้รับการฉีดวัคซีนมากกว่า 70% เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ นักท่องเที่ยวต่างชาติต้องเดินทางมาจากประเทศที่มีความเสี่ยงต่ำและปานกลาง ได้รับการฉีดวัคซีนและตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วยวิธี RT-PCR พร้อมคัดกรองตามมาตรฐานด้านสาธารณสุขของไทย”

นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาเยือนไทยได้รับการฉีดวัคซีนแล้วทั้งสิ้น เป็นการนำเงินตราเข้าสู่พื้นที่ให้ภาคธุรกิจ อุตสาหกรรมท่องเที่ยว สามารถเดินหน้าต่อไปได้ หากไม่ทำเช่นนี้ จะกระทบปากท้อง การใช้ชีวิต การจ้างงาน ซึ่งเป็นเรื่องน่ากลัวและสร้างความเสียหายรุนแรง