สัญญาณเตือน ระบบ 'สาธารณสุข'

สัญญาณเตือน ระบบ 'สาธารณสุข'

"ผู้ป่วยโควิด-19" ล้น หลายโรงพยาบาลงดรับคนไข้ทุกกรณี ผู้เสียชีวิตพุ่งเพราะรักษาไม่ทัน ขณะที่การ "ฉีดวัคซีน" ช้ากว่าเป้า สะท้อนว่าประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่ "ภาวะวิกฤติระบบสาธารณสุข"

โรงพยาบาลหลายแห่งออกมาประกาศงดรับผู้ป่วยเพราะเกินขีดความสามารถที่จะรับได้ โดย "โรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า กรมการแพทย์ทหารเรือ" ประกาศงดรับคนไข้ทุกกรณีตั้งแต่วันที่ 2 ก.ค.2564 เป็นเวลา 24 ชั่วโมง

เพราะบุคลากรสัมผัสผู้ป่วยเสี่ยงสูงและมีผู้ป่วย "โควิด-19"อยู่ห้องตรวจโรคฉุกเฉินจำนวนมาก จึงปิดรับผู้ป่วยห้องตรวจโรคฉุกเฉินและห้องตรวจโรคผู้ป่วยนอกเวลา ขณะที่ "โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์" ประกาศในวันที่ 4 ก.ค.2564 ปิดแผนกฉุกเฉินเพราะมีผู้ป่วยจำนวนมากเกินที่จะรับรองรับ

สิ่งเหล่านี้เป็นสัญญาณเตือน "ระบบสาธารณสุข" ที่อาจจะรับมือกับจำนวนผู้ป่วยโรคโควิด-19 ที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่องไม่ได้ โดยข้อมูลจำนวนผู้ติดเชื้อระลอก 3 นับตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.2564 ถึงวันที่ 4 ก.ค.2564 รวม 193,477 ราย

ถึงแม้ว่าจำนวน "ผู้ติดเชื้อรายใหม่" จะขึ้นลงในแต่ละวัน แต่ถ้าดูกราฟจำนวนผู้ติดเชื้อในรอบ 2 สัปดาห์ จะเห็นเป็นแนวโน้มจำนวนผู้ติดเชื้ออยู่ในช่วงขาขึ้น จึงทำให้ช่วงที่ผ่านมามีความกังวลเกี่ยวกับจำนวนเตียงรับผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้น

ในขณะที่การ "ฉีดวัคซีน" ป้องกันโรคโควิด-19 ที่เป็นแนวทางที่ดีที่สุดในการป้องกันการระบาด ในขณะนี้มีความคืบหน้าแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยจำนวนการฉีดวัคซีนวันที่ 3 ก.ค.2564 ทั้งเข็มที่ 1 และเข็มที่ 2 อยู่ที่ 98,605 โดส ถือว่าน้อยเมื่อเทียบกับเป้าหมายที่ต้องฉีดในระดับวันละ 5 แสนโดส

รวมแล้วนับตั้งแต่เริ่มฉีดวัคซีนเมื่อวันที่ 28 ก.พ.2564 มีการฉีดวัคซีนไปแล้ว 10.6 ล้านโดส แบ่งเป็นเข็มที่ 1 จำนวน 7.72 ล้านราย และเข็มที่ 2 จำนวน 2.94 ล้านราย ถือว่ายังห่างจากเป้าหมาย 50 ล้านราย

การระบาดของโรคโควิด-19 ที่รุนแรงหลายประเทศในปีที่ผ่านมาทำให้เห็นภาพระบบสาธารณสุขล่ม โดยสถานพยาบาลปฏิเสธการรับผู้ป่วยรายใหม่เข้ารับการรักษา และผู้ป่วยที่รอเตียงเพื่อเข้ารับการรักษาต้องพักกักตัวอยู่ที่บ้านจนเสียชีวิต

รวมทั้งมีภาพผู้เสียชีวิตจำนวนมากรวมกันอยู่ในสุสานเพราะจัดการฝังร่างไม่ทัน และมีการฆ่าตัวตายของผู้รับมือกับสิ่งที่เจอไม่ได้ ซึ่งเป็นภาพในต่างประเทศช่วงที่ประเทศไทยจัดการการระบาดได้ดี แต่การระบาดระลอก 3 เป็นต้นมาทำให้ภาพเหล่านี้เริ่มปรากฏในประเทศไทยแล้ว  

หากจำนวนผู้ติดเชื้อยังคงไต่ระดับแบบนี้ต่อเนื่องไปอีก แน่นอนว่าระบบสาธารณสุขอาจจะรับมือไม่ไหวและจะเห็นผู้เสียชีวิตเพิ่มมากขึ้น ดังนั้นจึงปฏิเสธไม่ได้ว่าประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่ภาวะวิกฤติระบบสาธารณสุข

ซึ่งการทำงานของรัฐบาล ส่วนราชการ และภาคเอกชนจะต้องยกระดับความเข้มข้นในการป้องกันการระบาด การเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ รวมถึงการใช้ชีวิตแบบปกติใหม่ โดยเฉพาะรัฐบาลที่ต้องวางนโยบายรับมือบนโจทย์เพื่อการควบคุมโรคอย่างแท้จริง