ก่อนฉีด’วัคซีน’ ผู้ป่วยตับ ไต กระดูกพรุน ควรเตรียมตัวอย่างไร

ก่อนฉีด’วัคซีน’ ผู้ป่วยตับ ไต กระดูกพรุน ควรเตรียมตัวอย่างไร

ลองเช็คดูว่า ถ้าป่วยเป็น"โรคตับ ไต กระดูกพรุน ปลูกถ่ายอวัยวะ" หากจะเตรียมตัวก่อนฉีด“วัคซีน”ป้องกันไวรัสโควิด ควรรู้เรื่องอะไรบ้าง เพราะบางกลุ่มโรคมียาบางอย่างควรงด

การฉีดวัคซีนวัคซีน เป็นอีกเรื่องที่คนทั้งประเทศกังวล เพราะหลายคนมีพ่อแม่ญาติพี่น้องที่ป่วย ไม่ว่าจะโรคตับ ไต กระดูกพรุน และถ่ายถ่ายอวัยวะ ซึ่งแต่ละคนมีอาการมากน้อยต่างกัน แค่โรคไตก็มีทั้งแบบฟอกไต หรือต้องดูแลแบบประคับประคอง

ถ้าอย่างนั้นลองเช็คคร่าวๆ ว่า ยาชนิดไหน ต้องงดก่อนฉีดวัคซีน...

 

สิ่งที่ผู้ป่วย‘โรคตับ’ควรรู้

เนื่องจากผู้ป่วยโรคตับแข็งที่มีภาวะตับวายร่วมด้วย ส่วนใหญ่มักเป็นผู้สูงอายุ เมื่อติดเชื้อโควิด-19 จะมีภาวะแทรกซ้อนรุนแรงขึ้น

ผู้ป่วยโรคไขมันพอกตับหลายคนมักมีโรคเบาหวานร่วมด้วย รวมถึงผู้ป่วยโรคตับจากการแพ้ภูมิตนเอง และผู้ที่ได้รับการเปลี่ยนตับ ซึ่งจำเป็นต้องได้รับยากดภูมิต้านทาน ทำให้เพิ่มความเสี่ยงต่อโรคโควิด-19 ที่รุนแรง และหากติดเชื้อไวรัสโควิด-19 จะมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนได้มาก ดังนั้น

1. โรคตับแข็งระยะท้ายและผู้ได้รับยากดภูมิต้านทาน ระบบภูมิต้านทานของร่างกาย จะมีความบกพร่องทำให้ติดเชื้อง่าย แม้ว่าโอกาสตอบสนองหรือผลของวัคซีนจะลดลง แต่ก็ควรเข้ารับวัคซีนโควิด-19 เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้กับตนเอง

2. ผู้ป่วยโรคตับแข็งที่มีภาวะตับวายร่วมด้วย ผู้ป่วยโรคตับที่อายุมากผู้ป่วยโรคไขมันพอกตับที่เป็นเบาหวาน และผู้ป่วยโรคแพ้ภูมิของตับที่ต้องได้รับยากดภูมิต้านทาน สามารถเข้ารับวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ได้ทุกชนิด โดยอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนตามปกติของวัคซีนแต่ละชนิดได้

3. ผู้ป่วยโรคตับเรื้อรังระยะที่ยังไม่ถึงระยะตับแข็ง สามารถฉีดวัคซีนโควิด-19 ได้ทุกชนิด

ข้อมูล ณ วันที่ 20 มิถุนายน 2564

ที่มา : รศ. ดร. นพ.ปิยะวัฒน์ โกมลมิศร์

........................

การเตรียมตัวสำหรับผู้ป่วยโรคไต

ผู้ป่วยโรคไตมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคโควิด-19 ได้ง่าย เนื่องจากไตทำงานผิดปกติ โดยเมื่อติดเชื้อมักจะมีอาการรุนแรงและมีอัตราการเสียชีวิตสูงขึ้น

สิ่งที่ควรระวังคือ ผู้ป่วยโรคไตวายที่จำเป็นต้องเดินทางไปฟอกไตที่โรงพยาบาลหลายครั้งต่อสัปดาห์ อาจทำให้เสี่ยงต่อการรับเชื้อโรคโควิด-19 ได้มากขึ้น ควรเคร่งครัดตามมาตรการการป้องกันตนเอง เช่น สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยครั้ง และเว้นระยะห่างระหว่างบุคคล

ดังนั้นผู้ป่วยโรคไตที่ควรได้รับวัคซีนโควิด

1. ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง

2. ผู้ป่วยที่ได้รับการบำบัดทดแทนไต โดยรักษาด้วยการฟอกไตด้วยเครื่องไตเทียม และล้างไตทางช่องท้อง

3. ผู้ป่วยที่ได้รับการปลูกถ่ายไต

โดยผู้ป่วยโรคไตที่อยู่ในภาวะเจ็บป่วยเฉียบพลัน หรืออยู่ในระหว่างการได้รับยากดภูมิคุ้มกันขนาดสูง สามารถเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ได้ แต่ควรปรึกษาแพทย์ผู้ดูแลก่อนฉีดวัคซีน

ข้อมูล ณ วันที่ 23 มิถุนายน 2564

ที่มา : รศ. ดร. นพ.ณัฐชัย ศรีสวัสดิ์

.............................

ก่อนฉีดวัคซีน ผู้ป่วยโรคกระดูกพรุน ต้องเช็คอะไรบ้าง 

1. ยาชนิดรับประทาน สามารถใช้ต่อเนื่องตามที่แพทย์สั่งได้ทุกชนิด

2. ยาชนิดฉีดใต้ผิวหนังทุก 6 เดือน

– ควรเว้นระยะห่างก่อนหรือหลังฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 นาน 4-7 วัน

– หากจำเป็นต้องฉีดวันเดียวกัน ให้ฉีดในตำแหน่งที่แตกต่างกัน เช่น ฉีดวัคซีนโควิด-19 ที่ต้นแขนแต่ฉีดยารักษาโรคกระดูกพรุนที่หน้าท้อง

3. ยาชนิดฉีดเข้าหลอดเลือด ทุก 1 ปี ควรเว้นระยะห่างอย่างน้อย 7 วัน เพื่อสังเกตอาการไม่พึงประสงค์หลังฉีด ทั้งจากวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 และจากยาฉีด

4. ยาชนิดฉีดทุกวัน แนะนำให้ฉีดอย่างต่อเนื่องตามปกติ

นอกจากนี้ ผู้ป่วยโรคกระดูกพรุนสามารถรับประทานแคลเซียมและวิตามินดีตามที่แพทย์สั่งได้อย่างต่อเนื่อง

ข้อมูล ณ วันที่ 23 มิถุนายน 2564

ที่มา : รศ. พญ.ลลิตา วัฒนะจรรยา

................................

วัคซีนโควิดกับผู้ปลูกถ่ายอวัยวะ

ผู้ป่วยกลุ่มนี้จะได้รับยากดภูมิคุ้มกันอย่างต่อเนื่อง ทำให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกันต่ำกว่าคนทั่วไป จึงมีโอกาสติดเชื้อโรคโควิด-19 และมีอาการป่วยรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้

ดังนั้นผู้ปลูกถ่ายอวัยวะที่มีอาการคงที่ และได้รับยากดภูมิคุ้มกันอย่างต่อเนื่อง ควรรีบฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19เร็วที่สุด โดยไม่จำเป็นต้องหยุดยาก่อนฉีดและหลังฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19

ผู้รอการปลูกถ่ายอวัยวะ ควรเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ก่อนเข้ารับการปลูกถ่ายอวัยวะอย่างน้อย 1 เดือน โดยปกติผู้ที่รอการปลูกถ่ายอวัยวะมักจะมีโรคประจำตัวอยู่ เช่น โรคไตเรื้อรังระยะสุดท้าย โรคตับแข็ง โรคหัวใจล้มเหลว ซึ่งจะเพิ่มความรุนแรงเมื่อติดเชื้อโรคโควิด-19 ได้

คำแนะนำจากแพทย์

ผู้ป่วยที่เพิ่งเข้ารับการผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะ หรือได้รับการรักษาภาวะปฏิเสธอวัยวะ และได้รับยากดภูมิคุ้มกันในขนาดสูง ให้เว้นการฉีดวัคซีนอย่างน้อย 1 เดือนและควรปรึกษาแพทย์ก่อนเข้ารับการฉีดวัคซีน

ครอบครัวและบุคคลใกล้ตัวของผู้ป่วยที่ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะควรได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 เพื่อลดโอกาสการติดเชื้อและแพร่เชื้อสู่ผู้ป่วย 

ข้อมูล ณ วันที่ 21 มิถุนายน 2564

ที่มา : รศ. นพ.ณัฐวุฒิ โตวนำชัย

...................

ที่มา : โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย