'โมดี' งานเข้า! 'ศาลสูงอินเดีย' สั่งรัฐบาล 'จ่ายชดเชย' ครอบครัวเหยื่อโควิด

'โมดี' งานเข้า! 'ศาลสูงอินเดีย' สั่งรัฐบาล 'จ่ายชดเชย' ครอบครัวเหยื่อโควิด

ศาลสูงสุดอินเดียสั่งรัฐบาลของ “นเรนทรา โมดี” จ่ายเงินชดเชยให้ครอบครัวผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ทั่วประเทศที่ส่อทะลุ 4 แสนรายในสัปดาห์นี้ ให้เวลาร่างกรอบการจ่ายเงินไม่เกิน 6 สัปดาห์ พร้อมระบุ “เหตุผลสำคัญ” ที่อาจทำให้ผู้นำประเทศหน้าชา

วันนี้ (30 มิ.ย.) ศาลสูงสุดอินเดียมีคำสั่งให้สำนักจัดการภัยพิบัติแห่งชาติ ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี เป็นประธาน มีหน้าที่ตามกฎหมายที่ต้องจ่ายเงินชดเชยให้กับทายาทผู้เสียชีวิตจากการระบาดของโควิด-19 หลังมีผู้ยื่นคำร้องต่อศาลให้สั่งรัฐบาลจ่ายเงินสินไหมให้ครอบครัวผู้เสียชีวิตจากโควิด รายละ 4 แสนรูปี (ราว 1.72 แสนบาท) นอกจากนี้ ศาลยังสั่งให้หน่วยงานดังกล่าว ร่างกรอบการจ่ายเงินชดเชยภายใน 6 สัปดาห์

คณะผู้พิพากษา 3 คนซึ่งมีผู้พิพากษาอโศก ภูชาน เป็นหัวหน้าคณะ ปฏิเสธจุดยืนของรัฐบาลอินเดียที่อ้างว่าการจ่ายเงินชดเชยเป็น “ทางเลือกหนึ่ง” ภายใต้กฎหมายการจัดการภัยพิบัติ และหากรัฐต้องจ่ายเงินชดเชย 4 แสนรูปีให้แต่ละครอบครัวที่เป็นเหยื่อโควิด ก็อาจทำให้เหลืองบไม่เพียงพอในการต่อสู้กับโควิด-19 ในปัจจุบัน หรือการรับมือภัยพิบัติอื่น ๆ

คณะผู้พิพากษาระบุด้วยว่า สาเหตุที่รัฐบาลต้องจ่ายชดเชย เป็นเพราะที่ผ่านมา สำนักงานจัดการภัยพิบัติแห่งชาติ “ล้มเหลว” ที่จะปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายในการควบคุมโรคระบาด

คำสั่งของศาลสูงสุดอินเดียยิ่งกระตุ้นเสียงวิจารณ์ต่อวิธีรับมือการระบาดโควิด-19 ของนายกฯโมดี ขณะที่ยอดผู้เสียชีวิตจากไวรัสนี้ทั่วประเทศจ่อทะลุ 4 แสนรายในสัปดาห์นี้ โดยอินเดียเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 หนักที่สุดในโลก

ขณะเดียวกัน การจ่ายเงินชดเชยให้ครอบครัวเหยื่อโควิดยังเสี่ยงเพิ่มแรงกดดันต่อการคลังสาธารณะที่เลวร้ายอยู่แล้วของอินเดีย เนื่องจากการระบาดที่สูงขึ้นต่อเนื่องบีบให้หลายรัฐทั่วประเทศต้องล็อกดาวน์และทำให้คนต้องการใช้จ่ายน้อยลง

ทั้งนี้ ศาลสูงสุดอินเดีย ระบุว่า สำนักงานจัดการภัยพิบัติแห่งชาติจะเป็นฝ่ายตัดสินใจเรื่องจำนวนเงินชดเชย หลังพิจารณาภารกิจต่าง ๆ ของรัฐบาลตามลำดับความสำคัญแล้ว เนื่องจากสถานะการคลังและเศรษฐกิจของอินเดียได้รับผลกระทบหนักจากโควิด