ธปท.เผยยอดคนไทยลงทุนต่างประเทศพุ่งนิวไฮ อานิสงส์ปรับเกณฑ์ค่าเงิน

ธปท.เผยยอดคนไทยลงทุนต่างประเทศพุ่งนิวไฮ อานิสงส์ปรับเกณฑ์ค่าเงิน

ธปท.เผยคนไทยออกไปลงทุนต่างประเทศนิวไฮ 1.78 หมื่นล้านดอลลาร์ จากเดิมเฉลี่ย 3 พันล้านดอลลาร์ต่อปี หลังปรับเกณฑ์ดูแลค่าเงิน เล็งออกมาตรการสร้างสมดุลตลาดอัตราแลกเปลี่ยนเพิ่มไตรมาส 3 ปีนี้

นางสาวชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า คนไทยมีแนวโน้มออกไปลงทุนต่างประเทศมากขึ้น ภายหลังจากที่ ธปท.เริ่มดำเนินมาตรการปรับปรุงระบบนิเวศอัตราแลกเปลี่ยน (FX Ecosystem) ซึ่งช่วยให้เงินทุนสามารถเคลื่อนย้ายได้อย่างเสรีมากขึ้น โดยพบว่าจากไตรมาสสุดท้ายของปี 2563 ถึงเดือน พ.ค.2564 มูลค่าการออกไปลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศพุ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์กว่า 1.78 หมื่นล้านดอลลาร์ เมื่อเทียบกับในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาที่มีค่าเฉลี่ยการออกไปลงทุนต่อปีเพียง 3 พันล้านดอลลาร์

นอกจากนี้ พบว่าจำนวนผู้ลงทุนรายย่อยที่ออกไปลงทุนเองเพิ่มขึ้น 2 เท่าตัว จาก 15,660 ราย มาอยู่ที่ 34,897 ราย แบ่งเป็นผู้ลงทุนที่ลงทุนผ่านบริษัทหลักทรัพย์ (โบรกเกอร์) เพิ่มขึ้น 1.4 เท่าตัว จาก 14,894 ราย มาอยู่ที่ 20,952 ราย ผู้ลงทุนที่ลงทุนผ่านแพลตฟอร์มเพิ่มขึ้น 8 เท่าตัว จาก 1,444 ราย มาอยู่ที่ 11,405 ราย และผู้ลงทุนที่เป็นบุคคลธรรมดา หรือนิติบุคคล ที่มีสินทรัพย์ทางการเงิน ได้แก่ เงินฝาก หรือเงินลงทุนในหลักทรัพย์และอนุพันธ์ ตั้งแต่ 50 ล้านบาทขึ้นไป เพิ่มขึ้น 3 เท่าตัว จาก 930 ราย มาอยู่ที่ 2,540 ราย

ในส่วนของกระแสเงินทุนที่ไหลออกในปัจจุบัน ธปท.ได้มีการติดตามมอนิเตอร์อย่างต่อเนื่อง โดยพบว่าส่วนใหญ่เป็นการไหลออกจากตลาดหุ้น ส่วนตลาดตราสารหนี้ยังเป็นการไหลเข้า ในการนี้ ธปท.ยังเดินหน้าปรับสมดุลอัตราแลกเปลี่ยนอย่างต่อเนื่อง

ส่วนการปรับเกณฑ์บัญชีเงินฝากเงินตราต่างประเทศ (FCD) พบว่า ปริมาณธุรกิจกรรมเฉลี่ยต่อเดือนเพิ่มขึ้น 40% จาก 1.01 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ มาอยู่ที่ 1.4 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ (เดือน ธ.ค.2563 ถึง เม.ย.2564) ขณะที่จำนวนผู้ใช้บริการรายใหม่กว่า 60% เป็นบุคคลธรรมดาที่เปิดบัญชีเพื่อซื้อขายทองคำในสกุลเงินดอลลาร์

"หลังจากมาตรการ FX Ecosystem เริ่มดำเนินการไปแล้วประมาณ 5 เดือน เรามองว่ามีผลสำเร็จพอสมควร อย่างน้อยช่วยให้เราก้าวไปสู่ผลลัพธ์ที่อยากจะเห็นในอนาคตแล้ว และบางมาตรการ เช่น การออกไปลงทุนของคนไทย ถือว่าสูงกว่าที่ ธปท.คาดหวังเอาไว้ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากจังหวะเวลาที่สินทรัพย์ต่างประเทศให้ผลตอบแทนที่ดีด้วย"

ทั้งนี้ ธปท.มีแผนปรับปรุงหลักเกณฑ์การแลกเปลี่ยนเงิน (FX Regulatory Framework) เพื่อสร้างความสมดุลต่อระบบนิเวศค่าเงิน (FX Ecosystem) ของไทย โดยจะเพิ่มแนวทางดำเนินการ 3 ข้อ ได้แก่ 1. การลดข้อจำกัดการใช้เงินตราต่างประเทศ 2. การป้องกันความเสี่ยงของผู้ประกอบการ และ 3. การยกเว้นการแสดงเอกสารสำหรับธุรกรรมที่ทำเป็นปกติ ทั้งนี้ ธปท.ได้หารือกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องและอยู่ระหว่างการปรับแก้กฎหมายที่เกี่ยวข้องร่วมกับกระทรวงการคลัง ซึ่งคาดว่าจะเห็นความคืบหน้าภายในไตรมาส 3 ปี 2564 และคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ภายในสิ้นปีนี้

ขณะที่ค่าเงินบาทวานนี้ (29 มิ.ย.) ที่อ่อนค่าทะลุระดับ 32.00 บาท คาดจากปัจจัยต่างประเทศเป็นหลัก สะท้อนจากสกุลเงินอื่นๆ ในภูมิภาคที่อ่อนค่าเช่นเดียวกัน อย่างไรก็ดี ยอมรับว่าส่วนหนึ่งมาจากปัจจัยในประเทศ เพราะประเทศไทยเป็นประเทศที่พึ่งพิงกับการท่องเที่ยวสูง แต่ปัจจุบันยังเปิดประเทศได้ไม่เต็มที่ และจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ยังอยู่ในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง