แบงก์ใหญ่สหรัฐ ประกาศเพิ่มเงินปันผล หลังเฟดไฟเขียวผ่านทดสอบ Stress Test

แบงก์ใหญ่สหรัฐ ประกาศเพิ่มเงินปันผล หลังเฟดไฟเขียวผ่านทดสอบ Stress Test

ธนาคารรายใหญ่ของสหรัฐ รวมถึง มอร์แกน สแตนลีย์ เจพีมอร์แกน แบงก์ ออฟ อเมริกา โกลด์แมน แซคส์ และเวลส์ ฟาร์โก พากันปรับเพิ่มจ่ายเงินปันผล หลังสามารถผ่านการทดสอบภาวะวิกฤติ (Stress Test) ซึ่งดำเนินการโดยธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)

มอร์แกน สแตนลีย์ ได้สร้างความประหลาดใจให้กับนักลงทุนด้วยการประกาศว่าจะปรับเพิ่มการจ่ายเงินปันผลเป็น 2 เท่า สู่ระดับ 70 เซนต์ต่อหุ้นในไตรมาส 3 ปีนี้ ซึ่งสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ 50 เซนต์ นอกจากนี้ มอร์แกน สแตนลีย์ยังประกาศว่าจะเพิ่มการซื้อคืนหุ้นด้วย

ขณะที่แบงก์ ออฟ อเมริกา ประกาศว่าจะเพิ่มการจ่ายเงินปันผล 17% สู่ระดับ 21 เซนต์ต่อหุ้นในไตรมาส 3 ปีนี้เช่นกัน ทางด้านเจพีมอร์แกน เชส แอนด์ โค เตรียมปรับเพิ่มการจ่ายเงินปันผลในไตรมาส 3 เป็น 1 ดอลลาร์ต่อหุ้น จากระดับ 90 เซนต์

ส่วนธนาคารเวลส์ ฟาร์โกประกาศแผนการซื้อคืนหุ้นมูลค่า 1.8 หมื่นล้านดอลลาร์เป็นเวลา 4 ไตรมาส โดยจะเริ่มตั้งแต่เดือนก.ย.นี้ ขณะที่โกลด์แมน แซคส์ ประกาศแผนเพิ่มการจ่ายเงินปันผลเป็น 2 ดอลลาร์ต่อหุ้น จากเดิม 1.25 ดอลลาร์ต่อหุ้น 

ทางด้านซิตี้กรุ๊ปประกาศว่า ธนาคารมีแผนที่จะเพิ่มการจ่ายเงินปันผลอย่างน้อย 51 เซนต์ต่อหุ้น และมีแผนที่จะซื้อคืนหุ้นในตลาด

เฟดเปิดเผยเมื่อวันที่ 24 มิ.ย.ที่ผ่านมาว่า ธนาคารรายใหญ่ทั้ง 23 แห่งซึ่งรวมถึง แบงก์ ออฟ อเมริกา, เจพีมอร์แกน เชส และซิตี้กรุ๊ป ยังคงมีฐานเงินทุนขั้นต่ำที่ตรงตามข้อกำหนดของเฟด ซึ่งจะสามารถรับมือกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจได้ โดยสถานการณ์สมมติที่เฟดกำหนดขึ้นเพื่อทดสอบภาวะวิกฤตในครั้งนี้รวมถึงกรณีที่เศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอยรุนแรง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อภาคอสังหาริมทรัพย์และกลุ่มผู้ถือตราสารหนี้ของบริษัทเอกชน รวมทั้งกรณีที่อัตราว่างงานพุ่งขึ้นแตะระดับ 10.8% และตลาดหุ้นทรุดตัวลงรุนแรงถึง 55%

นอกจากนี้ ข้อกำหนดยังระบุว่า หากภาคธนาคารประสบภาวะขาดทุนเป็นวงเงินรวม 4.74 แสนล้านดอลลาร์ ธนาคารจะต้องมีเงินทุนกันชนเพื่อรองรับการขาดทุน (loss-cushioning capital) มากกว่าเงินทุนขั้นต่ำที่กำหนดไว้กว่า 2 เท่า

เฟดระบุว่า การที่ธนาคารรายใหญ่ทั้ง 23 แห่งสามารถผ่านการทดสอบ Stress Test จะทำให้ธนาคารเหล่านี้สามารถกลับมาจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นได้ในระดับปกติ และกลับมาซื้อคืนหุ้นได้อีกครั้งหลังวันที่ 30 มิ.ย.นี้เป็นต้นไป เนื่องจากธนาคารมีเงินทุนที่เพียงพอจะรับมือหากเกิดกรณีที่เศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอยรุนแรง

การทดสอบ Stress Test ของเฟดครอบคลุมถึงการประเมินว่า มีความปลอดภัยหรือไม่ที่ธนาคารต่างๆ จะดำเนินการตามแผนการใช้จ่ายเงินทุน ซึ่งรวมถึงการจ่ายเงินปันผล และการใช้จ่ายอื่นๆ นอกเหนือจากการตั้งสำรองหนี้เสีย โดยการทดสอบดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อหลีกเลี่ยงการใช้เงินภาษีของประชาชนไปอุ้มธนาคารต่างๆ เหมือนในช่วงที่เกิดวิกฤตการเงินปี 2550-2552